ธรรมะสำหรับวัยเกษียณ
เรื่องนี้อยากเล่าให้ฟัง เพราะไม่คิดเลยว่า จะนั่งฟังธรรมแบบนิ่ง ๆ ได้จนจบ
วันก่อนมีโอกาสไปฟังการสนทนาธรรมกับพี่ๆ สาธิตเกษตรฯรุ่น 6 ธรรมะสำหรับวัยเกษียณ ซึ่งนิมนต์เพื่อนร่วมรุ่น ผู้ถือครองเพศบรรพชิตมาเนิ่นนาน
พระกฤช นิมมโล ท่านจำพรรษาอยู่ที่สวนธรรมประสานสุข อ.ศรีราชา ชลบุรี มาเทศน์ให้โยมเพื่อนวัยเด็ก ซึ่งปัจจุบันส่วนใหญ่อยู่ในวัยใกล้เกษียณอายุจากงานประจำกันแล้ว
พระกฤช ท่านเริ่มต้นด้วยการทักทายเพื่อนวัยเด็กด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส มองหน้าพระกฤช แล้วหันไปมองเพื่อนร่วมรุ่นของท่าน พบว่า พระมีหน้าตาผ่องใสอ่อนวัยกว่าเพื่อนๆ …. ธรรมะดีแบบนี้นี่เอง
จะสรุปการสนทนาธรรมระหว่างพระกฤชกับโยมเพื่อนให้อ่าน ซึ่งเป็นคำแนะนำที่มีประโยชน์ ล้วนแต่เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นธรรมะแบบเข้าใจง่ายๆ ทำได้ง่ายๆ
งานที่ทำก่อนเกษียณ
พระกฤช บอกว่า งานประจำที่ทำกันมาหลายสิบปี เป็นงานการที่ใช้หาเลี้ยงชีวิตและครอบครัว ส่วนงานที่เลือกทำหลังเกษียณ เป็นงานที่ทำเพื่อตัวเอง งานที่เลือกได้ เป็นอิสระ
วัยนี้ ระหว่างทำงานก็ภาวนา ให้รู้สึกตัวเอง ชีวิตประกอบด้วยรูปธรรม นามธรรม ระหว่างภาวนา ให้รู้สึกได้จากกายใจไม่เผลอ
วัยเกษียณเตรียมตัวเดินทางไกล
ต้องเตรียมตัวเดินทาง ทำอย่างไรให้มั่นใจว่า จากไปอย่างสงบ ตอนนี้ยังมีเวลามากพอที่จะเตรียมตัวเดินทางต่อ ไม่ต้องกลัวตาย คนที่กลัวตายมักจะเป็นคนไม่เตรียมตัว คนที่เตรียมไปต่อจะทำบุญ เพื่อไปต่อ
“ในความรู้สึก คนก็จะบอกว่า เทวดา สบายที่สุด แต่เทวดา ใช้ชีวิตสุขสบายจนลืมต่อบุญ ส่วนมนุษย์สุขก็สุขไม่มาก ทุกข์ก็ทุกข์ไม่มาก แต่เป็นคนดีกว่า มีสติ มีกายหยาบเครื่องเตือนใจ ว่าชีวิตอยู่ได้ไม่นาน มีเกิด แก่ เจ็บ ตาย เทวดา กายทิพย์อายุยืน ขาดตัวกระตุ้นให้ไม่ประมาท ใจที่สงบทำให้มีกำลัง เป็นพลังจิตให้ใจมีพลังสำหรับเห็นความจริง มีสติ รู้ตัวไม่คาดหวังจะเห็นความจริง
อย่ากลัวที่จะไปเผชิญโลก ไปพบเจอผู้คนบ้าง
คนวัยเกษียณ ควรมีความพอดี อย่ากลัวที่จะออกไปเผชิญโลก ไปพบเจอผู้คน เราสวดมนต์ภาวนาเพื่อให้เห็นความจริง แต่ไม่งมงาย
เราสามารถเริ่มต้นการภาวนาง่ายๆ คือ สวดมนต์ ระหว่างสวดมนต์ อาจจะมีเผลอ ไม่ต้องกลัว แต่ต้องรู้ตัวเอง เมื่อเผลอไปแล้วต้องรู้ทันแล้วกลับมา สวดมนต์ผิดก็เป็นเรื่องปกติ ขอแค่ให้รู้สติกลับมาเริ่มต้นใหม่
คำถามวัยเกษียณควรสวดมนต์บทไหน
พระกฤช ท่านว่า เอาที่สะดวก ที่ศรัทธา เหมือนใส่บาตรพระ ก็ให้ทำในสิ่งที่เราศรัทธา สำหรับการสวดมนต์ท่านแนะนำบทสวดอิติปิโส 9 จบ ซึ่งท่านสวดกับโยมแม่ทุกคืน
ทำไมต้อง 9 จบ พระกฤช บอกว่า เป็นระยะเวลาที่กำลังพอดี ไม่ทำให้รู้สึกเบื่อ ถ้าสวดอิติปิโสเท่าอายุ สำหรับคนวัยนี้น่าจะเบื่อก่อน
ลองทำดู
เมื่อกลับมาบ้าน คืนนั้นก็เลยสวดอิติปิโส 9 จบก่อนนอน ปกติก็สวดนะโมตัสสะ ก่อนนอนทุกคืนอยู่แล้วตื่นตอนเช้าไปออกกำลังกาย จากที่เปิดเพลง ก็ลองเปลี่ยนมาเปิดบทสวดมนต์แล้วเดินและวิ่ง ก็พบว่าไปด้วยกันได้ บางทีก็เปิดเพลงสลับ
จริงๆแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไร เราสามารถนำหลักธรรมเข้ามาใช้ในชีวิตประจำวันได้ เหมือนที่พระกฤชท่านว่า จะทำอะไรก็ขอให้รู้สติ จะเผลอไปบ้างไม่ใช่เรื่องผิด ขอแค่ให้รู้ตัวก็รีบดึงกลับมา
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง
เด็กบ้านช้าง เตือนเพื่อนวัยใส ใช้ปลั๊กและสวิตช์อย่างไร ให้ปลอดภัย
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้