เทคโนโลยี

ภัยไซเบอร์พุ่งMFECแนะองค์กรรัฐ-เอกชนยกระดับเทคโนโลยี

26 กันยายน 2567

ภัยไซเบอร์พุ่งMFECแนะองค์กรรัฐ-เอกชนยกระดับเทคโนโลยี

MFEC ตั้งเป้าปี 67 รายได้กลุ่มธุรกิจ 6,734 ล้าน จากการเติบโตของไซเบอร์ซิเคียวริตี้ 25%  แนะองค์กรเสริมแกร่งแรงงานดิจิทัลไทยสู้ภัยไซเบอร์

  บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด หรือ MFEC ผู้เชี่ยวชาญด้านโซลูชันไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ได้จัดงานเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์  MFEC Cyber Sec Pro 2: The cybersecurity bridge between digital world and human  ร่วมกับพันธมิตรระดับโลก ณ โรงแรมอีสติน แกรนด์ พญาไท

ภายในงาน MFEC ได้แนะนำองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและระบบ Generative AI ควบคู่ไปกับการวางแผนกลยุทธ์ในการยกระดับแรงงานดิจิทัล (Digital workforce) เพื่อเพิ่มเสถียรภาพความปลอดภัยทางไซเบอร์ให้มีประสิทธิภาพและยั่งยืนมากขึ้น

สำหรับ MFEC  ตั้งเป้า ในปี 2567 ภาพรวมกลุ่มธุรกิจ MFEC จะมีรายได้เติบโตเฉลี่ยทบต้นต่อปี (CAGR) 11.4% จากปีที่ผ่านมา หรือมีรายได้ 6,734 ล้านบาท จากการเติบโตของกลุ่มไซเบอร์ซิเคียวริตี้

ความเสียหายจากภัยไซเบอร์  

ที่ผ่านมาตลาดไซเบอร์ซีเคียวริตี้ในไทยปี 2567 เติบโต 1.4 หมื่นล้านบาท  จากแนวโน้มภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่เพิ่มมากขึ้นและจากความ ท้าทายรูปแบบใหม่ที่เพิ่มต่อเนื่อง สร้างความเสียหายรุนแรง อีกทั้งเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคเศรษกิจและสังคมดิจิทัล   เป็นปัจจัยผลักดันให้องค์กรหาโซลูชันที่มีประสิทธิภาพ  และเปลี่ยนมาใช้กลยุทธ์การตอบโต้เชิงรุกในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันและป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์

  ข้อมูลการวิจัยของ Cybersecurity Ventures  องค์กรชั้นนำด้านการวิจัยและเก็บรวบรวมสถิติด้านเศรษฐกิจและไซเบอร์ซีเคียวริตี้โลก คาดการณ์ว่า ความเสียหายที่เกิดจากอาชญากรรมทางไซเบอร์อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกถึง 9.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีในปี 2567 และอาจสูงขึ้นถึง 10.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีภายในปี 25682

ในขณะที่ข้อมูลจาก Krungthai COMPASS  ระบุว่า การประเมินมูลค่าการลงทุนด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของไทยจากปี 2565 คาดว่าจะเติบโตทบต้นต่อปี (CAGR) 13% ไปอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาทในปี 2568 ทำให้รายได้รวมของอุตสาหกรรมระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของไทยเพิ่มขึ้นจาก   4.4 พันล้านบาทในปี 2565 พุ่งขึ้นเป็น 6.3 พันล้านบาทในปี 2568 หรือมีอัตราเติบโตเฉลี่ยทบต้นต่อปี (CAGR) 12.3%

ธุรกิจให้บริการติดตั้งระบบไซเบอร์ซีเคียวริตี้มีอัตราการเติบโตที่โดดเด่น  คาดว่า อัตราการเติบโตของตลาดและมูลค่าการลงทุนด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายที่องค์กรต้องเผชิญ และการตระหนักถึงความสำคัญของการลงทุนด้านไซเบอร์ซิเคียวริตี้ในยุคที่ความปลอดภัยของข้อมูลในองค์กรถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

Gen AI มีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ 

นายดำรงศักดิ์ รีตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า  เทคโนโลยีและระบบ Gen AI เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในธุรกิจไซเบอร์ซีเคียวริตี้ ทั้งการวิเคราะห์ข้อมูล ค้นหาความผิดปกติในระบบ และปรับรูปแบบการใช้งานให้เหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการโจมตี

การนำ Gen AI มาใช้เพื่อต่อกรกับภัยไซเบอร์เป็นการช่วยผ่อนแรงมากกว่าการมาแทนที่ เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ด้านความปลอดภัย ซึ่งต้องอาศัยการตัดสินใจในหลากหลายมิติ ทั้งความถูกต้อง จริยธรรม ข้อบังคับ และผลเสียหายทางธุรกิจ ยังจำเป็นต้องใช้มนุษย์ในการตัดสินใจอยู่ การใช้เทคโนโลยีไซเบอร์ซิเคียวริตี้ และ Gen AI เพื่อการป้องกันภัยเชิงรุกอย่างมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการลงทุนในทักษะและความรู้ของบุคลากรทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง คือวิธีที่จะก้าวนำหน้าอาชญากรไซเบอร์ที่มีความซับซ้อนมากขึ้น

  ทั้งนี้  MFEC มี Cybersecurity Engineer กว่า 120 คน  กำลังวางแผนจะขยายตลาดและเติบโตในธุรกิจนี้ผ่านการเพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มองค์กรขนาดกลาง (Mid-size) มากขึ้น รวมถึงการให้บริการแบบ Managed Service ครบวงจร เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากภาครัฐและเอกชน

ผู้เขียน
ปรารถนา ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเทคโนโลยี