ข่าวทั่วไป

โรงเรียน 4  ตารางวากับเครือข่ายป้าข้างบ้าน

27 สิงหาคม 2567

โรงเรียน 4  ตารางวากับเครือข่ายป้าข้างบ้าน

  ‘โรงเรียน 4 ตารางวา’ เป็นชื่อย่อที่เด็กๆ เรียกศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม จังหวัดอุตรดิตถ์   โดย “ครูติ๊ก” ชัชวาลย์  บุตรทอง ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม 

พื้นที่ห้องสี่เหลี่ยมขนาดเล็กแค่ 4 ตารางวา   เมื่อก้าวเข้าไปรู้สึกเหมือนอยู่ในมิติขนาดใหญ่ เป็นสถานที่ชุบชูใจของเด็กและเยาวชนที่บอบช้ำ  ได้กลับมาเรียนรู้เพิ่มวุฒิการศึกษา เพื่อโอกาสที่ดีในอนาคต

ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้รับทุนสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)  และภาคีเครือข่าย  เพื่อช่วยกันสร้างกระบวนการพัฒนาการเรียนรู้สำหรับเยาวชนนอกระบบการศึกษาในจังหวัดอุตรดิตถ์

เป็นศูนย์การเรียนที่สามารถจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542

โรงเรียน 4 ตารางวาแห่งนี้  ทำงานเชื่อมโยงกับโครงการ  Thailand Zero Dropout  ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่มีเป้าหมายนำเด็กและเยาวชนที่ไม่มีชื่ออยู่ในระบบการศึกษา กลับเข้าสู่การเรียนรู้ที่ยืดหยุ่น มีทางเลือก และตอบโจทย์ชีวิต พร้อมวางแนวทางพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน สร้างหลักประกันโอกาส ให้เด็กกลับคืนสู่ระบบการศึกษาทางเลือกที่สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิตประจำวัน

จากรายงานของสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดอุตรดิตถ์ ระบุว่า จำนวนนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษากลางคันของจังหวัดอุตรดิตถ์ ในปีการศึกษา 2566 ที่ผ่านมา มีจำนวนกว่า 464 คน   มาจากปัจจัยสำคัญหลายประการ  สาเหตุหลักมาจาก ความยากจน  ปัญหาในการปรับตัว และการอพยพตามผู้ปกครอง

ครูติ๊ก ครูรุ่นใหม่ที่เข้าถึง”ใจ” ที่บอบช้ำ

ครูติ๊ก  ชัชวาลย์  บุตรทอง  มีความมุ่งมั่นไม่ต้องการทิ้งเด็กๆไว้ข้างหลัง แม้แต่คนเดียว  จึงได้ยื่นข้อเสนอโครงการจัดการเรียนรู้นอกระบบเพื่อพัฒนาสมรรถนะที่จำเป็นและการเห็นคุณค่าในตนเองของเยาวชนในกระบวนการยุติธรรม ภายใต้ศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสังคม  กับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อให้โอกาสแก่เยาวชนนอกระบบการศึกษา

ศูนย์การเรียนที่มีพื้นที่แค่ 4 ตารางวา ได้ทำหน้าที่เป็นกลไกขับเคลื่อนให้เด็กนอกระบบการได้กลับเข้าโลกของการเรียนรู้ ได้เห็นคุณค่าของตัวเอง  โดยศูนย์การเรียนฯและเครือข่าย จะวางแผนการทำงาน 3 ระยะ คือ  ค้นหาเยาวชนนอกระบบการศึกษา สร้างการเห็นคุณค่าในตัวเองและสร้างพื้นที่การเรียนรู้

บ่ายวันนั้น ผู้เขียนเห็นน้องคนหนึ่งยืนรอครูติ๊ก  น้องบอกว่า รอยืมเงินครูติ๊ก 40 บาท ไปซื้อแพมเพิร์สให้น้อง แม่เพิ่งโทรมาบอก หนูไม่มีเงินติดตัวเลย ….สะท้อนภาพให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันดีของครูกับลูกศิษย์

