สมาคมไทยรับสร้างบ้าน (Thai Home Builders Association:THBA) ประเมินปริมาณและมูลค่า “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศปี 2567 (ไม่ใช่บ้านจัดสรร) คาดปรับตัวลดลงแรงสุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ปริมาณบ้านสร้างเองเมื่อปี 2566 มีมูลค่า 172,000 ล้านบาท แต่ในปี 2567 คาดว่ามูลค่าลดลงเหลือ 131,000 ล้านบาทเศษ หรือลดลง 41,000 ล้านบาทเศษ คิดเป็น 24% โดยเป็นผลมาจาก 5 สาเหตุหลัก ๆ ประกอบด้วย 1.ภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า 2.ปัญหาหนี้ครัวเรือน 3.ธนาคารเข้มงวดปล่อยสินเชื่อ 4.ราคาบ้านปรับตัวสูงขึ้น และ 5.กำลังซื้อผู้บริโภคค่อนข้างซบเซา
สำหรับสัดส่วนมูลค่าตลาด “รับสร้างบ้าน” ทั่วประเทศปี 2567 พบว่าตัวเลขปรับตัวลดลงเช่นกัน (กลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านหรือศูนย์รับสร้างบ้าน) โดยเมื่อปี 2566 ตลาดรับสร้างบ้านมีมูลค่า 18,000 ล้านบาท ทั้งนี้ในปี 2567 มูลค่าตลาดปรับตัวลดลงเหลือ 14,500 ล้านบาท หรือลดลง 20% สำหรับสัดส่วนมูลค่าตลาดที่ลดลงมากที่สุด (ตามลำดับ) แยกตามภูมิภาค 3 ลำดับแรก 1) รับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล 2) รับสร้างบ้านพื้นที่ภาคเหนือ และ 3) รับสร้างบ้านพื้นที่ภาคใต้ โดยสมาคมฯ ประเมินว่าสมาชิกธุรกิจรับสร้างบ้านจาก 2 สมาคม (ส.ไทยรับสร้างบ้าน และ ส.ธุรกิจรับสร้างบ้าน) มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 9,800-10,000 ล้านบาทเศษ หรือคิดเป็น 68% ของมูลค่าตลาดรับสร้างบ้าน และคิดเป็น 8% ของมูลค่าตลาดรวมบ้านสร้างเอง
ในปี 2568 สมาคมฯ คาดการณ์ปริมาณและมูลค่า “บ้านสร้างเอง” ทั่วประเทศ มีแนวโน้มทรงตัวหรือใกล้เคียง เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2567 ที่ผ่านมา คาดว่าบ้านสร้างเองมีมูลค่า 120,000-130,000 ล้านบาทเศษ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญ ๆ ที่ทำให้บ้านสร้างเองยังไม่อาจฟื้นตัวยังคงวนเวียนอยู่กับปัจจัยเดิม ๆ คือ ปัญหาหนี้ครัวเรือน เศรษฐกิจประเทศที่ฟื้นตัวช้าหรือชะลอตัว และกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง ในส่วนของปัจจัยบวกที่อาจจะประคองมิให้ปริมาณบ้านสร้างเองลดลงไปมากกว่านี้ ได้แก่ ต้นทุนวัสดุและราคาบ้านที่ยังทรงตัวหรือราคาไม่สูงขึ้น (เปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา)
ทั้งนี้ในส่วนของปริมาณและมูลค่าตลาด “รับสร้างบ้าน” ในปี 2568 มีแนวโน้มเป็นไปในทิศทางเดียวกัน คาดการณ์มูลค่าตลาดประมาณ 14,000-15,000 ล้านบาทเศษ โดยสมาคมฯ คาดว่าสมาชิก 2 สมาคมจะมีแชร์ส่วนแบ่งตลาดรับสร้างบ้าน 70% (เพิ่มขึ้นเล็กน้อย) หรือคิดเป็นมูลค่า 10,000-10,500 ล้านบาท อย่างไรก็ดีภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านยังคงแข่งขันกันสูงมาก ทั้งตลาดรับสร้างบ้านในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงต่างจังหวัด (Red Ocean) ดังนั้นหากผู้ประกอบการไม่มีการปรับตัวใด ๆ ก็คงแข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้ยากมากขึ้นเรื่อย ๆ หรือต้องออกจากธุรกิจนี้ไป
มองย้อนกลับไปเมื่อ 20 ปีก่อนหรือในช่วงระหว่างปี 2546-2547 ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านเกือบทั้งหมดแข่งขันกันกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล (ไม่นับรวมผู้รับเหมาทั่วไป) โดยตลาดรวมรับสร้างบ้านมีมูลค่า 5,500-6,000 ล้านบาทเศษ ราคาค่าก่อสร้างบ้านโดยเฉลี่ย 7,000-9,000 บาทเศษ/ตารางเมตร ทั้งนี้ภาพรวมธุรกิจรับสร้างบ้านชัดเจนว่ามีการแข่งขันกันรุนแรงมาก หรืออาจเรียกได้ว่าตลาดรับสร้างบ้านในเขตกรุงเทพฯ เป็นเรดโอเชียล (Red Ocean) กระทั่งทำให้ผู้ประกอบการรับสร้างบ้านชั้นนำบางรายต้องปรับตัว เพื่อหนีการแข่งขันที่รุนแรงออกไปบุกเบิกตลาดรับสร้างบ้านในภูมิภาคหรือต่างจังหวัดแทน ในขณะนั้นถือได้ว่าเป็นตลาดเกิดใหม่ (Blue Ocean) และเวลาต่อมาผู้ประกอบการรายอื่นในเขตกรุงเทพฯ ต่างก็เริ่มขยายสาขาออกไปในต่างจังหวัดบ้างเช่นกัน พร้อม ๆ กับการเกิดขึ้นของผู้ประกอบการรายใหม่ในทุกจังหวัดที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน
นิรัญ โพธิ์ศรี นายกสมาคมไทยรับสร้างบ้าน และรองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ปทุมดีไซน์ ดีเวลลอป จำกัด หรือศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ เปิดเผยว่า “ภาวะเศรษฐกิจในประเทศตลอดปี 2567 ฟื้นตัวช้าและกำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง ทำให้ความต้องการสร้างบ้านและใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านของผู้บริโภคลดลง ซึ่งสวนทางกับจำนวนผู้ประกอบการรับสร้างบ้านรายใหม่-รายเก่าที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่ามีจำนวนผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน แข่งขันกันอยู่ในภูมิภาคจังหวัดละไม่น้อยกว่า 15-30 ราย ส่งผลให้ธุรกิจรับสร้างบ้านมีการแข่งขันกันสูงมาก โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในภูมิภาคที่เป็นจังหวัดหัวเมืองหลัก อาทิเช่น เชียงใหม่ เชียงราย นครราชสีมา ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี สงขลา ภูเก็ต ฯลฯ อาจสะท้อนได้ว่าตลาดรับสร้างบ้านในต่างจังหวัด ณ ปัจจุบันกลายเป็นเรดโอเชียล (Red Ocean) แทบไม่ต่างอะไรกับตลาดรับสร้างบ้านพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑลในอดีตที่ผ่านมา
สิทธิพร สุวรรณสุต กรรมการกิตติมศักดิ์ สมาคมไทยรับสร้างบ้าน กล่าวเสริมว่า 20 ปีที่ผ่านมา แม้มูลค่ารวมตลาดรับสร้างบ้านจะสูงขึ้นเท่าตัว เมื่อเปรียบเทียบกับ 20 ปีก่อน หากเป็นการเติบโตในแง่ของค่าก่อสร้างต่อหน่วยหรือมูลค่าต่อหน่วยสูงขึ้น อันเป็นผลมาจากต้นทุนวัสดุและค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอด แต่ในแง่ของปริมาณหรือจำนวนหน่วยตลาดรับสร้างบ้านกลับขยายตัวน้อยกว่า ซึ่งนับเป็นข้อจำกัดของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้ เนื่องจากไม่สามารถเพิ่มจำนวนหน่วยก่อสร้างต่อปีได้มากขึ้น โดยสาเหตุที่สำคัญคือ 1) ขาดการพัฒนาองค์ความรู้และบริหารธุรกิจให้ทันสมัย 2) ขาดการนำเทคโนโลยีก่อสร้างมาใช้พัฒนากระบวนการก่อสร้างและสร้างมูลค่าเพิ่ม และ 3) ไม่ให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์อย่างจริงจังและชัดเจน
“หากกลุ่มธุรกิจรับสร้างบ้านต้องการจะเพิ่มแชร์ส่วนแบ่งจากมูลค่าตลาด “บ้านสร้างเอง” 120,000-130,000 ล้านบาทเศษในปี 2568 และปีต่อ ๆ ไปให้ได้มากกว่า 8% บรรดาผู้ประกอบการและกลุ่มผู้นำธุรกิจก็ควรหันมาให้ความสำคัญกับทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการนำเทคโนโลยีก่อสร้างมาใช้ในกระบวนการก่อสร้างและสร้างมูลค่าเพิ่ม เพื่อจะพัฒนาขีดความสามารถของธุรกิจและลบข้อจำกัดที่มี พร้อม ๆ กับเปลี่ยนมาแข่งขันกันในเชิงคุณภาพมากกว่าแข่งขันราคา ควรสร้างจุดเด่นหรือจุดขายของตัวเองให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคยอมรับและไว้วางใจ”
แอลจี เปิดวิถีสุดล้ำใช้ชีวิตในหนึ่งวันด้วย ‘ความอัจฉริยะที่มีเสน่ห์’
มีไอเดียเด็ดๆ เอามาปล่อยในโครงการ Swift Student Challenge 2025