ชุมชนเกาะลิบง จังหวัดตรัง มีเอกลักษณ์วัฒนธรรม วิถีชีวิต และทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมเศรษฐกิจจากการประมงและการท่องเที่ยว พร้อมทั้งมีบทบาทสำคัญในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมทางทะเล
หลายคนที่ไปเยี่ยมชมเกาะลิบง คงจะคุ้นตากับบรรดาร้านขายกะปิจำนวนไม่น้อย
ร้านค้าเหล่านี้ไม่ได้ผลิตกะปิเอง แต่จะรับมาจากผู้ผลิตบนฝั่ง เพื่อนำกลับมาขายให้นักท่องเที่ยวบนเกาะอีกที ส่วนหนึ่งเพราะวิถีภูมิปัญญาการทำกะปิกุ้งเคยของชาวเกาะลิบงที่สืบทอดจากคนรุ่นก่อนกำลังเลือนหายไป
ชุมชนมองไม่เห็นว่า การทำกะปิจะสร้างรายได้ที่ยั่งยืน เลี้ยงปากท้องของครอบครัวให้มั่นคงได้อย่างไร
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง จึงนำกระบวนการวิจัย เพื่อหาทางออกให้กับปัญหาดังกล่าว โดยมี ดร.อนันตนิจ ชุมศรี เป็นหัวหน้าโครงการ “การสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์กะปิจากกุ้งเคยด้วยการยกระดับมาตรฐานการผลิตของผู้ประกอบการสู่การเป็นผลิตภัณฑ์อัตลักษณ์ของจังหวัดตรัง” ร่วมกับกรอบการวิจัย “การพัฒนาขีดความสามารถของผู้ประกอบการในพื้นที่ (Local Enterprises) บนฐานทรัพยากรพื้นถิ่น เพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานรากและเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่” หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
ใช้งานวิจัยเชื่อมโยงห่วงโซ่คนทำกะปิ
ดร.อนันตนิจ กล่าวว่า การผลิตกะปิกุ้งเคยในจังหวัดตรังมีสัดส่วนน้อยลงมาก ทำให้การหากะปิกุ้งเคยแท้ที่มีคุณภาพ รสชาติดี และปลอดภัย เป็นเรื่องยาก ทีมวิจัยจึงใช้เรื่องการ ‘ยกระดับห่วงโซ่คุณค่า’ มาจัดการงานวิจัย เชื่อมโยงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับห่วงโซ่คนทำกะปิ
เริ่มตั้งแต่ ‘คนจับกุ้งเคย’ หรือกลุ่มชาวประมง
ผู้รวบรวมวัตถุดิบ ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้รับซื้อและเตรียมกุ้งเคย
ผู้แปรรูปกะปิ
ผู้ขาย
จากบริเวณชายฝั่งโดยรอบเกาะลิบงให้มาเจอกัน เพราะทุกคนในห่วงโซ่ล้วนมีส่วนในการยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้ประสบผลสำเร็จ เกิดเป็นห่วงโซ่คุณค่าผลิตภัณฑ์กะปิจากกุ้งเคยที่มีคุณภาพ
สิ่งสำคัญการปรับเปลี่ยน Mindset การทำธุรกิจของ Local Enterprises โดยเฉพาะผู้แปรรูปหรือผู้ประกอบการชุมชน และยกระดับมาตรฐานในกระบวนการผลิตให้ถูกสุขลักษณะ สะอาด ปลอดภัย มีคุณภาพสูง รสชาติดี
ทีมวิจัยได้บูรณาการองค์ความรู้จากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์เข้ากับภูมิปัญญาของชุมชนในกระบวนการผลิต “กะปิน้ำเช้า-กะปิน้ำค่ำ” อัตลักษณ์กะปิเกาะลิบง จังหวัดตรัง เพื่อยกระดับคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับกะปิกุ้งเคย และต่อยอดสู่ตลาดอาหารของคนรักสุขภาพ เป็นผลิตภัณฑ์กะปิเค็มน้อย และกะปิคีโต ไร้น้ำตาล เป็นต้น
