องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดให้วันพฤหัสบดีที่สองของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นวันไตโลก (World Kidney Day) ซึ่งในปีนี้ตรงกับ วันพฤหัสบดีที่ 14 มีนาคม 2567 สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยได้กำหนดประเด็นวันรณรงค์ คือ “Kidney Health for All – Advancing Equitable Access to Care and Optimal Medication Practice : ครอบคลุมทุกสิทธิ์ พิชิตโรคไต ใส่ใจการใช้ยา” มุ่งเน้นการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการเข้าถึงการบริการที่เท่าเทียม และการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตและชะลอการเสื่อมของไต
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไตเรื้อรัง เป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อที่เป็นปัญหาด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และสูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาจำนวนมาก กรมควบคุมโรครณรงค์ “วันไตโลก” ปี 2567 ขับเคลื่อนการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ประชาชน มุ่งเน้นการเข้าถึงการบริการที่เท่าเทียม การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตที่เหมาะสม รวมถึงให้คำแนะนำการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยขับเคลื่อนผ่านกลไกระดับพื้นที่ สนับสนุนการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วน เพื่อป้องกันโรคไตเรื้อรัง และโรคแทรกซ้อนอื่นๆ
ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ (HDC) ในปี 2566 พบผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง 1,062,756 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2565 มากถึง 85,064 คน จำนวนผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 3 จำนวน 464,420 ราย ระยะ 4 จำนวน 122,363 ราย และระยะที่ 5 ที่ต้องล้างไตมากถึง 70,474 ราย ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่จะต้องให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังเพื่อป้องกันหรือชะลอไม่ให้เกิดโรคไตวายระยะสุดท้าย ด้วยการดูแลรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น หรือน้อยกว่าระยะที่ 4 เพื่อชะลอความเสื่อมของไตให้ได้ผลดี และลดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจและไตวาย ซึ่งการชะลอความเสื่อมของไตทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ลดน้ำหนัก งดสูบบุหรี่ ออกกำลังกาย และหลีกเลี่ยงสารหรือยาที่มีผลเสียต่อไต เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลเพราะผู้ป่วยแต่ละรายอาจมีการจำกัดอาหารบางชนิดที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุและระยะ ของโรคไตเรื้อรัง
กรมควบคุมโรคได้ดำเนินการขับเคลื่อนการป้องกันโรคไตในชุมชนผ่านกลไกระดับพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนสร้างความตระหนักและป้องกันโรคไตเรื้อรังในชุมชนโดยกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) และขับเคลื่อนการดำเนินงานลดบริโภคเกลือและโซเดียม ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ลดการบริโภคโซเดียมในประเทศไทย หรือ SALTS เพื่อสร้างความตระหนักลดการบริโภคเกลือ และโซเดียมเกินในประชาชน
นายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ กล่าวว่า โรคไตเรื้อรังเป็นภาวะแทรกซ้อน ที่พบมากในผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ถ้าควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดหรือความดันโลหิตไม่ดีก็มีโอกาส เป็นโรคไตได้ ดังนั้น การป้องกันโรคไตเรื้อรังทำได้โดยควบคุมระดับน้ำตาลสะสมในเลือดให้คนปกติและผู้ป่วยเบาหวานทั่วไป น้อยกว่า 6.5% ผู้สูงอายุที่ไม่มีโรคร่วม 7 ถึง 7.5% ผู้สูงอายุที่มีโรคร่วม น้อยกว่า 8% รวมทั้งควบคุมระดับความดันโลหิตให้น้อยกว่า 130/80 มิลลิเมตรปรอท ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเน้นรับประทานอาหารเค็มน้อย (เกลือน้อยกว่า 5 กรัมต่อวัน หรือ 1 ช้อนชา) รับประทานยาให้ถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ งดการรับประทานยาชุด ยาแก้ปวด ยาสมุนไพร ต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน
สำหรับผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่มีสิทธิบัตรทองสามารถเลือกวิธีการบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสมได้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่ต้องการเปลี่ยนการล้างไตทางหน้าท้องเป็นการฟอกเลือด หรือผู้ป่วยรายใหม่ที่ต้องการใช้วิธีฟอกเลือด ควรปรึกษาและตัดสินใจร่วมกับแพทย์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน กรมควบคุมโรค โทร. 1422
“หมอนรองกระดูกยื่น” กับ “กระดูกสันหลังเคลื่อน” ปวดหลังเหมือนกัน แต่รักษาต่างกัน