18 พื้นที่ดูดาวแห่งใหม่เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในไทย ปี 67
โครงการ AMAZING DARK SKY IN THAILAND Season 3 โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NARIT) ได้ประกาศ 18 พื้นที่ดูดาวแห่งใหม่ พร้อมขึ้นทะเบียนเป็น “เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย” ประจำปี 2567
เขตอนุรักษ์ฟ้ามืด คืออะไร
NARIT ได้ดำเนินโครงการเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2563 เพื่อรณรงค์ให้สังคมตระหนักถึงผลกระทบจากมลภาวะทางแสง อนุรักษ์ความมืดของท้องฟ้า และให้ความสำคัญในการประหยัดพลังงานและปรับพฤติกรรมการใช้แสงไฟ ในปี พ.ศ. 2565-2566 เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย จำนวน 30 แห่ง
กลายเป็นพื้นที่นำร่องปลุกกระแสความสนใจเกี่ยวกับดาราศาสตร์ ที่จะนำมากระตุ้นการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ส่งเสริมประชาสัมพันธ์เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงทางดาราศาสตร์ให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ และเป็นสถานที่ถ่ายภาพสำหรับกลุ่มนักดาราศาสตร์สมัครเล่น จึงผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทยขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในไทย มี 4 ประเภท
1.อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม รักษาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิต และระบบนิเวศ
2.ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด ในพื้นที่ชุมชน หมู่บ้าน เทศบาล ตำบล ที่รักษาและสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ภายใต้ความร่วมมือและสนับสนุนจากประชาชน
3.เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล เช่น รีสอร์ต โรงแรม ฟาร์ม ศูนย์การเรียนรู้ ฯลฯ ที่รักษา และสงวนท้องฟ้าในเวลากลางคืนให้มีความมืดที่เหมาะสม ไม่มีมลภาวะทางแสง มีความปลอดภัย
4.เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbs) เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง มีลักษณะเป็นลานโล่ง มีการใช้แสงสว่างอย่างระมัดระวัง สามารถสังเกตปรากฏการณ์และจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวทางดาราศาสตร์
เกณฑ์การพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด
– ต้องมีพื้นที่โล่งไม่น้อยกว่า 100 ตารางเมตร
– สังเกตการณ์ท้องฟ้าได้โดยรอบไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของพื้นที่
– บริหารจัดการปริมาณแสงสว่างอย่างมีประสิทธิภาพใน 3 ปัจจัย ได้แก่ ทิศทางแสง อุณหภูมิแสงสว่าง การควบคุมเวลาเปิดปิด
– ปราศจากแสงรบกวน ค่าความมืดท้องฟ้ามีค่าไม่น้อยกว่า 19 แมกนิจูด/ตารางฟิลิปดา
– สามารถสังเกตเห็นดาวเหนือได้และสังเกตเห็นดาวฤกษ์ที่สว่างน้อยที่สุด หรือวัตถุท้องฟ้าเด่น ๆ ได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน และต้องมีผู้ให้บริการความรู้พื้นฐานทางดาราศาสตร์
– มีสิ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้มาใช้บริการอย่างครบถ้วน อาทิ เส้นทางคมนาคม ห้องนำ ที่พัก ร้านอาหาร จุดบริการไฟฟ้า ฯลฯ
รายชื่อ เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในไทย ประจำปี 2567 จำนวน 18 แห่ง
อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park)
1. สวนป่าบ้านวัดจันทร์ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ จ.เชียงใหม่
2. อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา-น้ำตกผาเสื่อ จ.แม่ฮ่องสอน
3. อุทยานแห่งชาติตาดโตน จ.ชัยภูมิ
4. อุทยานแห่งชาติไทรทอง จ.ชัยภูมิ
5. อุทยานแห่งชาติภูผายล จ.สกลนคร
6. อุทยานแห่งชาติภูเวียง จ.ขอนแก่น
ชุมชนอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด (Dark Sky Communities)
1. วัดมกุฏคีรีวัน เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ส่วนบุคคล (Dark Sky Properties)
1. ฉ่าเก่อปอ จ.เชียงใหม่
2. พร้าวแคมป์ปิ้งค์ จ.เชียงใหม่
3. ฮ่อมลมจอย จ.เชียงราย
4. ภาวนานิเวศน์ แคมป์ จ.นครสวรรค์
5. ภูคำหอม เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา
6. สวนไพลินชมดารา จ.นครราชสีมา
7. อุ่นฟ้าอิงดาวแคมป์ปิ้ง จ.นครราชสีมา
8. โรงแรมโซเนวา คีรี จ.ตราด
9. บ่อแสน วิลล่า แอนด์ สปา จ.พังงา
10. อธิ การ์เด้นท์ แคมป์ปิ้ง จ.พังงา
เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในพื้นที่ชานเมือง (Dark Sky Suburbes)
1. สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ชลบุรี จ.ชลบุรี
พื้นที่ผ่านการคัดเลือกจำนวน 18 แห่ง ได้ขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2567 จะได้สื่อการเรียนรู้ดาราศาสตร์สนับสนุนการจัดกิจกรรมดาราศาสตร์ เพื่อใช้ประชาสัมพันธ์แก่ประชาชน และนักท่องเที่ยวที่สนใจต่อไป
ในอนาคต สดร. ตั้งเป้าผลักดันให้เกิดเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สำหรับหน่วยงาน โรงแรม รีสอร์ท ชุมชน ศูนย์วิทยาศาสตร์ หรือพิพิธภัณฑ์ ทั่วประเทศที่สนใจ
ข้อมูลเพิ่มเติมและสมัครเพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด http://darksky.or.th/
#AmazingDarkSkyinThailandSeason3 #NARIT #DarkSky #เขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด #ททท #การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้