แล้วต้องขายได้ในราคาที่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการชุมชนด้วย
งานวิจัยพลิกชีวิตเพิ่มรายได้
‘วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยว และพัฒนาอาชีพเกาะลิบง’ ได้พัฒนาสู่การเป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในเกาะลิบง ที่แปรรูปกะปิกุ้งเคยด้วยตนเอง และจำหน่ายเอง ซึ่งเป็นผลจากการที่ทีมวิจัยลงพื้นที่เข้าไปส่งเสริมและพัฒนาให้ชุมชนเห็นความสำคัญของการสร้างมูลค่าเพิ่มจากทุนภูมิปัญญาท้องถิ่นอีกครั้ง
นางสาวรมิดา สารสิทธิ์ หรือจ๊ะเซาะ ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ กล่าวว่า งานวิจัยนี้ไม่เพียงคืนชีวิตให้กะปิเกาะลิบง แต่ยังคืนชีวิตให้กับสมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ ให้ลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง เกาะลิบงส่วนใหญ่ผู้ชายจะทำประมง ส่วนผู้หญิงมีบ้างที่ขับรถมอเตอร์ไซค์พ่วงข้างรับนักท่องเที่ยว แต่ส่วนใหญ่ผู้หญิงจะไม่มีอาชีพ ไม่มีรายได้
“ ที่ผ่านมาแม้จะทำงานพัฒนาชุมชนหลายอย่าง แต่ยิ่งทำ ยิ่งจน ยิ่งทำ ยิ่งเป็นหนี้ แต่งานวิจัยนี้ให้จุดเปลี่ยนสำคัญ พลิกชีวิตพวกเราด้วยหลักคิดในการจัดการเงินสำหรับส่วนธุรกิจและส่วนครัวเรือน จุดประกายให้ชุมชนเห็นคุณค่าและเห็นช่องทางเพิ่มมูลค่าให้กับ ‘กะปิกุ้งเคย’ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อยู่ในวิถีชีวิตเรามายาวนาน”
จ๊ะเซาะ ยอมรับว่า แม้กะปิน้ำเช้า-กะปิน้ำค่ำ เป็นภูมิปัญญาคู่ชุมชนเกาะลิบง มีเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย แต่ที่ผ่านมาเราละเลยไป แม้จะทำกะปิอยู่บ้าง แต่ก็ทำไปตามความรู้สึก บ้างก็รับจากฝั่งมาขายเพียงกิโลกรัมละ 120 บาท ได้กำไรกระปุกละ 10-20 บาทเท่านั้น แต่วันนี้สามารถขายกะปิกิโลกรัมละ 400 บาท หรือบางออร์เดอร์เราขายได้ในราคาสูงกว่านั้น จากการเชื่อมโยงเครือข่ายกับแพรับซื้อกุ้งเคยในพื้นที่บ้านเกาะเคี่ยม อำเภอกันตัง
ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยว และพัฒนาอาชีพเกาะลิบง สามารถแปรรูปกะปิได้มากถึง 2 ตัน เกิดรายได้หมุนเวียนเดือนละประมาณ 50,000 บาท ทั้งยังต่อยอดการแปรรูปไปยังผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ใช้กะปิเป็นวัตถุดิบเป็นส่วนผสม สมาชิกวิสาหกิจชุมชนฯ ที่มาร่วมผลิตกะปิสม่ำเสมอ ได้รับค่าจ้างอัตราค่าจ้างวันละ 100-300 บาท ตามความยากง่ายของงานที่ได้รับมอบหมาย
ความรู้ใหม่นำไปสู่โอกาสใหม่
ดร.อนันตนิจ กล่าวเสริมว่า นอกจากรายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการกลุ่มนี้แล้ว การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญคือ การส่งต่อโอกาสและสร้างรายได้ให้กับครอบครัวเปราะบาง หรือครอบครัวยากจนในพื้นที่ของห่วงโซ่คุณค่าผ่านการจ้างงาน ซึ่งมีสัดส่วนการสร้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นถึง 30 เปอร์เซ็นต์
เริ่มตั้งแต่ชาวประมงหรือคนจับกุ้งเคย หากใส่ใจในรายละเอียดล้างกุ้งเคยให้สะอาดมากขึ้นกว่าปกติ ผู้รวบรวมหรือแพรับซื้อกุ้งเคยบ้านเกาะเคี่ยมก็จะให้ราคาเพิ่มขึ้นกิโลกรัมละ 10 บาท
ผู้รวบรวมจะนำกุ้งเคยมาจัดเตรียมตามออร์เดอร์จากผู้แปรรูปหรือผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ อีกที เนื่องจากผู้ประกอบการแต่ละเจ้าก็จะมีสูตรเฉพาะในการทำกะปิของตัวเอง (Made by Order) ดังนั้นความต้องการกุ้งเคย เทคนิค กระบวนการหมักก็อาจจะมีสัดส่วนที่ต่างกันไปบ้าง แต่ก็จะใช้องค์ความรู้จากงานวิจัยนี้เป็นหลักสำคัญ
วิสาหกิจชุมชนฯ ที่เกาะลิบง ต้องการกุ้งเคยสะอาด และต้องตากแห้งก่อนนำไปหมักด้วยดอกเกลือ เพื่อผลิตกะปิน้ำเช้า ซึ่งจะให้รสเค็มน้อยและสีสวยธรรมชาติ
ดังนั้นผู้รวบรวมที่บ้านเกาะเคี่ยม ก็จะต้องเพิ่มกระบวนการตากและคัดเกรดกุ้งเคยอย่างประณีต หมายความว่า “ต้องมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น” เพื่อเตรียมกุ้งเคยที่ตรงกับความต้องการของผู้แปรรูปหรือผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนฯ ที่เกาะลิบง กุ้งเคยแบบ Made by Order ของผู้รวบรวมพื้นที่บ้านเกาะเคี่ยม จะถูกรับซื้อในราคาสูงขึ้น
จากกิโลกรัมละ 25 บาท เพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 55 บาท เกิดการกระจายรายได้ ตั้งแต่ชาวประมงที่จับกุ้งเคย ผู้รวบรวม คนคัดเกรดและตากกุ้งเคย
แค่เปิดใจก็ได้เปิดมุมมองใหม่
กระบวนการพัฒนาคุณภาพกะปิกุ้งเคย ทีมวิจัยเน้นการเปิดใจและเปิดมุมมอง ทำให้ผู้ประกอบการ เห็นความสำคัญของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพดี มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ เป้าหมายต่อไปของวิสาหกิจชุมชนฯ เกาะลิบง จะหนุนเสริมให้ก้าวไปสู่การขอรับมาตรฐานฮาลาลและ อย. เพื่อยกระดับยกระดับคุณภาพต่อไป
จากที่ทำตามความรู้สึก ไม่เคยวางแผนการผลิต ไม่ใส่ใจในคุณภาพวัตถุดิบเท่าที่ควร มีอย่างไรก็ขายเท่านั้น ไม่เคยคำนวณกำไร-ต้นทุน จัดการการเงินไม่เป็น รายได้เกือบเป็นศูนย์ มาวันนี้ แต่วันนี้ ‘วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยว และพัฒนาอาชีพเกาะลิบง’ ยกระดับเป็นมืออาชีพ มีของขายสม่ำเสมอ จัดการเงินอย่างเป็นระบบ และยังกลายเป็นศูนย์กลางของชุมชนเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ของสมาชิกมาวางจำหน่ายที่หน้าร้านของวิสาหกิจชุมชนฯ
สามารถยกระดับตัวเอง เป็น ‘นวัตกรชุมชน’ ถ่ายทอดความรู้นำไปสู่ความยั่งยืนได้ต่อไป
Lisa ทำไข่เจียวกุ้ง ฉลองเพลง Money ยอดสตรีมทะลุ1 พันล้านครั้ง
ลูกค้าเทคโนโลยีทีมงานคือหัวใจของกลุ่มทรูฯในมือ'ซิกเว่ เบรกเก้'