เครือข่ายป้าข้างบ้าน

โรงเรียน 4 ตารางวาของครูติ๊ก มีภาคีเครือข่ายในชุมชนมากมาย ที่คอยช่วยสอดส่อง ค้นหา และช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในชุมชน เปรียบเสมือนป้าข้างบ้านที่ใจดี มีเมตตา ทั้งป้าเร เรวดี กล่ำศิริ รองประธานชุมชนเจริญธรรมที่พร้อมจะลุยเพื่อช่วยเด็กๆ  สารวัตรกำนันเจน หรือครูเจน    เจลวี วงสิน  แห่งตำบลคุ้งตะเภา ที่ร้านค้าในชุมชนกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของเด็กๆในชุมชนได้มาพูดคุยเฮฮากับเรื่องราวในชีวิต   และคุณครูประทีป ปราสาร ของเด็กพื้นที่ป่าเซ่า ผู้เป็นที่เคารพรู้จักของทุกคนในชุมชนแห่งนี้

เหล่าคุณป้าข้างบ้านจะใช้ความสนิทสนมเข้าไปพูดคุย ชวนทำกิจกรรม ชวนขายของ สร้างแรงจูงใจให้เด็กๆ กลับมาเป็นคนดีของชุมชน

อยากให้ผู้ใหญ่รับฟัง

เด็กๆ หลายคนที่หลุดไปจากห้องเรียนแล้ว แต่ขณะนี้ได้กลับมาเรียนในระบบการศึกษา  บางคนกำลังจะจบ ม.ต้น และมีความหวังจะไปเรียนต่อในสายอาชีพและสามัญ  สะท้อนให้เห็นว่า อยากให้ผู้ใหญ่รับฟังเวลาเค้าพูด  เมื่อได้เข้ามาเรียนรู้ที่โรงเรียน 4 ตารางวา กับครูติ๊ก ทำให้มีความหวัง  จากที่เคยถอดใจกับโรงเรียนไปแล้ว  เพราะสิ่งที่พบเจอมาในอดีตทำให้กลัวระบบการศึกษา จึงตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตอยู่ด้วยลำแข้งของตัวเอง แต่ระบบการรับคนเข้าทำงาน ต้องใช้วุฒิการศึกษา จึงต้องมองที่การศึกษานอกระบบที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตประจำวัน

ยายอย่าเพิ่งไปไหน รอดูความสำเร็จของหนูก่อน

น้องเก่งวัย 22 ปี สาวน้อยร่างท้วมน่ารัก พูดจาฉะฉาน อาศัยอยู่ในชุมชนเจริญธรรม เธอมีความรับผิดชอบดูแลยายและน้องสาว ได้ตัดสินใจเรียนที่ศูนย์ฯ ควบคู่ไปกับการเรียน กศน.   เธอตั้งใจจะส่งน้องเรียนจบ ม.6 ก่อน แล้วตัวเองจะไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น  ทุกวันนี้ เก่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ เป็นที่ปรึกษาให้น้องๆ ในชุมชน  เก่งบอกกับคุณยายว่า ยายอย่าเพิ่งไปไหน รอดูความสำเร็จของหนูก่อน

พ่อหนุ่มแก๊งกลับใจ

“ธัน”   หนุ่มน้อยร่างสูงผอมบาง หลังจากตัดสินใจไม่เรียนหนังสือ  ขาดเรียนบ่อยๆ ไปช่วยพ่อทำงานรับจ้างในต่างจังหวัด ทั้งตัดอ้อยและตัดเหล็ก  ไม่นานนัก ธัน ก็มีแก๊งเป็นของตัวเอง ใช้เพิงขายในชุมชนเป็นแหล่งนัดพบของเด็กแก๊ง

ธัน ยอมรับว่า ตัวเค้าเกเรแบบสุดๆ  ออกจากโรงเรียนตั้งแต่ยังไม่จบ ม. 3 ทำงานรับจ้างทั่วไป ตระเวนไปตามจังหวัดต่าง ๆ เพื่อหาเงินช่วยที่บ้าน หาเงินส่งน้องเรียน ดูแลแม่และตา

