ทรูมันนี่เร่งสร้างอีโคซิสเต็มส์เพื่อการเงินยุคใหม่
เมื่อโลกก้าวสู่ยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน (Digital Transformation) สมาร์ทโฟนและแอปพลิเคชันต่าง ๆ ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญไปกับทุกจังหวะชีวิตของคนยุคใหม่
แอปพลิเคชันการเงินในปัจจุบัน ไม่ได้มีเพียง อีวอลเล็ต (E-Wallet) หรือกระเป๋าเงินดิจิทัล ที่เป็นบริการเด่นเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ผู้ให้บริการต่างก็เดินหน้าพัฒนาอีโคซิสเต็มส์ของบริการด้านการเงินของตัวเองให้ครบวงจร เพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) ให้ครอบคลุมผู้คนทุกกลุ่มมากขึ้น
ทรูมันนี่ ในฐานะผู้นำด้านการให้บริการทางการเงินแบบดิจิทัลชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เริ่มสร้างบริการใช้จ่าย (Payment) เพื่อตอบโจทย์การใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมไปถึงการทำให้ไลฟ์สไตล์การใช้จ่ายของผู้คนเป็นเรื่องง่าย
หัวใจสำคัญของแอปการเงิน
การสร้างแอปการเงินครบวงจร (Financial Super App) จำเป็นที่จะต้องคำนึงถึง 4 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้
1. เสริมสร้างทักษะความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ควบคู่กับไปกับทักษะความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy)
จากงานวิจัยของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) ในปีพ.ศ. 2565 พบว่า เทรนด์ทางด้านทักษะความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literary) ของบุคคลทั่วไป โดยมากจะมีแนวโน้มสอดคล้องไปกับทักษะความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy)
จากข้อมูลซึ่งเก็บรวบรวมจากผู้คนอายุระหว่าง 16 – 35 ปี จำนวน 90,000 คน จาก 6 ประเทศในอาเซียน พบ กว่า 24% ของมิลเลนเนียล (อายุตั้งแต่ 16 – 35 ปี) ไม่เคยเรียนรู้เรื่องการจัดการทางการเงิน หรือ การลงทุนมาก่อน เนื่องจากมองว่า การเงินเป็นเรื่องยาก อีกทั้งยังมีกำแพงด้านภาษาและขั้นตอนการใช้งานที่ซับซ้อน
ผู้ให้บริการจึงควรทำให้การใช้งานแอปการเงินเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้ใช้ ลดอุปสรรคในการเข้าถึง (Barrier of Entry) ออกแบบแอปที่สามารถเพิ่มแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้แก่ผู้ใช้งาน เช่น ฝากเงินแล้วเห็นดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นรายวัน หรือ มอบสิทธิประโยชน์พิเศษต่าง ๆ จากการใช้บริการให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล
ความสะดวกทั้งหมดนี้จะเป็นแรงดึงดูดหลักที่ทำให้บุคคลที่ไม่เคยใช้บริการแอป หรือ บุคคลที่ยังนิยมใช้จ่ายด้วยเงินสด สนใจเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในอีโคซิสเต็มส์ที่ครบวงจร ซึ่งช่วยยกระดับชีวิตทางการเงินและตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในทุกมิติ
2. จาก Micro Lending สู่ Micro Investing
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาบริการสินเชื่อได้รับการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินผ่านการนำเสนอนวัตกรรมใหม่ ๆ ผ่านแอปการเงินครบวงจร เช่น สินเชื่อดิจิทัล (Digital Lending) บริการใช้ก่อนจ่ายทีหลัง (Buy Now Pay Later) เป็นต้น ซึ่งเป็นการขยายขอบเขตของบริการทางการเงิน เพื่อให้ตอบโจทย์ธุรกิจรายย่อย บุคคลที่ไม่ได้ทำงานประจำ รวมถึงบุคคลที่ไม่มีบัญชีธนาคาร (Unbanked) ให้สามารถเข้าถึงบริการสินเชื่อได้ผ่านแอปการเงินครบวงจร หรือสามารถดำเนินการขอสินเชื่อได้ ณ จุดขายโดยไม่จำเป็นต้องมีสลิปเงินเดือน
