จากความโดดเด่นของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล หรือ มทร. ทั้งด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์สุขภาพ และด้านสังคม
ทั้งยังมีพื้นที่ทำงานครอบคลุมประเทศไทยมากที่สุด
ทำให้ปีนี้ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงกับมทร. ทั้ง 9 แห่ง เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่
งานวิจัยลงสู่ชุมชนขยายผลเชิงพาณิชย์
การลงนามบันทึกข้อตกลงความเข้าใจดังกล่าว มีระยะเวลา 3 ปี ทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันขับเคลื่อนนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อพัฒนาพื้นที่ (Appropriate Technology) ประยุกต์ใช้และขยายผลนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม จากผลงานของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล
เน้นช่วยเหลือกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ คนจนฐานราก เกษตรกรรายย่อย กลุ่มอาชีพ ผู้ประกอบการในพื้นที่ ตลอดจนการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ รวมทั้งพัฒนากลไกถ่ายทอดและบริการเทคโนโลยีสู่ชุมชน เพื่อเสริมสร้าง Ecosystem ที่พร้อมให้บริการกลุ่มเป้าหมาย
จัดตั้งหน่วยธุรกิจ (Business Unit) ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ให้เกิดการลงทุนสำหรับนำผลงานวิจัยที่เป็น Appropriate Technology ไปสู่การขยายผลทางธุรกิจและเกิดประโยชน์ในเชิงพาณิชย์
เปลี่ยนจากขึ้นหิ้งเป็นขึ้นห้างสร้างรายได้
เป็นนโยบายและยุทธศาสตร์กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้วยเศรษฐกิจสร้างคุณค่า และพร้อมก้าวสู่อนาคต” โดยผลักดันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากงานวิจัยได้
เปลี่ยนจากงาน “งานวิจัยขึ้นหิ้ง”เป็น “งานวิจัยขึ้นห้าง” ส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมพร้อมใช้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมของมหาวิทยาลัยในพื้นที่ เพื่อช่วยเหลือชุมชนพื้นที่ทั่วประเทศ
ได้งบประมาณจากกองทุน ววน. ซึ่งมุ่งเน้นการทำงานบนฐานงานวิจัยในการแก้ปัญหาสำคัญเร่งด่วน ใน 3 มิติ ทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ภายใน 2 ปี โดยขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เบื้องต้น 8 เป้าหมายสำคัญและเร่งด่วน
ด้านเศรษฐกิจ ต้องส่งเสริมให้ครัวเรือนในชนบทและครัวเรือนเกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม โดยตั้งเป้าหมาย 12,000 ครัวเรือนภายใน 2 ปี รายได้สุทธิของครัวเรือนในชนบทเพิ่มขึ้นครัวเรือนละ 5,000 บาทต่อเดือน (ปีละ 60,000 บาทต่อครัวเรือน) ผ่านสร้างกลไกการขยายผลงานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ และพัฒนานวัตกรชุมชนต้นแบบเพื่อเป็นตัวกลางในการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ผ่านหน่วยงานกลุ่มเกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และภาครัฐที่เกี่ยวข้อง
เครือข่าย มทร.9 แห่งทั่วไทย
หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ หรือ บพท. ร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ประกอบด้วย 1. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ 2. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก 3. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี 4. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร 5. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ 6. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา 7. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย 8. มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และ 9.มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน
รองศาสตราจารย์ ดร.อุดมวิทย์ ไชยสกุลเกียรติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ประธานอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ.มทร.) กล่าวว่า เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ทั้ง 9 แห่ง มีวิทยาเขต 24 จังหวัด ใน 4 ภูมิภาค พื้นที่บริการครอบคลุม 40 จังหวัด
ปีที่แล้ว ได้พัฒนาคลังข้อมูลเทคโนโลยีในรูปแบบ Technology and Innovation Library ซึ่งขณะนี้มีจำนวนถึง 387 เทคโนโลยี ตอบโจทย์ความต้องการของพื้นที่ ช่วยแก้ไขปัญหา และสร้างโอกาสแก่ชุมชน
ดังนั้น ความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการยกระดับงานบริการเชิงสังคมสู่การเป็น “ศูนย์ถ่ายทอดองค์ความรู้แบบครบวงจร” ในด้านต่าง ๆ เช่น ศูนย์ถ่ายทอดด้านเทคโนโลยี การเป็นโรงงานต้นแบบที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัย ระบบการผลิตเชิงอุตสาหกรรมชุมชน เป็นต้น เพื่อให้นักศึกษาหรือผู้สนใจเข้ามาฝึกงานสู่การยกระดับฝีมือแรงงานให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ชอปปิงงานวิจัยพร้อมใช้ราคาเริ่มต้นจ่ายแค่หลักหมื่น
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วย บพท. กล่าวว่า การผลักดันให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ มีปัจจัยเกื้อหนุน หลัก ๆ คือ
ต้องมีเทคโนโลยีชาวบ้านที่หลากหลาย ไม่ซับซ้อน ปรับการใช้งานที่สอดคล้องตามภูมิสังคม
ต้องมีเครือข่ายที่เข้ามาร่วมมือกันพัฒนาในทุกๆ ด้าน ทั้งฝีมือและผลิตภัณฑ์เพื่อยกระดับคนทำงานให้เป็นนวัตกรชุมชนและสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็ง
หากผู้ประกอบการในพื้นที่พบงานวิจัยที่เหมาะสมและต้องการนำไปใช้ ก็จะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้น 50,000 บาทขึ้นไป
ไม่ใช่เพียงแค่ใช้งานวิจัย แต่จะมีทีมวิจัยไปวิเคราะห์ความต้องการ ดูความเป็นได้ จับคู่กับเครือข่ายมหาวิทยาลัย รวมถึงต้องมีตลาดรองรับ
จุดประสงค์ก็เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้เพิ่ม เกิดความยั่งยืนและสามารถอยู่ต่อได้ด้วยตัวเอง
บพท.ทำงานนี้มา 5 ปีแล้ว มีงานวิจัยนำไปใช้แล้วก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย เช่น เครื่องหั่นปลา สำหรับใช้ในการแปรรูปสัตว์น้ำของวิสาหกิจชุมชน การผลิตเห็ดชุมชน รูปแบบการบริหารจัดการน้ำ เป็นต้น
ส่วนในงานลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ มทร.ทั้ง 9 แห่งได้นำผลงานวิจัยที่มีทั้งผลิตในเชิงพาณิชย์แล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการ มาจัดนิทรรศการ เช่น การแปรรูปถั่วเหลือผงและถั่วแระญี่ปุ่นผง ผ้าทอมือจากเส้นใยใบอ้อยผสมเส้นใยฝ้ายตกแต่งที่มีคุณสมบัติสะท้อนน้ำ นวัตกรรมเส้นใยจากผักตบชวา และนวัตกรรมเลี้ยงหอยรางรม (ระบบทุ่นลอยน้ำ)
บรรณาธิการเทคโนโลยี
“ซอสมังคุด” ใช้งานวิจัยเปลี่ยนกากและเม็ดเป็นซอสอร่อยสารพัดจิ้ม
ผัดกะเพรายืนหนึ่งเมนูสตรีทฟู้ดยอดฮิตแห่งปี 2567 บน foodpanda