สุขภาพ

สำรวจลูกน้ำยุงลาย ส่งข้อมูลเรียลไทม์ผ่านแอปฯ

15 มิถุนายน 2565

เรามีคุณมาดีลงพื้นที่สำรวจข้อมูลทำสำมะโนประชากร ลูกน้ำยุงลายก็มี อสม.ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลเหมือนกัน แถมยังมีการพัฒนาฟีเจอร์รายงานการสำรวจลูกน้ำยุงลายโดยเฉพาะด้วย

สายชล ทรัพย์มากอุดม หัวหน้าฝ่ายงานประชาสัมพันธ์ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส  เล่าให้ฟังว่า ฟีเจอร์รายงานสำรวจลูกน้ำยุงลายได้ถูกเพิ่มขึ้นบนแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ในปี 2562 และตลอด 3 ปีที่ผ่านมา มีครัวเรือนในประเทศไทยที่ได้รับการสำรวจลูกน้ำยุงลายและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์แล้วกว่า 5 ล้านหลังคาเรือน และได้มีการสำรวจลูกน้ำยุงลายไปแล้วมากกว่า 1 ร้อยล้านครั้ง

การสำรวจลูกน้ำยุงลาย เจ้าหน้าที่อสม.จะลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลทั้งจำนวนบ้าน ลูกน้ำ ภาชนะ รวมถึงค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายที่พบในชุมชนและในบ้าน ส่งต่อไปยังโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อใช้ในการสรุปผลและติดตามการแพร่ระบาดในพื้นที่อย่างใกล้ชิด

โรคไข้เลือดออก ไม่ได้เป็นปัญหาสาธารณสุขเฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย เนื่องจากเป็นประเทศที่อยู่ในเขตร้อนชื้น ดังนั้น 10 ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จึงได้ลงมติร่วมกันให้ทุกวันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปีเป็น “วันไข้เลือดออกอาเซียน” ( ASEAN Dengue Day) เพื่อร่วมกันรณรงค์ป้องกันการแพร่ระบาดโรคไข้เลือดออก

สำหรับในประเทศไทยโรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่ระบาดอย่างต่อเนื่องมากว่า 70 ปี โดยการระบาดจะเริ่มต้นในช่วงฤดูฝนหรือตั้งแต่เดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 สถานการณ์โรคไข้เลือดออกลดลงอย่างต่อเนื่อง  โดยปี 64 ลดลง 80%  จากปี 63 และนับตั้งแต่ 1 ม.ค. จนถึง  8 มิ.ย. 65 พบว่ามีผู้ป่วยสะสม 3,386 ราย เมื่อเทียบในช่วงเดียวกันกับในปี 64 จะเห็นได้ว่ามียอดผู้ป่วยสะสมลดลง 21%

แต่ในเดือน เม.ย.และ พ.ค. ที่ผ่านมายอดผู้ป่วยสะสมเริ่มขยับเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับธรรมชาติของโรคไข้เลือดออกจะไม่ได้ระบาดหนักทุกปี เนื่องจากผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกัน 2-3 ปี และครั้งสุดท้ายที่ระบาดหนักคือปี 62 จึงมีการคาดการณ์กันว่าปีนี้อาจจะเกิดการระบาดหนัก สอดคล้องกับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศอาเซียนที่ปี 64 ลดลงกว่า 80% และปีนี้การระบาดก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อย่างสิงคโปร์ก็พบการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นกว่า 155%

ดร.พญ.ฉันทนา ผดุงทศ ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อนำโดยแมลง กรมควบคุมโรค กล่าวว่า “ฟีเจอร์การสำรวจลูกน้ำยุงลายทำให้เกิดการเตือนภัย การป้องกัน ควบคุมไข้เลือดออกที่มีประสิทธิภาพสูง วันนี้กรมควบคุมโรคได้ใช้ประโยชน์ในการนําข้อมูลไปวิเคราะห์ร่วมกับจํานวนผู้ป่วยในพื้นที่ เพื่อคาดการณ์การเกิดการระบาดในพื้นที่ โดยแบ่งพื้นที่เสี่ยงสูง เสี่ยงปานกลาง และเสี่ยงต่ำ และนําไปใช้ในการเฝ้าระวัง ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรค เพื่อแจ้งเตือนพื้นที่และแจ้งเตือนประชาชนถึงพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ในอนาคตทางกรมฯ ได้วางแผนที่จะใช้ข้อมูลผลสํารวจลูกน้ำยุงลายจากแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ ไปวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา เช่น ปริมาณน้ำฝน ความชื้น เพื่อใช้ในการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงของโรคไข้เลือดออกที่แม่นยํามากขึ้น”

Share
Related