นิสสันจุดประกายสร้างความตื่นเต้นในงาน บางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 45 กับ “นิสสัน ไฮเปอร์ ทัวร์เรอร์ (Hyper Tourer)” รถยนต์ไฟฟ้ามินิแวนต้นแบบ ที่มาพร้อมระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติ จัดแสดงในไทยเป็นประเทศแรก หลังเปิดตัวในงาน เจแปน โมบิลิตี้ โชว์ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
อิซาโอะ เซคิกุจิ ประธาน นิสสัน มอเตอร์ ประเทศไทย และนิสสัน อาเซียน กล่าวว่า “นิสสัน เชื่อมั่นในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนขณะเดินทางด้วยกัน ดังนั้น รถยนต์ต้นแบบ ไฮเปอร์ ทัวร์เรอร์ จึงสะท้อนมุมมองใหม่ของนิสสันที่มีต่อการเดินทางด้วยกันได้อย่างชัดเจน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรในอาเซียน เราเชื่อว่าแนวคิดการพัฒนารถต้นแบบ นิสสัน ไฮเปอร์ ทัวร์เรอร์ จะช่วยให้เรายกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในอนาคต และมีความสุขกับการเดินทางได้อย่างหรูหรา สะดวกสบาย”
นิสสัน ไฮเปอร์ ทัวร์เรอร์ เป็นหนึ่งในรถต้นแบบ 5 รุ่น ที่นิสสันเปิดตัวในงาน เจแปน โมบิลิตี้ โชว์ 2023 มินิแวนรุ่นนี้ ผสมผสานจิตวิญญาณของการให้บริการแบบญี่ปุ่นเข้ากับเทคโนโลยีขั้นสูง อาทิ การขับขี่อัตโนมัติ ฟังก์ชัน V2X หรือ (vehicle-to-everything) และแบตเตอรี่ไฟฟ้าความจุสูงยังช่วยให้สามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับบ้าน ร้านค้า และสำนักงาน ขณะเดินทาง หรือทำกิจกรรมทางธุรกิจต่างๆ
รูปลักษณ์ภายนอกของรถยนต์รุ่นนี้สื่อถึงความรู้สึกสบายที่มาจากภายใน ด้วยรูปโฉมภายนอกตัวถังที่เรียบลื่นไหล มีเส้นสายที่เฉียบคม เข้ากันได้ดีกับรูปลักษณ์ที่ดูโอ่อ่ากลมกลืนกับภูมิทัศน์โดยรอบ พื้นที่ห้องโดยสารภายในกว้างขวางเป็นผลมาจากวิสัยทัศน์ด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าของนิสสัน ซึ่งรวบรวมชิ้นส่วนขนาดเล็ก และแบตเตอรี่แบบ Solid-state ไว้อย่างกะทัดรัด และลงตัว เพื่อให้เกิดนวัตกรรมยานยนต์ที่มีความสร้างสรรค์ ขณะที่คอนโซลเหนือศีรษะ และไฟส่องสว่างมีลวดลายแบบคูมิโกะ และโคอุชิ อันเป็นลักษณะเฉพาะแบบญี่ปุ่นดั้งเดิมที่สร้างความรู้สึกหรูหรา ในขณะที่พื้นห้องโดยสารประกอบด้วยแผง LED แสดงภาพคล้ายแม่น้ำ และท้องฟ้า ช่วยสร้างความผ่อนคลายที่ผสมผสานสไตล์ ที่มีทั้งความเป็นดิจิทัล และความธรรมชาติเข้าด้วยกันอย่างลงตัว
รถยนต์ต้นแบบคันนี้มาพร้อมกับระบบควบคุมการขับขี่ e-4ORCE จากนิสสัน จะช่วยควบคุมล้อทั้งสี่ได้อย่างแม่นยำทั้งตอนเร่ง และชะลอความเร็ว ด้วยการขับขี่อัตโนมัติเต็มรูปแบบช่วยให้ผู้ขับขี่สามารถใช้เวลากับเพื่อนร่วมทางได้อย่างเต็มที่ เบาะหน้าสามารถปรับหมุนได้ 360 องศา ช่วยให้ผู้โดยสารตอนหน้า และตอนหลังสามารถหันมาพูดคุยกันได้อย่างสะดวก ผู้โดยสารตอนหลังสามารถใช้จอแสดงผลแบบสวมใส่ (wearable display) เพื่อดู และใช้งานระบบนำทาง และควบคุมเครื่องเสียงบนจอแสดงผลตรงกลางเบาะหน้า ช่วยให้ผู้โดยสารทุกคนรู้สึกสะดวกสบาย และมีส่วนร่วมในการเดินทาง นอกจากนี้ ระบบ AI สามารถตรวจจับข้อมูลแบบไบโอเมตริค biometrics อาทิ คลื่นสมอง อัตราการเต้นของหัวใจ การหายใจ และเหงื่อ สามารถเลือกเพลงอัตโนมัติ และปรับบรรยากาศในห้องโดยสารให้เหมาะกับอารมณ์ในช่วงนั้นๆ