เศรษฐกิจ

พิษเศรษฐกิจ-ค่าก่อสร้างพุ่ง ฉุดตลาดบ้านสร้างเองชะลอตัวสุดรอบ 3 ปี

22 มีนาคม 2567

พีดีเฮ้าส์ เผยตลาดบ้านสร้างเองทั่วประเทศปี 66 ลดลง 14% เทียบกับปีก่อน ขณะที่ตลาดรับสร้างบ้านทั่วประเทศปีเดียวกัน หดตัวแรง 18% จากปีก่อน  คาดแนวโน้มตลาดบ้านสร้างเอง และตลาดรับสร้างบ้านปี 67 ชะลอตัวมากสุดในรอบ 3 ปี ผลกระทบจากเศรษฐกิจซบ ดอกเบี้ยธนาคาร ราคาวัสดุ-ค่าก่อสร้างบ้านพุ่งสูง นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจรัฐบาลที่ไม่ชัดเจน คาดแข่งขันเดือดจากตลาดหดตัว กอปรกับรับสร้างบ้านรายเดิม-รายใหม่-วัสดุก่อสร้างรายใหญ่รุกหนักหวังชิงเค้กส่วนแบ่งตลาด

นายสิทธิพร สุวรรณสุต ประธานกรรมการบริหาร บริษัท พีดี เฮ้าส์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เจ้าของสิทธิ์และผู้บริหารมาตรฐานศูนย์รับสร้างบ้านพีดีเฮ้าส์ เปิดเผยว่าปริมาณและมูลค่าตลาดบ้านสร้างเองทั่วประเทศปี 2566 (มิใช่ บ้านจัดสรร) ชะลอตัวตามที่คาดการณ์ไว้ โดยในปี 2565 ปริมาณและมูลค่าตลาดบ้านสร้างเองอยู่ที่ 2 แสนล้านบาท แต่ในปี 2566 พบว่าตัวเลขมูลค่าตลาดลดลงเหลือ 1.72 แสนล้านบาท หรือลดลงคิดเป็น 14% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน สะท้อนให้เห็นถึงภาวะเศรษฐกิจประเทศที่ซบเซา ส่งผลให้กำลังซื้อและความต้องการสร้างบ้านของประชาชนลดลง

ในส่วนของตลาดรับสร้างบ้านทั่วประเทศ โดยกลุ่มบริษัทรับสร้างบ้านหรือศูนย์รับสร้างบ้าน พบว่าปริมาณและมูลค่าตลาดปรับตัวลดลงไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ในปี 2565 ขนาดตลาดรับสร้างบ้านมีมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท แต่ปรากฎว่าปี 2566 ปรับตัวลดลงเหลือ 1.8 หมื่นล้านบาท หรือลดลงเฉลี่ย 18% เมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน โดยมูลค่าตลาดที่ชะลอตัวและปรับลดลงมากที่สุดตามลำดับได้แก่ พื้นที่กรุงเทพฯ ภาคเหนือ และภาคอีสาน นับเป็นสัดส่วนที่ปรับลดลงมากที่สุดในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา

“สำหรับ พีดีเฮ้าส์ ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ลดลงเช่นกัน จนต้องมีการปรับตัวด้วยการขยายสาขาในพื้นที่ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีก 3 จังหวัด ประกอบด้วย สาขากรุงเทพฯ (ลาดกระบัง) ชัยภูมิ และลพบุรี เพื่อเป็นการสร้างโอกาสและสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด ตลอดจนเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้บริโภคที่ต้องการสร้างบ้านในจังหวัดนั้น ๆ และจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้ถือว่าพอใจเพราะยังคงรักษาเป้ายอดขายบ้านที่ตั้งไว้ได้ สวนทางกับภาวะตลาดที่ซบเซา”

แนวโน้มและทิศทางตลาดบ้านสร้างเองปี 2567 พีดีเฮ้าส์ ประเมินว่ากำลังซื้อและความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคและประชาชนยังคงชะลอตัวต่อเนื่อง โดยปัจจัยที่ส่งผลกระทบสำคัญ ๆ ได้แก่ เศรษฐกิจและการค้าที่ซบเซา อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมธนาคาร ราคาวัสดุก่อสร้างและค่าก่อสร้างบ้านสูงขึ้นมาก ปัญหาค่าครองชีพและภาระหนี้ครัวเรือน ฯลฯ โดยเฉพาะกำลังซื้อผู้บริโภคกลุ่มที่ต้องการสร้างบ้านขนาดเล็กพื้นที่ใช้สอยไม่เกิน 100-120 ตารางเมตร หรือราคาบ้านไม่เกิน 2 ล้านบาท และผู้บริโภคกลุ่มที่ต้องการสร้างบ้านขนาดใหญ่พื้นที่ขนาด 500 ตารางเมตรขึ้นไป หรือราคามากกว่า 10 ล้านบาท คาดว่าจะได้รับผลกระทบและมีสัดส่วนลดลงมากที่สุดในปีนี้ ทั้งนี้ปัญหาหลัก ๆ ได้แก่การฟื้นตัวช้าของเศรษฐกิจประเทศ และนโยบายภาครัฐที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจแต่ไม่ชัดเจนและล่าช้า ซึ่งยังมองไม่เห็นปัจจัยบวกใด ๆ ที่จะสร้างความเชื่อมั่นของประชาชนในการจับจ่ายใช้สอย หรือลงทุนในทรัพย์สินประเภทอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการลงทุนเรื่องบ้านหรือสร้างบ้านเอง

ตลาดรับสร้างบ้านทั่วประเทศปี 2567 คาดว่าความต้องการสร้างบ้านของผู้บริโภคมีแนวโน้มชะลอตัวตามภาวเศรษฐกิจประเทศ โดยเฉพาะกำลังซื้อกลุ่มนักธุรกิจหรือเจ้าของธุรกิจขนาดเล็ก และกลุ่มชาวต่างชาติ ที่ผ่านมา 2 กลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักของตลาดรับสร้างบ้าน แต่คาดว่าในปีนี้กำลังซื้อของ 2 กลุ่มนี้จะมีสัดส่วนลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับปีก่อน ๆ อย่างไรก็ตาม ความต้องการสร้างบ้านและกำลังซื้อที่ลดลง อาจส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการที่แข่งขันอยู่ในตลาดรับสร้างบ้านแตกต่างกันไป เพราะแนวโน้มผู้บริโภคจะนิยมใช้บริการกับผู้ประกอบการรับสร้างบ้าน ที่ประวัติและชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับหรือมีแบรนด์เป็นที่น่าไว้วางใจ มากกว่าจะเลือกผู้ประกอบการที่ขาดความน่าเชื่อถือในการประกอบธุรกิจ นอกจากนี้ในสายตาของผู้บริโภคกลุ่ม Gen X และ Gen Y ยังให้ความสำคัญและสนใจที่จะเลือกใช้บริการกับผู้ประกอบการที่มีจุดยืนทางธุรกิจและจุดขายที่ชัดเจน

“แนวโน้มการแข่งขันตลาดรับสร้างบ้านในปี 2567 พีดีเฮ้าส์ ประเมินว่าการแข่งขันราคาจะรุนแรงในทุกเซกเม้นต์ สาเหตุสำคัญ ๆ เกิดจากขนาดของตลาดรับสร้างบ้านที่หดตัว และการเข้ามาแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก ตลอดจนการขยายสาขาหรือตลาดในพื้นที่ใหม่ ๆ ของรายเดิม โดยเฉพาะตลาดรับสร้างบ้านในพื้นที่ภาคอีสาน คาดว่าจะแข่งขันกันรุนแรงจากทั้ง 2 ปัจจัยข้างต้น นอกจากนี้ การเริ่มรุกหนักตลาดรับสร้างบ้านของเอสซีจีในฐานะผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างรายใหญ่ อาจทำให้การแข่งขันในปีนี้ร้อนแรงขึ้นกว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ทั้งนั้นหากผู้ประกอบการรายเดิม ๆ และรายใหม่ที่แข่งขันอยู่ในธุรกิจนี้ไม่ปรับตัวอาจแข่งขันลำบากและยากมากขึ้น” นายสิทธิพร สุวรรณสุต กล่าวสรุป