สุขภาพ

3 ปัจจัยเสี่ยง “มะเร็งรังไข่” ที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

7 พฤษภาคม 2566

มะเร็งรังไข่ เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับแปดในผู้หญิงทั่วโลก และพบเป็นอันดับสองรองลงมาจากมะเร็งปากมดลูกในผู้หญิงไทย โดยในปี 2563 มีผู้ป่วยรายใหม่ทั่วโลกที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งรังไข่กว่า 314,000 ราย และเสียชีวิตเกือบ 207,000 ราย

Doctor holding Uterus and Ovaries model. Ovarian and Cervical cancer, Cervix disorder, Endometriosis, Hysterectomy, Uterine fibroids, Reproductive system and Pregnancy concept

มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2583 จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นถึง 42% เป็นผู้ป่วยรายใหม่ที่ได้รับการวินิจฉัย 445,000 ราย และเสียชีวิตถึง 314,000 ราย เนื่องจากส่วนใหญ่ผู้ป่วยมะเร็งรังไข่จะได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกคือประมาณ 7 เดือน หลังเริ่มแสดงอาการ ซึ่งหมายความว่า มีผู้หญิงจำนวนมากที่เข้าพบแพทย์ในระยะท้ายที่มะเร็งลุกลามมากแล้ว เนื่องจากขาดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอาการต่างๆ ที่เป็นสัญญาณเตือนเบื้องต้น จึงคิดว่าเป็นอาการผิดปกติที่ไม่รุนแรง

เนื่องในโอกาสวันมะเร็งรังไข่สากล (World Ovarian Cancer Day) โครงการ We Care โดย แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย จึงได้นำเสนอความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งรังไข่และปัจจัยเสี่ยง รวมถึงเน้นย้ำ 3 เรื่องที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ถึงความสำคัญของการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะแรกเริ่ม เพื่อผลลัพธ์ในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ เพราะมะเร็งรู้เร็ว รักษาได้

อย่ามองข้ามอาการบ่งชี้และสัญญาณเตือนมะเร็งรังไข่ อาการที่เป็นสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งรังไข่ ได้แก่ อาการท้องอืด ท้องเฟ้อ แน่นท้อง  จากการที่ในท้องมีน้ำหรือก้อนเนื้องอกขนาดใหญ่ อาการปวดท้องน้อย และมีประจำเดือนผิดปกติ อาการปวดท้อง อิ่มเร็ว เบื่ออาหาร ปัสสาวะบ่อย อั้นปัสสาวะไม่อยู่7-9 หรือท้องผูก ซึ่งเกิดจากการที่ก้อนมะเร็งอาจไปเบียดกระเพาะปัสสาวะ ลำไส้เล็กหรือลำไส้ใหญ่ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากอาการดังกล่าวไม่จำเพาะกับโรคใดโรคหนึ่ง จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่อาจยังไม่ตัดสินใจเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินเพิ่มเติม จนได้รับการรักษาล่าช้าในท้ายที่สุด ซึ่งนำไปสู่การที่ภาวะมะเร็งลุกลามมากขึ้น หรือในผู้ป่วยบางรายอาจไม่แสดงอาการของโรคเลย นอกจากจะตรวจพบความผิดปกติจากการตรวจภายใน หรือการตรวจร่างกายทั่วไป

อย่ามองข้ามปัจจัยเสี่ยงมะเร็งรังไข่ หากใครที่มีสมาชิกในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคมะเร็งรังไข่ มะเร็งเต้านม มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก  ถือว่ามีปัจจัยเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป โดยโรคมะเร็งรังไข่นั้นไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในผู้หญิงที่มีอายุมากเท่านั้น แต่หากผู้ป่วยมีประวัติเป็นโรคมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 40 ปี หรือสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคมะเร็งที่กล่าวมาข้างต้นก่อนอายุ 50 ปี ควรเข้ารับการปรึกษากับสูตินรีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ให้คำปรึกษาทางพันธุศาสตร์

นอกจากนี้ การมีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปีหรือเร็วกว่าปกติ ผู้ที่ยังไม่เคยตั้งครรภ์ คลอดบุตร หรืออยู่ในภาวะมีบุตรยาก ผู้ที่คลอดบุตรคนแรกหลังอายุ 30 ปี ผู้ที่หมดประจำเดือนช้ากว่า 55 ปี ก็นับเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ไม่ควรมองข้ามเช่นกัน

อย่ามองข้ามความสำคัญของการเข้ารับการวินิจฉัยมะเร็งรังไข่ตั้งแต่แรกเริ่ม มะเร็ง รู้ไว รักษาได้ ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการหมั่นสังเกตอาการบ่งชี้หรือสัญญาณเตือนของโรคมะเร็งรังไข่อย่างสม่ำเสมอ หากเกิดอาการสักระยะหนึ่งแล้ว และเกิดขึ้นมากกว่า 12 ครั้งต่อเดือน ควรรีบพบแพทย์ พร้อมทั้งแจ้งประวัติครอบครัวที่อาจมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งรังไข่ เพื่อให้แน่ใจได้ว่าจะได้รับการวินิจฉัยอย่างรวดเร็วและสามารถรักษาได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ หากได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่ระยะเริ่มต้น  ก็จะมีอัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น

ทั้งนี้ การตรวจสุขภาพประจำปีโดยเฉพาะทางด้านนรีเวชถือเป็นสิ่งที่สำคัญ ในการช่วยลดความเสี่ยงการตรวจพบโรคมะเร็งรังไข่ในระยะรุนแรงได้ นอกจากนี้การเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ และควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรงอยู่เสมอ