สุขภาพ

รู้หรือไม่บุหรี่ไฟฟ้า 1 แท่ง นิโคตินเท่าบุหรี่ธรรมดา 20 มวน

1 พฤศจิกายน 2566

ปัจจุบันนี้บุหรี่ไฟฟ้ากำลังระบาดในกลุ่มของวัยรุ่น พ่อ แม่ ผู้ปกครองและครูอาจารย์ที่โรงเรียน ควรหมั่นช่วยกันสอดส่องดูแล สังเกตพฤติกรรม เฝ้าระวังการเข้าถึงและการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็ก

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันนี้บุหรี่ไฟฟ้ากำลังระบาดในกลุ่มของวัยรุ่น รวมไปถึงเด็กในช่วงวัยเรียน ที่อาจได้รับอิทธิพลของการปรับปรุงรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ กลิ่น รสชาติของบุหรี่ไฟฟ้าที่กระตุ้นความอยากรู้อยากลองในเด็ก ซึ่งเด็กขาดการไตร่ตรองที่เหมาะสม และเผลอทดลองตามความคึกคะนอง จนส่งผลทำให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพตามมา และมีแนวโน้มที่เด็กจะได้รับผลกระทบทางสุขภาพจากโทษของบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น

บุหรี่ไฟฟ้า เป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่งถูกทำให้น้ำยาในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นไอระเหยด้วยความร้อน  ซึ่งสารนิโคตินเป็นสารเสพติดที่เป็นส่วนผสมในน้ำยาของบุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นการสูบบุหรี่ไฟฟ้าอาจทำให้ติดสารนิโคตินได้

นายแพทย์อัครฐาน  จิตนุยานนท์  ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี  กล่าวเพิ่มเติมว่า บุหรี่ไฟฟ้าหนึ่งแท่งมีปริมาณนิโคตินเท่ากับบุหรี่ทั่วไป จำนวน 20 มวน ส่วนใหญ่กลุ่มผู้สูบจะมีอายุ 15 – 24 ปี ซึ่งในบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินที่ก่อให้เกิดโทษส่งผลต่อสุขภาพของเด็กที่สูบ ได้แก่ ระบบการหายใจ จะเกิดการระคายเคือง ไอ เหนื่อยง่าย มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง หลอดลมอักเสบ โรคมะเร็ง ระบบหลอดเลือดและหัวใจ ภาวะหลอดเลือดแข็ง จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตเพิ่มขึ้น ระบบประสาทและสมอง เซลล์สมองถูกทำลาย อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ความจำลดลง เรียนหนังสือไม่รู้เรื่อง ระบบทางเดินอาหารทำให้เกิดแผลในกระเพาะ คลื่นไส้ อาหารไม่ย่อย กรดไหลย้อนและอาจนำไปสู่โรคมะเร็ง

ไอระเหยนี้มีสารก่อมะเร็งที่ไม่ได้เป็นอันตรายแค่ตัวผู้สูบ  สำหรับผู้ที่อยู่รอบข้างคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเมื่อสูดดมควันเข้าไปสารนิโคตินจะส่งผลในระยะยาวต่อการพัฒนาสมองระบบประสาทและหน่วยความจำโดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่น และการได้รับนิโคตินในสตรีมีครรภ์อาจส่งผลต่อการพัฒนาสมองของทารกในครรภ์

นอกจากนี้สารพิษจากควันบุหรี่อาจตกค้างตามเส้นผม ผิวหนัง เสื้อผ้า ซึ่งผู้ที่สัมผัสสารพิษที่ตกค้างจากควันบุหรี่หรือที่เรียกว่า “บุหรี่มือสาม” อาจเกิดอาการผิวหนังอักเสบได้

“เพื่อป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าของบุตรหลาน  พ่อ แม่ ผู้ปกครองและครูอาจารย์ที่โรงเรียน ควรหมั่นช่วยกันสอดส่องดูแล สังเกตพฤติกรรม เฝ้าระวังการเข้าถึงและการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็ก เตือนถึงโทษภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงเป็นตัวอย่างที่ดีโดยการไม่สูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า ควรเข้มงวดให้บ้านและสถานศึกษาเป็นสถานที่ปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” นายแพทย์อัครฐาน  จิตนุยานนท์  กล่าวสรุป

More read

Tags

  • กรมการแพทย์
  • นิโคติน
  • บุหรี่
  • บุหรี่ไฟฟ้า
  • สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี