หน้าฝนเป็นช่วงที่มีความชื้นในอากาศสูง ทำให้มีการเจริญเติบโตของเชื้อรา และเชื้อแบคทีเรีย ช่วงนี้ฝนตกแทบทุกวัน ถ้าต้องออกไปนอกบ้าน อาจต้องโดนฝน ลุยน้ำ เสื้อผ้าเปียก ซึ่งส่งผลให้เกิดโรคผิวหนังตามมาได้ง่าย
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ แนะนำให้หมั่นสังเกตตนเองหากมีอาการผิดปกติทางผิวหนัง ให้เข้ามาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรับการวินิจฉัยรักษาที่ถูกต้อง
สำหรับ 6 โรคผิวหนังยอดฮิต ที่มากับหน้าฝน ได้แก่
1.โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s foot หรือ Hong Kong foot) โรคผิวหนังที่เกิดกับเท้า และซอกนิ้วเท้า มีสาเหตุมาจากเชื้อรากลุ่ม Dermatophytes ซึ่งก็คือเชื้อราชนิดเดียวกับที่ทำให้เกิดโรคกลากนั่นเอง ความอับชื้นของถุงเท้ารองเท้า จากการลุยฝนลุยน้ำ มีส่วนทำให้เชื้อเจริญเติบโตได้ดี และหรืออาจติดจากสิ่งของเครื่องใช้ที่มีเชื้อนี้อยู่ก็ได้ และอาจมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ การดูแลรักษา สามารถให้ยาทาฆ่าเชื้อราภายนอก หรือพิจารณาให้ยารับประทาน ขึ้นอยู่กับตำแหน่ง ความกว้างของพื้นที่ติดเชื้อ และภาวะภูมิต้านทานของผู้ป่วยเองด้วย
2.โรคกลาก (Dermatophytosis) และเกลื้อน ( Tinea Versicolor) คือ โรคผิวหนังติดเชื้อรา โดยกลากเป็นเชื้อรากลุ่ม Dermatophyte เช่นเดียวกันกับโรคน้ำกัดเท้า ซึ่งเชื้อชนิดนี้สามารถเป็นกับผิวหนังได้ทั่วร่างกาย โดยเฉพาะบริเวณอับชื้นเช่นขาหนีบ ก้น ส่วนเกลื้อนเป็นเชื้อรากลุ่ม Pityriosporum ซึ่งจะให้ลักษณะทางคลินิกที่แตกต่างกัน การดูแลรักษา ก็เช่นเดียวกับโรคน้ำกัดเท้า และทั้งสองกลุ่มโรคนี้ ควรต้องรักษาความสะอาดร่างกายและเสื้อผ้าที่สวมใส่ให้แห้งสะอาดอยู่เสมอ
3.โรคผิวหนังอักเสบจากภูมิแพ้ (Atopic eczema) ผู้ที่เป็นภูมิแพ้ผิวหนังจะมีความไวต่อการเกิดผื่น โดยผื่นอาจถูกกระตุ้นให้เห่อขึ้นได้ เมื่อมีความชื้นมาก เหงื่อที่ระบายได้ยาก และการเสียดสี แม้แต่การติดเชื้อราหรือแบคทีเรียเล็ก ๆ น้อย ๆ บนผิวหนัง ก็สามารถทำให้ผื่นภูมิแพ้แย่ลงได้ การดูแลรักษา คือการดูแลความสะอาดด้วยสารทำความสะอาดที่ไม่รุนแรงต่อผิว เลือกทาครีมบำรุงเป็นประจำที่ไม่มีสารก่อระคายเคืองเข่นน้ำหอมหรือสารเร่งให้ขาว เลือกเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่รัดแน่นจนเกินไป
4.ผิวหนังอักเสบจากแมลงสัตว์กัดต่อย ในฤดูฝนอาจมีแมลงต่าง ๆ แตกต่างกันไปในแต่ละท้องที่ โดยเฉพาะแมลงบิน แมลงดูดเลือด อย่างเช่นยุงชนิดต่าง ๆ ริ้นดำ ริ้นทะเล และแมลงอื่นที่ไม่ได้มากัด เราแต่อาจมาสัมผัสโดนโดยบังเอิญ เช่น ด้วงก้นกระดก แมลงเหล่านี้เมื่อสัมผัสกับผิวหนังแล้วก็อาจจะมีอาการมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละราย และบางชนิดก็อาจเป็นพาหะนำโรคอื่น ๆมาด้วย การดูแลรักษา เมื่อถูกกัดหรือถูกสัมผัสโดน ให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาด ถ้าผิวหนังมีผื่นหรือมีอาการคัน อาจใช้ยาสำหรับทาแมลงสัตว์กัดต่อยทาบริเวณที่เป็นได้ แต่หากมีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือบวมเจ็บผิดสังเกตให้รีบไปพบแพทย์
5.เท้ามีกลิ่นเหม็น( Pitted keratolysis) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่หนังเท้าชั้นนอก พบบ่อยเมื่อเท้ามีความอับชื้นอยู่นาน มีเหงื่อออกเท้ามาก สวมรองเท้าถุงเท้าที่ระบายเหงื่อหรือความชื้นได้ไม่ดี มีหนังฝ่าเท้าหนา น้ำหนักตัวมาก หรือเป็นเบาหวานก็เป็นปัจจัยส่งเสริมโรคนี้ได้ ฝ่าเท้าอาจจะมีลักษณะเป็นขุย หรือหนา หรือลอก หรือเมื่อดูใกล้ๆจะพบว่ามีรูพรุนเล็ก ๆ มากมายบริเวณฝ่าเท้า และด้านล่างของนิ้วเท้า มักไม่มีอาการใด ๆ แต่อาจจะทำให้เสียบุคลิกภาพ การดูแลรักษา ให้ยาปฏิชีวนะชนิดใช้ภายนอก เช็ดทาให้ทั่วบริเวณที่เป็น หมั่นดูแลความสะอาด ปรับเปลี่ยนถุงเท้ารองเท้า หรือรักษาภาวะเหงื่อเท้ามากเกินถ้ามี
6.สิวเห่อ (Seasonal aggravation of acne) ความร้อนและความชื้นล้วนมีผลต่อทั้งปริมาณ และการอักเสบของสิว หลายคนอาจจะสังเกตว่าสิวเห่อขึ้นกว่าปกติ ความอบอ้าวส่งผลต่อเชื้อบนผิว การเปิดของรูขุมขน การทำงานที่เพิ่มขึ้นของต่อมไขมัน เหล่านี้ส่งผลต่อสิวบนใบหน้า โดยเฉพาะสถานการณ์ที่ยังคงต้องสวมหน้ากากอนามัยอย่างต่อเนื่องอีกด้วย การดูแลรักษา ดูแลความสะอาด หากอักเสบหรือเห่อมากควรพบแพทย์ ใช้ยาสิวอย่างสม่ำเสมอ เปลี่ยนหน้ากากทุกวัน เลือกหน้ากากที่ไม่ระคายผิวจนเกินไป
“ซอสมังคุด” ใช้งานวิจัยเปลี่ยนกากและเม็ดเป็นซอสอร่อยสารพัดจิ้ม
ผัดกะเพรายืนหนึ่งเมนูสตรีทฟู้ดยอดฮิตแห่งปี 2567 บน foodpanda