ม.ศรีปทุมเผยบริษัทต้องการทักษะ AI จากนักศึกษาฝึกงาน
มหาวิทยาลัยศรีปทุม (SPU) เผยเสียงสะท้อนจาก3,000 บริษัท ในโครงการสหกิจศึกษา SPU ส่งตัวนักศึกษาฝึกงาน ถามถึงทักษะ AI
ผศ.ดร.วิรัช เลิศไพฑูรย์พันธ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีปทุม หรือ SPU เปิดเผยว่า ปัจจุบันทักษะการใช้ AI เป็นที่ยอมรับและกลายเป็นทักษะที่สำคัญ ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ มุ่งเน้นการนำมาช่วยเสริมศักยภาพธุรกิจและการทำงานในทุกๆ ด้าน โดยมีเสียงสะท้อนจากบริษัทในโครงการสหกิจศึกษา SPU ส่งนักศึกษาไปฝึกงานด้วยทุกสาขา กว่า 3,000 แห่ง ถามถึงความสามารถในการใช้ AI เป็นผู้ช่วยในการทำงาน
สะท้อนให้เห็นว่า AI กลายเป็นสมรรถนะหลักที่ภาคธุรกิจมองหา และให้ความสำคัญ ฉะนั้นการส่งเสริม ให้เยาวชน นักเรียน นักศึกษา ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของธุรกิจและการพัฒนาประเทศ เตรียมความพร้อมเป็นกำลังคนสำคัญที่รู้จักใช้ AI ปลดล็อกศักยภาพในการทำงานถือเป็น ภารกิจของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องเร่งผลักดัน
ผศ.ดร.ปราลี มณีรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ SPU เปิดเผยว่า เพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ หันมาให้ความสำคัญในการพัฒนาทักษะการใช้ AI มหาวิทยาลัยได้ร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC), สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AiAT), Super AI Engines, AI Thailand, สมาคมส่งเสริมนวัตกรรมเทคโนโลยี ไซเบอร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดการแข่งขัน SPU AI Prompt Mini Hackathon 2024: Unlock Your Coding ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย และอาชีวศึกษา ครั้งที่ 2 หลังจากประสบความสำเร็จในการแข่งครั้งแรก เมื่อต้นปีที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 300 คน จากโรงเรียนทั่วประเทศ ซึ่งมีเป้าหมายร่วมกันผลักดันเวทีนี้ให้กลายเป็นเวทีระดับประเทศ
การจัดการแข่งขันครั้งนี้ มีทีมผู้เข้าร่วมการแข่งขันถึง 127 ทีม มีจำนวนผู้เข้าร่วม 380 คน โดยในการแข่งขัน นักเรียนทุกคนจะได้รับการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับการเขียน Prompt หรือ คำสั่ง ให้ AI ตอบคำถามและประมวลผลข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งถือเป็น “หัวใจสำคัญ” ของการใช้ AI ยกศักยภาพการทำงานให้กับผู้ใช้ และผู้เข้าร่วมทุกคนจะได้รับใบประกาศนียบัตรรับรองการเข้าร่วมกิจกรรมการแข่งขัน เพื่อการันตรีความสามารถด้านทักษะในการใช้ AI เพื่อการทำงาน และการเรียนต่อไป
สำหรับทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ รับเงินรางวัล 20,000 บาท ได้แก่ทีม Deno จากโรงเรียน The Newton Sixth Form ,โรงเรียนวัดราชบพิธ และโรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี
รองชนะเลิศอันดับ 1 รับเงินรางวัล 15,000 บาท ได้แก่ ทีม Champion จากโรงเรียนยุพราชวิทยาลัย
รองชนะอันดับ 2 รับเงินรางวัล 10,000 บาท ได้แก่ ทีมไม่ได้เบียวแค่เป็นหนึ่งเดียวกับ Prompt Engineer จากโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง และ โรงเรียนพัฒนาวิทยา
รางวัลชมเชยจำนวน 2 ทีม รับเงินรางวัลทีมละ 5,000 บาท ได้แก่ ทีม Yakeatmatcha จากโรงเรียนยอแซฟอุปถัมภ์ โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนเวนต์ และโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย และ ทีมกะเพราหมูนิ่ม จากโรงเรียนวัด ราชบพิธ โรงเรียนเบญจมราชรังสฤษฎิ์ และโรงเรียนสายปัญญา ในพระบรมราชินูปถัมภ์
กรณีตัวอย่างนักวิจัยใช้ Apple Watch ศึกษาองค์ความรู้ใหม่ด้านหัวใจ
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้