ยานยนต์

มธ. เผยผลวิจัยคนขับ “เรียกรถผ่านแอป”

1 มิถุนายน 2567

มธ. เผยผลวิจัยคนขับ “เรียกรถผ่านแอป”

มธ.เปิดผลงานวิจัยคนขับ “เรียกรถผ่านแอป” พบอุปสรรคขึ้นทะเบียนรถติดไฟแนนซ์ ใช้รถคนอื่น  แนะ 3 แนวทางแก้ปลดล็อกเศรษฐกิจดิจิทัล

สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ สว.มธ. (TU-RAC) โดย ผศ. ดร. สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้บริหารโครงการวิจัย   ได้เปิดเผยผลงานวิจัยในหัวข้อ“ความท้าทายของคนขับผู้ให้บริการรับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย” (Ride-Hailing Drivers’ Challenges in Thailand)

งานวิจัยได้ศึกษาประเด็นปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการให้บริการ “เรียกรถผ่านแอปฯ” ของคนขับในยุคปัจจุบัน  พบว่า คนขับเกือบครึ่ง (49%) ใช้รถยนต์ติดไฟแนนซ์ ขณะที่ 47% ใช้รถยนต์ที่ไม่ได้มีชื่อตนเองเป็นเจ้าของให้บริการ จึงทำให้ไม่สามารถไปขึ้นทะเบียนฯ กับกรมการขนส่งทางบกได้

 

คนขับส่วนใหญ่กว่าสองในสาม (71%) อยากให้ภาครัฐสนับสนุนให้มีตัวเลือกประกันภัยสำหรับรถยนต์ที่ให้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ที่เทียบเท่ากับประกันส่วนบุคคล กว่าครึ่ง (52%) อยากให้มีการลดขั้นตอนและปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนให้สะดวกมากขึ้น และ 47% เสนอให้มีการปรับระเบียบเพื่ออนุญาตให้คนขับที่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของรถสามารถจดทะเบียนได้

ผศ. ดร. สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้บริหารโครงการวิจัย  กล่าวว่า  บริการเรียกรถผ่านแอปฯ ได้กลายเป็นหนึ่งในตัวเลือกสำคัญของการเดินทางและการคมนาคมขนส่งในประเทศไทย  ส่งผลให้ธุรกิจนี้มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าตลาดรวมสูงกว่า 7 หมื่นล้านบาท ล่าสุดมีแอปพลิเคชันที่ผ่านการรับรองจากกรมการขนส่งทางบกแล้วถึง 11 ราย

ที่ผ่านมายังพบว่า มีความท้าทายในการให้บริการของผู้ขับขี่ที่อยู่ในระบบ ทั้งยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ขับขี่ที่ให้บริการเรียกรถผ่านแอปฯ และผู้ให้บริการขนส่งสาธารณะแบบดั้งเดิมอยู่เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็น รถแท็กซี่ รถสี่ล้อแดง หรือแม้แต่วินมอเตอร์ไซค์ โดยหนึ่งในประเด็นหลักที่กลายเป็นชนวนสำคัญคือ การมีคนขับที่ผ่านการขึ้นทะเบียนในจำนวนที่น้อยมาก อันเนื่องมาจากการที่คนขับไม่สามารถนำรถยนต์หรือรถจักรยานยนต์ที่ให้บริการไปขึ้นทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบกได้

งานวิจัยมีข้อเสนอปลดล็อก 3 ประเด็นหลัก

ข้อเสนอแนะที่ 1: ลดขั้นตอนหรือปรับปรุงกระบวนการจดทะเบียนฯ ให้มีความสะดวกมากขึ้น

ข้อเสนอแนะที่ 2: อนุญาตให้ผู้ขับขี่ที่ไม่ได้เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถ (แต่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของรถ) สามารถจดทะเบียนเพื่อให้บริการได้

ข้อเสนอแนะที่ 3: ปรับข้อกำหนดหรือเงื่อนไขอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

ดาวน์โหลดรายงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ https://shorturl.at/mdLst  

ผู้เขียน
ทีม iJournalist

More read

Tags

  • งานวิจัยเรียกรถผ่านแอป
  • ผศ. ดร. สุทธิกร กิ่งเเก้ว ผู้บริหารโครงการวิจัย
  • สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • แอปเรียกรถ
  • ไรเดอร์