นับถอยหลังสู่ช่วงแห่งการเฝ้าระวังอุบัติเหตุบนท้องถนนในเทศกาลปีใหม่ มีสถิติการเสียชีวิตจากการโดยสารรถยนต์ 14,669 คน เป็นกลุ่มเด็กที่อายุน้อยกว่า 15 ปี คิดเฉลี่ยปีละ 104 คน ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก (Car Seat) จึงมีความสำคัญอย่างมากเพราะสามารถลดการตายในเด็กปฐมวัยกว่า 75% และลดการตายในเด็กวัยเรียนกว่า 40 %
ประเทศไทยมีการแก้ไขพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 123 กำหนดให้คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกินหกปีหรือความสูงไม่เกิน 135 ซม ต้องใช้ที่นั่งนิรภัย แต่ปัจจุบันกฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่มีผลบังคับใช้เพราะ ข้อกำหนด ระเบียบ ประกาศ กฎ หรือคำสั่งโดยพระราชบัญญัตินี้ยังไม่แล้วเสร็จทั้งที่ ตามมาตรา 40 จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ (4 ธ.ค.65) เด็กยังคงไม่ได้รับการคุ้มครองจากการโดยสารรถยนต์ต่อไป
ปัจจุบันหลายประเทศมีกฎหมายบังคับใช้คาร์ซีทแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศ โดยเฉพาะในประเทศอังกฤษเริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2530 โดยการศึกษาวิจัยพบว่าการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเมื่อใช้อย่างถูกวิธีจะลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กทารกและเด็ก 1-4 ปี ถึงร้อยละ 69 ลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กอายุ 5 ปีได้ร้อยละ 45 และลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงร้อยละ 50
ภญ.ดร. ณัฎฐพร บูรณะบุญวงศ์ แนะหลักสำคัญในการเลือกและใช้งานคาร์ซีท เพื่อความปลอดภัย ต้องเลือกให้เหมาะกับสรีระของลูก คาร์ซีทแต่ละรุ่นจะผ่านการทดสอบมาตรฐานตามช่วงน้ำหนัก หรือส่วนสูงของเด็ก และจะกำหนดช่วงน้ำหนัก/ส่วนสูงของเด็กที่เหมาะสมกับคาร์ซีทรุ่นนั้นๆ โดยที่มาตรฐาน R44/04 จะใช้น้ำหนักเป็นเกณฑ์ ส่วนมาตรฐานใหม่ R129 จะใช้ส่วนสูงของเด็กเป็นเกณฑ์ ดังนั้น การเลือกคาร์ซีทจำเป็นจะต้องเลือกให้เหมาะสมกับน้ำหนักและส่วนสูงของลูก
ขั้นต่อมาต้องเลือกระบบติดตั้งที่เหมาะกับรถยนต์ ปัจจุบันมี ระบบติดตั้งด้วยเข็มขัดนิรภัย 3 จุด และระบบติดตั้งด้วยไอโซฟิก โดยทั้ง 2 ระบบ ถ้าทำการติดตั้งอย่างถูกต้อง สามารถให้ความปลอดภัยในการใช้งานได้ไม่แตกต่างกัน แต่การติดตั้งด้วยระบบไอโซฟิกจะทำให้การติดตั้งอย่างถูกต้องทำได้ง่ายขึ้นและแน่นหนาขึ้น ดังนั้นก่อนเลือกซื้อคาร์ซีทควรตรวจสอบรถยนต์ที่ใช้งานว่ารองรับการติดตั้งระบบใดได้บ้างขั้นต่อมาต้องใช้งานอย่างถูกต้อง การใช้งานคาร์ซีทอย่างถูกต้องมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของเด็กอย่างมากที่สุด โดยการใช้ครั้งแรกเด็กย่อมไม่คุ้นเคยจึงต้องหาวิธีอื่นๆ ให้เด็กเพลิดเพลินและสนุกไปกับการเดินทางเข้ามาช่วย
รองศาสตราจารย์นายแพทย์อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปัจจุบันไม่มีภาษีนำเข้าคาร์ซีทแล้วจึงทำให้ราคาถูกลงมาก แต่การทำงานของภาครัฐยังมีหลายส่วนที่ยังไม่เดินหน้าดำเนินงาน ภาครัฐยังไม่มีมาตรการจัดงบประมาณเพื่อสนับสนุนด้านราคาของที่นั่งนิรภัย ไม่มีนโยบายเฉพาะในการช่วยผู้มีรายได้น้อย ให้สามารถซื้อที่นั่งนิรภัยได้ง่ายขึ้น การจัดตั้งธนาคารที่นั่งนิรภัยในจุดบริการเด็กต่างๆ เช่นในโรงพยาบาล ในศูนย์เด็กเล็กฯ และในสถานศึกษา ยังไม่มีการสนับสนุนการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ระดับต่างๆ เหล่านี้คือเรื่องที่รัฐควรต้องเร่งดำเนินการเพื่อไม่สร้างภาระอันเกินควรในการออกกฎหมายละเมิดสิทธิตามมาตรา 26 รัฐธรรมนูญ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ พ่อ แม่ ผู้ปกครองจะต้องร่วมกันเรียกร้องสิทธิของเด็กเพื่อความปลอดภัยของเด็กอย่างเร่งด่วนต่อหน่วยงานต่างๆ
ปัจจุบันสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวและหน่วยงานเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนมีแผนร่วมมือในการสร้างกลไกด้านการสร้างความรู้กับผู้ปฏิบัติงาน มี“จิตอาสาคาร์ซีท”โดยจัดการอบรมความรู้ที่จำเป็นเกี่ยวกับการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง อาทิ เจ้าหน้าที่ตำรวจ บุคลากรสาธารณสุข อสม อพปร เจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน คนขับรถสาธารณะ แทกซี่ เพื่อสร้างผู้ถ่ายทอดความรู้ต่อไป ผู้สนใจสามารถสมัครเข้ามาร่วมอบรมเป็น“จิตอาสาคาร์ซีท”กับสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมหาวิทยาลัยมหิดล ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เฟสบุ๊ค เพจ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว ม.มหิดล
8 เทรนด์กระเบื้องมาแรงปี 2025 “From Nature to Life” เชื่อมโยงธรรมชาติกับชีวิต
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้