เทคโนโลยี

“ออสซีโอแล็บส์”พื้นที่วิจัยเพื่อประดิษฐ์สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน

12 พฤศจิกายน 2567

เทคโนโลยีกำลังก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง เริ่มมีการใช้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์พื้นฐาน ผนวกกับศาสตร์ด้านวิศวกรรม เพื่อประดิษฐ์สิ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน

ออสซีโอแล็บส์  พื้นที่สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว  “ออสซีโอแล็บส์” จัดตั้งขึ้น ณ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล  เป็นบริษัท Spin-off ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ออสซีโอแล็บส์

ผศ. ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)   มองเห็นโอกาสในการนำศาสตร์ความรู้ด้านวิศวกรรมมาพัฒนาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเทคโนโลยีหลักที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมา คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีรูพรุนพิเศษแบบ Triply Periodic Minimal Surface (TPMS) ในการออกแบบอุปกรณ์การแพทย์หรือวัสดุปลูกถ่ายประเภทโลหะที่น้ำหนักเบา ความแข็งแรงสูง และมีลักษณะภายในที่ช่วยเร่งการเจริญเติบโตของกระดูก โดยโครงสร้าง TPMS เป็นโครงสร้างรูพรุนที่ขึ้นรูปด้วยสมการคณิตศาสตร์รูปแบบต่างๆ

องค์ความรู้วิศวกรรมผนวกเข้ากับวิทยาศาสตร์

ผลงานวิจัยวัสดุทดแทนกระดูกประเภทมีรูพรุนเฉพาะที่ใช้องค์ความรู้ทางด้านเครื่องกลและเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติในการออกแบบและขึ้นรูป มีแนวโน้มความต้องการและขยายตัวมากขึ้น สามารถนำไปสู่การทำธุรกิจได้ในอนาคต จึงได้จับมือกับ ดร.วิกรม อาฮูยา อดีตผู้ร่วมงานและผู้คร่ำหวอดในธุรกิจสตาร์ทอัพ จัดตั้งออสซีโอแล็บส์ขึ้นในปี พ.ศ.2565 เพื่อผลักดันงานวิจัยไทยที่มีศักยภาพระดับสากลต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์

นอกจากเป็นบริษัทเพื่อดำเนินการด้านธุรกิจอย่างเต็มตัวแล้ว “ออสซีโอแล็บส์”

ยังเป็นแพลตฟอร์มเพื่อการเติบโตของนักศึกษาด้านวัสดุศาสตร์  ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล

เป็นพื้นที่ให้นักศึกษาได้ลงมือทำในฐานะนักปฏิบัติ ผู้ช่วยหรือนักวิจัยของบริษัท นอกเหนือจากประสบการณ์ในห้องเรียน

ออสซีโอแล็บส์ยังส่งเสริมและสนับสนุนในการหาประสบการณ์และโอกาสจากแหล่งอื่นๆ เปรียบเสมือนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกให้กับนักศึกษา หรืออาจเรียกได้ว่า “ออสซีโอแล็บส์ คือ พื้นที่สร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่”

จุดเด่นของออสซีโอแล็บส์

  1. องค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก

2. ทรัพยากร (resources) ทั้งบุคลากร เครื่องมือ อุปกรณ์ และทักษะที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย

3. แม้ มจธ. ไม่มีคณะแพทย์แต่ความโดดเด่นทางด้านวิศวกรรมทำให้ได้รับความไว้วางใจจากผู้ร่วมงานด้วย และมีหน่วยงานทั้งในประเทศและต่างประเทศติดต่อเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

อุปกรณ์การแพทย์ไม่ใช่แค่ผลิตได้ แต่ต้องดีกว่าของนำเข้า

ผศ. ดร.พชรพิชญ์  มองว่า  อุตสาหกรรมทางการแพทย์   อุปกรณ์ที่แพทย์ใช้ในห้องผ่าตัดเป็นศาสตร์ของเครื่องกล โดยอุปกรณ์ทางการแพทย์ราคาสูงที่ใช้กันอยู่ในประเทศส่วนใหญ่นำเข้าจากต่างประเทศ

คำถาม คือ ถ้าเราสามารถผลิตได้เองในประเทศจะสามารถประหยัดเงินได้มากกว่าไหม และเราสามารถคิดต่อไปอีกว่า อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในปัจจุบันสามารถพัฒนาต่อได้หรือไม่ หรือไม่ใช่แค่เราผลิตเองให้หน้าตารูปแบบเหมือนบริษัทอื่น แต่สามารถทำการต่อยอดให้มีรูปแบบของเราเอง ได้ใช้เองและมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าของที่นำเข้า ก็มองว่าเราเองมีองค์ความรู้เพียงพอที่จะสามารถทำตรงนี้ได้

“การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เราก็ต้องไปคุยกับคุณหมอ เข้าห้องผ่าตัดให้เขาเห็นว่า  สิ่งที่เขากำลังทำมันเกิดประโยชน์อย่างไร และการทำเรื่องหนึ่งให้สำเร็จเราไม่ได้มีเพียงศาสตร์ด้านวิศวกรรมเท่านั้น แต่ต้องใช้ความรู้หลายแขนงร่วมกัน ถ้าทำงานไม่เรียบร้อยหมอและคนไข้ คือ คนที่จะได้รับความเดือดร้อนส่งผลกระทบกับชีวิตคนจริงๆ

บางเรื่องสอนในห้องเรียนไม่ได้

  นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลที่ได้เข้ามาทำในออสซีโอแล็บส์ จะถูกสอนให้มีความรับผิดชอบและให้เห็นว่า สิ่งที่ตัวเองทำนั้นมีผลกระทบต่อผู้ใช้งานอย่างไร ถ้าเราทำไม่ดีคนที่รับผลกระทบไปจะเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้สอนกันในห้องเรียนไม่ได้

จากที่เคยตั้งคำถามว่า  เรียนไปแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์   ก็ไม่มีใครถามอีกเลย เพราะทุกคนได้ลงมือทำ ได้เห็นว่า สิ่งที่ทำไปเกิดประโยชน์ทั้งกับคนอื่นและตนเอง สามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปทำเรื่องอื่นๆ เช่น ไปเป็นผู้ประกอบการ หรือ ออกไปทำ Startup ได้ ซึ่งปัจจุบันแล็บแห่งนี้สามารถสร้างผู้ที่มีความสามารถเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ออกไปแล้วกว่า 25 คน

ผลงานจดสิทธิบัตรแล้วในหลายประเทศ

เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นในกลุ่มอุปกรณ์การแพทย์สมัยใหม่ได้จดสิทธิบัตร จำนวน 16 ชิ้นในหลายประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา

ออสซีโอแล็บส์ ได้ทำโครงการวิจัยด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ร่วมกับสถาบันต่างๆ เช่น คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิกส์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า มีเป้าหมายหลักเพื่อยกระดับคุณภาพของการรักษาผ่านนวัตกรรมทางด้านการออกแบบและเทคโนโลยีการขึ้นรูปวัสดุที่ทันสมัย

ปัจจุบันมีผลงานตีพิมพ์ใน Scopus ทั้งหมด 40 เรื่องและมีการอ้างอิงมากกว่า 1,000 ครั้ง

ล่าสุด บริษัท ออสซีโอแล็บส์ จำกัด ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ด้านเศรษฐกิจ ประเภทวิสาหกิจขนาดย่อมและวิสาหกิจรายย่อย จากเวทีรางวัลนวัตกรรมแห่งชาติ ประจำปี 2567 จัดขึ้นโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน)หรือ NIA สังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จากผลงาน“อุปกรณ์ช่วยผ่าตัดเฉพาะบุคคลด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และกระบวนการพิมพ์สามมิติ”

นายคณิต มงคลพันธุ์ นักศึกษาปริญญาโท ชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล หนึ่งในนักวิจัยออสซีโอแล็บส์ กล่าวถึงผลงานอุปกรณ์ช่วยผ่าตัดเฉพาะบุคคลด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์และกระบวนการพิมพ์สามมิติ ว่า เป็นงานวิจัยที่สามารถต่อยอดไปสู่การเป็นธุรกิจ  งานวิจัยในประเทศไทย สามารถยกระดับขึ้นไปถึงระดับสากลได้ แม้จะติดปัญหาหลายอย่าง เช่น เรื่องเงินทุน ทำให้บางงานไม่สามารถยกระดับขึ้นไปได้ แต่ความสามารถของออสซีโอแล็บส์  เราสามารถขอทุนมาสนับสนุนให้งานวิจัยสามารถพัฒนาให้ออกมาจับต้องเป็นรูปธรรมได้

เพื่อนำความรู้ด้านวิศวกรรมร่วมกับศาสตร์อื่นๆ มาพัฒนาเครื่องมือทางการแพทย์ในการรักษาคนไข้ได้มากขึ้น

ผู้เขียน
ทีม iJournalist

More read

Tags

  • งานวิจัยอุปกรณ์การแพทย์
  • นักวิจัย
  • ผศ. ดร.พชรพิชญ์ พรหมอุปถัมภ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องก...
  • มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
  • ออสซีโอแล็บส์
  • อุปกรณ์การแพทย์