ทรูมันนี่มองว่า อุปสรรคสำคัญในการลงทุนคือ การกำหนดยอดเงินขั้นต่ำในการลงทุนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น ทรูมันนี่จึงลดข้อจำกัดตรงนี้ลงสำหรับบริการด้านการลงทุน โดยให้สามารถลงทุนในกองทุนรวมได้แบบไม่มีขั้นต่ำ ซึ่งช่วยให้คนรุ่นใหม่ที่ยังมีเงินออมไม่เยอะ ลงทุนตามรายได้ อีกทั้งยังได้รับผลตอบแทนที่งอกเงย พร้อมติดตามผลตอบแทนได้แบบเรียลไทม์ผ่านแอปทรูมันนี่
3. ขยายบริการข้ามพรมแดน (Cross-Border) ไปสู่กลุ่มแรงงานต่างชาติ
แรงงานจากพม่าและกัมพูชา อยู่ในกลุ่มที่ไม่มีบัญชีธนาคาร (Unbanked) รวมถึงกลุ่มที่ยังพบอุปสรรคในการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Underbanked) เสมอมา มีความต้องการที่เฉพาะเจาะจง เช่น ส่งเงินให้ครอบครัวในภูมิลำเนา (International Transfer) การจ่ายบิลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในต่างประเทศ (Cross Border Bill Payment) หรือ การเติมเงินโทรศัพท์ (Cross Border Mobile Top-up) ไปยังเครือข่ายโทรศัพท์มือถือผู้ให้บริการในต่างประเทศ การที่ทรูมันนี่เปิดให้ชาวต่างชาติที่มาทำงานในไทยสามารถเปิดบัญชีได้ จึงช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างการเข้าถึงบริการทางเงิน
4. ยกระดับเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อเสริมเกราะความปลอดภัย
ทรูมันนี่ พัฒนาระบบต่าง ๆ เพื่อมาช่วยเสริมเกราะการป้องกันโดยสามารถประยุกต์ใช้ความชาญฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ (AI – Artificial Intelligence) มาทำงานร่วมกับเทคโนโลยีวิศวกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Engineering) ในการรวบรวม จำแนก และจดจำ เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการใช้งานของผู้ใช้บริการ และสามารถตรวจสอบตัวตนของผู้ใช้งานได้หลากหลายรูปแบบ เช่น ข้อมูลชีวมิติ และ สถานที่ในการใช้งาน เพื่อตรวจจับการติดตั้งแอปพลิเคชันที่ไม่ปลอดภัย
หยุดการทำธุรกรรมที่มีความผิดปกติได้ในทันที โดยอิงจากประวัติการทำรายการย้อนหลังที่ผ่านมา นอกจากนี้ ผู้ให้บริการทางการเงินยังสามารถร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ในการจัดทำระบบฐานข้อมูลกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกในการบันทึกข้อมูล และตรวจสอบข้อมูลของบุคคลที่กระทำความผิดด้านการเงิน ทำให้การตรวจสอบประวัติอาชญากรรมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ การสร้างอีโคซิสเต็มส์ของบริการด้านการเงินให้ครอบคลุมผู้คนทุกกลุ่ม ยังคงต้องคำนึงถึงอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ คือ การทำความเข้าใจความต้องการของผู้ใช้บริการ เพื่อพัฒนาและออกแบบผลิตภัณฑ์พร้อมทั้งเทคโนโลยีที่เหมาะสม ให้สามารถตอบโจทย์และทลายข้อจำกัดทางด้านการเงินสำหรับผู้บริโภค ที่นอกจากการเข้าถึงแล้วจะยังช่วยสร้างเสริมประสบการณ์ด้านการเงินที่ดีให้แก่ผู้คนด้วย
การ์ทเนอร์วิเคราะห์โซลูชัน Generative AI จะทำงานแบบมัลติโหมดในสามปี