ข่าวทั่วไป

หอดูดาวทั่วประเทศคึกคักชมดาวเสาร์ใกล้โลก

28 สิงหาคม 2566

หอดูดาวทั่วประเทศคึกคัก ชมดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี

เมื่อคืน (27 .. 66)   หลายพื้นที่จุดตั้งหอดูดาวทั่วประเทศคึกคัก ผู้คนออกไปร่วมกิจกรรม ชมดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี  ฟ้าเป็นใจมองเห็นดาวเสาร์ได้ชัดเจน

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) หรือ NARIT  รายงานว่า   วันที่ 27 สิงหาคม 2566 เกิดปรากฏการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปีเป็นปรากฏการณ์ที่ดาวเสาร์โคจรมาอยู่ในตำแหน่งตรงข้ามกับดวงอาทิตย์ (Saturn Opposition) หมายถึง ดวงอาทิตย์ โลก และดาวเสาร์ เรียงตัวอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีโลกอยู่ตรงกลาง ส่งผลให้ดาวเสาร์มีระยะใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ห่างประมาณ 1,310 ล้านกิโลเมตร ในวันดังกล่าว เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวเสาร์จะปรากฏสว่างทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ สังเกตได้ด้วยตาเปล่ายาวนานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า

ภาพจากหอดูดาวสงขลา NARIT

คืนดังกล่าวหลายพื้นที่ทั่วไทยสามารถสังเกตการณ์ได้ แม้จะอยู่ในช่วงมรสุม มีเมฆมาก แต่ก็มีจังหวะที่ดาวเสาร์โผล่พ้นเมฆออกมาให้ชมกัน สำหรับจุดสังเกตการณ์หลักของ NARIT อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร .แม่ริม .เชียงใหม่ หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา ฉะเชิงเทราและสงขลา มีประชาชนให้ความสนใจร่วมชมวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์เป็นจำนวนมากสามารถสังเกตเห็นช่องว่างแคสสินีระหว่างวงแหวนของดาวเสาร์ และดวงจันทร์บริวาร ได้แก่ ไททัน และเอนเซลาดัส ได้อย่างชัดเจน

ภาพถ่ายจากโทรศัพท์มือถือ samsung galaxy S23 ultra

หลังจากนี้ดาวเสาร์จะยังคงปรากฏบนท้องฟ้าไปจนถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์ หากคืนไหนสภาพอากาศดีจะสามารถสังเกตดาวเสาร์ได้

สำหรับปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ต่อไปที่จะเกิดขึ้นคือ #ซูเปอร์บลูมูน ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี และยังเป็นดวงจันทร์เต็มดวงครั้งที่สองของเดือนซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก เริ่มสังเกตได้ทางทิศตะวันออก ตั้งแต่ช่วงเย็นวันที่ 30 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไป จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 31 สิงหาคม 2566

NARIT เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ซูเปอร์บลูมูนสามารถเข้าร่วมได้ที่จุดสังเกตการณ์หลัก 4 แห่ง ได้แก่ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร เชียงใหม่ หอดูดาวภูมิภาค โคราช ฉะเชิงเทรา และสงขลา รวมถึงโรงเรียนในเครือข่ายกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ทั่วประเทศ ตั้งแต่เวลา 18:00-22:00 . เข้าร่วมฟรี ไม่มีค่าใช้จ่าย หรือรับชม LIVE ปรากฏการณ์ได้ทางเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ https://www.facebook.com/NARITpage

ภาพและข้อมูล จาก www.facebook.com/NARITpage

ผู้เขียน
ทีม iJournalist