“ รู้สึกกลัวการเรียนมาก ๆ ตอนที่ได้กลับมาเรียนครั้งแรก อยากจะกลับบ้านทันที  สุดท้ายบอกตัวเองให้ลองดู แค่วันเดียวไม่น่าจะมีอะไร  พอมาเรียน ทำให้มองเห็นสิ่งใหม่ ๆ ”

สุดท้าย  ธัน ยอมรับว่า  ห้องเรียนใหม่ของโรงเรียน 4 ตารางวา ไม่มีบังคับ หากมีธุระต้องไปทำงานก็แจ้งกับครูได้ โรงเรียนไม่บังคับให้ต้องมาเรียนทุกวัน แต่กลับรู้สึกอยากมาเรียนทุกวัน ไม่อยากขาดเรียน โรงเรียนแห่งใหม่  เปิดโอกาสให้เรียนไปด้วยปฏิบัติไปด้วย และ เรียนในเรื่องที่อยากรู้

ทุกวันนี้ธันเรียนและทำงานที่อู่ซ่อมรถ  มีความฝันอยากเรียนต่อสายอาชีพ

โจทย์การทำงาน Thailand Zero Dropout

ข้อมูลบนเว็บไซต์ eef.or.th  กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ระบุว่า  การทำงานติดตามค้นหาเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษา แยกเป็น

กลุ่มเด็กตกหล่นที่ยังไม่เคยเข้าสู่ระบบการศึกษา คือ เด็กปฐมวัยที่ไม่ได้เข้าเรียนชั้นอนุบาลหรือศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และเด็กช่วงวัยชั้นประถมศึกษาตอนต้นที่เข้าเรียนช้า

กลุ่มเด็กที่เคยเข้าเรียนแล้วหลุดจากระบบมา ซึ่งหน่วยงานด้านการศึกษาจะสามารถใช้ตัวเลข 13 หลักช่วยตามเด็กกลับมาได้

กลุ่มเด็กเสี่ยงหลุด คือ อยู่ในระบบการศึกษาแต่มีภาวะความพิการหรือความยากจนด้อยโอกาสซึ่งพร้อมจะหลุดจากระบบได้ตลอดเวลา

เส้นทางการติดตามค้นหาและนำเด็กสู่เส้นทางพัฒนาตนเอง อาสาสมัครการศึกษาจะลงสำรวจพื้นที่ชุมชนค้นหาจนพบตัวเด็ก จากนั้นคณะทำงานจะบูรณาการเชื่อมโยงไปถึงโรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ก่อนรายงานข้อมูลจากระดับตำบลไปที่ระดับอำเภอจนถึงระดับจังหวัด

สำหรับเด็กเยาวชนที่มีความจำเป็นไม่สามารถกลับไปเรียนในโรงเรียนได้ ก็จะประสานการทำงานเชื่อมโยงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อค้นหาช่องทางไปสู่การมีงานทำ เพราะเป้าหมายของ Thailand Zero Dropout ไม่ได้หมายถึงการนำเด็กทุกคนเข้าสู่ห้องเรียน แต่การเรียนรู้นั้นต้องมีทางเลือก สอดรับกับชีวิตและความจำเป็นต่าง ๆ เป็นการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้เพื่อการมีงานทำ หรือเป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต

จึงมีการคิดค้นพัฒนาแนวทางต่าง ๆ ที่น่าสนใจ เช่น โรงเรียนมือถือ โรงเรียน 3 ระบบ หน่วยจัดการเรียนรู้นอกโรงเรียน รวมถึงกลไกการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ (Area Based Education) ที่เป็นอีกหนึ่งแนวทางการทำงาน เพื่อให้แต่ละท้องถิ่นค้นพบนวัตกรรมการศึกษาที่เหมาะสมกับบริบท และช่วยสร้างโอกาสและทางเลือกให้เด็กเยาวชนยังคงอยู่ในการพัฒนาตัวเองได้ต่อไป

ผู้เขียน
ปรารถนา ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเทคโนโลยี

More read

Tags

  • Thailand Zero Dropout
  • กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
  • ชัชวาลย์  บุตรทอง ผู้อำนวยการศูนย์การเรียนสถาบันการเรียนรู้ตลอดช...
  • เยาวชนนอกระบบการศึกษา
  • โรงเรียน 4 ตารางวา