เทคโนโลยี

ดาต้าเซ็นเตอร์ ขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ

10 พฤศจิกายน 2565

จะพยายามเขียนเรื่องนี้ให้อ่านแบบเข้าใจง่ายที่สุด 

ลองนึกภาพในพื้นที่  1  อำเภอ  มีกล้องวงจรปิดติดตั้งอยู่กี่ตัว มีเซ็นเซอร์ทำงานอยู่กี่จุด   แล้วทั้งหมดนี้ส่งผ่านข้อมูลกันอย่างไร เอาข้อมูลไปใช้ประโยชน์อย่างไร

แล้วทำไมเวลามีเหตุไม่ดีเกิดขึ้น  พอไปขอดูภาพ คำตอบที่ได้ส่วนใหญ่คือกล้องเสีย

จริงๆแล้ว กล้องอาจจะไม่เสียก็ได้ แต่ปัญหาอยู่ที่การจัดเก็บข้อมูล การนำข้อมูลไปใช้

ประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น  เอเชีย จำกัด(มหาชน)  กล่าวว่า  แพลนเน็ต และซิสโก้ ได้ขยายความร่วมมือภายใต้โปรแกรม CAD ของซิสโก้  โดยแพลนเน็ตฯพัฒนาโซลูชั่นเพื่อสร้างเมืองดิจิทัลที่ใช้ศักยภาพของ 5G    ความร่วมมือดังกล่าว นำไปสู่การพัฒนา  PLANET Edge  Data Center   เป็นโมบายล์ดาต้าเซ็นเตอร์ในรูปแบบตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งจะนำไปติดตั้งในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศภายในปี 2566   

นโยบายของภาครัฐ ทำให้หน่วยงานทั่วประเทศ โดยเฉพาะระดับจังหวัด มีปริมาณบิ๊กดาต้าเพิ่มขึ้นมหาศาล ต้องการระบบประมวลผลข้อมูลเพื่อนำไปใช้ประโยชน์  โดยเฉพาะเมืองอัจฉริยะ  จังหวัดขนาดใหญ่  จะมีข้อมูลจากเซ็นเซอร์ กล้องวงจรปิด   ระบบอ่านทะเบียน ระบบจราจร ระบบตรวจสอบใบหน้า  ฯลฯ    การประมวลผลแบบเรียลไทม์บนหน้าแดชบอร์ด

หากจะให้ข้อมูลดังกล่าวส่งมาประมวลผลที่ส่วนกลาง  หน่วยงานจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมาก  ดังนั้นโมบายล์ดาต้าเซ็นเตอร์ จะเข้ามาช่วยในส่วนนี้  เพราะมีความคล่องตัวในการเคลื่อนย้าย  สามารถปรับเพิ่มได้ตามปริมาณข้อมูล  มีความสามารถเหมือนดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดใหญ่

ซีอีโอของแพลนเน็ตฯ บอกว่า  เวลาจะทำดาต้าเซ็นเตอร์ ก็จะมักไปหาพื้นที่สร้างอาคาร หรือเอาไปอยู่ในตึกสูงประมาณชั้น 20 ขึ้นไป ซึ่งผิดหลัก  จะเห็นว่าที่ผ่านมาต่างประเทศไม่ได้เข้ามาใช้บริการดาต้าเซ็าเตอร์ของไทย เพราะยังไม่ได้มาตรฐาน

ที่ตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ที่ดีต้องอยู่ชั้นล่าง มีทางเข้าออกได้หลายทาง มีปริมาณน้ำและไฟเพียงพอ แต่การจะทำแบบนี้จะต้องลงทุนสูง เริ่มตั้งแต่สร้างอาคาร  โมบายล์ดาต้าเซ็นเตอร์จึงเป็นคำตอบที่ดี กับองค์กรภาครัฐ  สามารถซื้อหรือใช้วิธีเช่า  แบบนี้  อบต. หรือ อบจ. ไม่ต้องไปลงทุนซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์  ทำห้องดาต้าเซ็นเตอร์  รวมถึงเจ้าหน้าที่ไอที

ยกตัวอย่าง พื้นที่สวนสาธารณะในอำเภอ ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมของชุมชน อาจเริ่มจากการติดตั้งโมบายล์ดาต้าเซ็นเตอร์ชุดเล็กๆ ให้ครอบคลุมพื้นที่สวน  ก็จะสอดส่องดูแลความปลอดภัยได้แบบเรียลไทม์  ถ้าไม่พอก็ขยายได้อีก

สมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะ จึงขาดดาด้าเซ็นเตอร์ไม่ได้   โดยเฉพาะข้อมูลด้านสาธารณะสุข การศึกษา   การปกครอง และความปลอดภัย

ทวีวัฒน์ จันทรเสโน กรรมการผู้จัดการซิสโก้ ประเทศไทยและพม่า กล่าวว่า  ไทยกำลังอยู่บนเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล  จึงต้องมีนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้าช่วยขับเคลื่อนต่อเนื่อง ซึ่งโมบายล์ดาต้าเซ็นเตอร์จะเป็นตัวช่วยในด้านนี้ จึงอยากเห็นเทศบาล อำเภอ และจังหวัดที่เป็นเมืองอัจฉริยะได้ใช้ประโยชน์จากดาต้าเซ็นเตอร์

‘PLANET Edge Data Center’ ประกอบด้วยโมบายล์ดาต้าเซ็นเตอร์แบบตู้คอนเทนเนอร์จากซิสโก้ และโซลูชั่นสำหรับสมาร์ทซิตี้จากแพลนเน็ตคอมที่พัฒนาและใช้งานนำร่องแล้วที่อำเภอบ้านฉางระยอง ซึ่งเป็นเมืองต้นแบบในการพัฒนา 5G สู่เมืองอัจฉริยะ   ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนสูงสุด ติดตั้งได้เร็วภายใน 12 ถึง 16 สัปดาห์   ประสิทธิภาพการใช้พลังงานในดาตาเซ็นเตอร์ (PUE) อยู่ที่ 1.3 ถึง1.5   สุดท้ายคือ ขนย้ายได้สะดวก เพิ่มความยืดหยุ่นในการจัดเตรียมโลเคชั่น

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีดาต้าเซ็นเตอร์ดีแค่ไหน หากหน่วยงานในพื้นที่ไม่หลอมรวมข้อมูลให้อยู่บนฐานเดียวกันแล้วนำไปใช้ประโยชน์เพื่อพัฒนาเมือง พัฒนาคน ร่วมกัน  ก็คงไม่ต่างอะไรกับการเล่นดนตรีคนละวง

ผู้เขียน
ปรารถนา ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเทคโนโลยี

Share
Related
More read

Tags

  • ความปลอดภัย
  • ซิสโก้
  • ดาต้าเซ็นเตอร์
  • ประชาชน
  • อบจ
  • อบต
  • เทศบาล
  • เมืองอัจฉริยะ
  • แพลนเน็ต