เทคโนโลยี

ไอเดียพลิกโฉมอารีย์ ให้เป็นย่านนวัตกรรมฉลาดรู้

21 กันยายน 2566

ไอเดียพลิกโฉมอารีย์ ให้เป็นย่านนวัตกรรมฉลาดรู้

ย่านอารีย์ ทั้งซอยอารีย์ ซอยราชครู  ต่างมีประวัติศาสตร์อันยาวนาน  โดยเฉพาะซอยราชครู เป็นบ้านของพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีผู้โด่งดัง

ในอดีตทั้งบริเวณซอยอารีย์ ซอยราชครู  เป็นพื้นที่ร่องสวน  เป็นย่านชานเมือง  มีถนนพหลโยธิน ซึ่งเป็นถนนสายประธานของประเทศ  มาบรรจบรอยต่อเมืองที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ

เดิมนั้น ย่านอารีย์ มีการจัดสรรที่ดินขาย  ผู้ซื้อปลูกสร้างบ้านเอง  บางแปลงเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่ 1-2 ไร่  บางแปลงซอยย่อย เป็นบล็อก 100-200 ตรว.

คล้าย กับถนนสีลม สาทร  แต่ย่านสีลม มีแปลงที่ดินขนาดใหญ่มาก จึงกลายเป็นย่านธุรกิจที่สร้างตึกสูง ได้

สำหรับย่านอารีย์ ก็มีโอกาสพัฒนาที่ดินไปสู่ย่านธุรกิจค่อนข้างสูง

ซอยอารีย์กำลังเป็นดั่งซอยทองหล่อ

รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาวะเมือง ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย   ซึ่งเติบโตมาในซอยอารีย์สัมพันธ์ เล่าให้ฟังว่า  คนรุ่นใหม่อาจจะไม่รู้ว่า  ที่ตั้งตึกเพิร์ล เดิมคือบ้านของพลตำรวจเอกประมาณ อดิเรกสาร   อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ   รัฐมนตรีช่วย หลายกระทรวง   

การมาของรถไฟฟ้าทำให้ย่านอารีย์เปลี่ยนไป   เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดการใช้ประโยชน์ที่ดิน

ปัจจุบันเปรียบกันว่า  ย่านอารีย์เป็นดั่งย่านทองหล่อ เป็นพื้นที่กินดื่มสำหรับผู้มีรายได้ค่อนข้างสูง

ผู้อยู่อาศัยและย่านธุรกิจจึงต้องประสานกัน เพื่ออยู่ร่วมกัน

รศ.ดร.พนิต ภู่จินดา  บอกว่า   พื้นที่ให้เช่า และขาย ประเภทอาคารสำนักงาน   หากเป็นสำนักงานเกรดเอ และ เอบวกนั้นรอด  ผู้ประกอบการรายใหญ่ ต้องการซื้อและเช่า แต่อาคารสำนักงานเกรดบีลงมานั้น ไม่รอด  เพราะผู้คนกำลังมองหาอาคารสำนักงานที่ทันสมัย  มีไวไฟ  มีลิฟท์รุ่นใหม่  มีระบบประหยัดพลังงาน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม   ซึ่งอาคารเก่าทำไม่ได้ เพราะไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เป็นแบบนั้น

หลักการนี้ทำให้พื้นที่เปิดใหม่ เช่น ย่านอารีย์  เป็นพื้นที่ มีความต้องการสูง แต่ต้องมีนวัตกรรม มีการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดี   พื้นที่ทำงาน และพื้นที่อยู่อาศัย มาในลักษณะ Mix use

ย่านนวัตกรรมจะเปลี่ยนชีวิตให้ดีขึ้นได้อย่างไร

ศานนท์ หวังสร้างบุญ    รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  บอกว่า  เมื่อมาย่านอารีย์จะคิดถึง The Yard  Hostel   ย่านอารีย์มีองค์ประกอบดี มีกลุ่มคนเข้ามาเปิดร้านธุรกิจเล็ก มากมาย  หลายธุรกิจอาจจะเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและการหมุนเวียนของผู้คน

นโยบาย ซิตี้แล็บของ กทม.  ต้องการมุมมองใหม่ เพื่อดึงอัตลักษณ์ของแต่ละย่าน ให้ดูแตกต่างกัน   เมืองจะไม่มีประโยชน์ หากทุกย่านเหมือนกัน   ย่านอารีย์ จึงเหมือนสถานที่ทดลอง   ต้องทำให้แตกต่าง

หัวใจคือ คนในย่านนั้น   ในซอยอารีย์มีหลายมิติ  มีการรวมกลุ่ม  เห็นคุณค่า มีความพร้อมในแง่ของคน  แม้ กทม.จะมีปัญหามาก ปัญหาซ้ำ

หากย่านอารีย์มีแชร์ริ่งเกี่ยวกับการเดินทาง  ทดลองทำแล้วประสบความสำเร็จ  ก็จะสามารถขยายไปยังย่านอื่นได้   แม้แต่ด้านสิ่งแวดล้อม ย่านอารีย์ก็เริ่มทำก่อน   นโยบายของผู้ว่าฯ พยายามทำให้แต่ละเขตลดปริมาณขยะ   ยังมีหลายพื้นที่รถขยะเข้าไม่ถึง เพราะเป็นซอยแคบ  โดยเฉพาะฝั่งธนบุรี  หากการทดลองในเชิงพื้นที่ประสบผลสำเร็จ อาจจะมีโมเดลใหม่ๆ สำหรับการเก็บขยะ  การเดินทาง ฯลฯ    นายศานนท์ กล่าว

แม้แต่การอยู่อาศัยซึ่งเปลี่ยนรูปแบบ  คนรุ่นใหม่ไม่ซื้อบ้าน จะใช้วิธีเช่า  แต่ปัจจุบัน ยังไม่มีใครทำที่อยู่อาศัยในลักษณะการแชร์ริ่ง ตามที่คนรุ่นใหม่ต้องการ  จึงเห็นภาพการรวมกลุ่มกันเช่าคอนโดในพื้นที่ขนาดใหญ่

อีโคซิสเต็มทำให้เกิดนวัตกรรมในพื้นที่

ชาญวิทย์  รัตนราศรี ผู้อำนวยการฝ่ายโครงสร้างพื้นฐานนวัตกรรม NIA   กล่าวว่า  ต้องการส่งเสริมให้พื้นที่เป็นศูนย์กลาง ใช้ชีวิต เกิดนวัตกรรมที่ตอบโจทย์คนในพื้นที่  ย่านอารีย์มีโลเคชั่นค่อนข้างดี เป็นกทม.ชั้นในที่ต่อเชื่อมกับพื้นที่ชั้นนอก   มีพื้นที่ใช้ชีวิต กินดื่ม เที่ยว พักอาศัย

มีปัจจัยส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรม เช่น มีบริษัทขนาดใหญ่ เช่น  เอไอเอส  ฟอร์ธ เจ้าของเต่าบินไอบีเอ็ม  ธนาคารออมสิน ธนาคารกสิกรไทย  ฯลฯ     มีมิติของอีโคซิสเต็มท์ทำให้เกิดนวัตกรรม มีภาคประชาสังคม

ดังนั้นย่านอารีย์จึงมีศักยภาพในเชิงนวัตกรรม  NIA พยายามสร้างอีโคเซิสเต็ม ซึ่งอารีย์มีโครงสร้างพื้นฐานที่น่าจะรองรับด้านการสื่อสารและสารสนเทศ     ต้องการให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านนี้ เพื่อรองรับ 5 อุตสาหกรรมหลักของประเทศ เป็นพื้นที่แซนบ็อกซ์ให้นักวิจัยได้พัฒนาเพื่อให้โซลูชั่นทดลองทดสอบว่า สิ่งที่คิดและทำ สามารถแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่

ย่านอารีย์ สบายๆ แต่ลึกซึ้งด้วยความเก่าแก่

ในขณะที่ อรุณี อธิภาพงศ์  ผู้ร่วมก่อตั้ง   AriAround   บอกเล่าให้ฟังว่า อารีย์เป็นย่านสบายๆ แต่มีความลึกซึ้ง จะทำอะไรก็จะคิดเยอะ ตั้งแต่คลองสามเสนใน ถึงคลองบางซื่อ มีคนซ่อนอยู่ตามชุมชนแออัดแต่อาจจะไม่ค่อยเห็น  สามารถดึงดูดคนที่สนใจด้านความยั่งยืน ธุรกิจสร้างสรรค์  กินดื่ม เที่ยว มีสำนักงานของราชการเป็นจำนวนมาก  จึงมีคนจำนวนมาก ทั้งราชการและเอกชน   คนในชุมชนรู้จักกันแม้พื้นที่จะกว้าง มีกลุ่มของผู้อยู่อาศัยในย่านนี้

อารีย์อาจจะไม่เก่ามาก เหมือนย่านพระนคร  แต่หวงแหนคุณภาพชีวิต เมื่อรถมากขึ้น  คนมาถ่ายเซลฟี่กัน  ก็รู้สึกอึดอัด  ค่าเช่าราคาแพง ไม่ควรเจริญเกินไป ไม่ใช่แค่มาเที่ยว ทำงานสะดวก ต้องดูผู้ที่อยู่อาศัยในย่านนี้ด้วย พื้นที่สีเขียวตรงกับความต้องการของผู้อยู่อาศัยหรือไม่   ความเก่าแก่ของพื้นที่ ซอยราชครู อาคารเก่าแก่ อยากเก็บไว้ ทำให้เชื่อมโยงและพัฒนาร่วมกัน  ควรให้คนที่มากิน ดื่มเที่ยว เคารพวัฒนธรรมในพื้นที่  ไปเที่ยวมุมมองอื่นบ้าง  ไม่ใช่เห็นแค่คาเฟ่  หรือมาขุดทองกันแล้วจากไป อยากให้เกิดความยั่งยืน หากพัฒนามากเกินไป คนท้องถิ่นก็ไม่ได้ประโยชน์

Park:D ชนะเลิศ ARID  Hackathon:2023

ชัญญา เตชวิริยะ  ตัวแทนทีม Park:D บอกว่า ได้งบจาก NIA จึงทำวิจัยและทำแบบสอบถามเรื่องค่าจอดรถ และสถานที่จอดรถในย่านอารีย์ ซึ่งทุกคนรู้ดีว่า หาที่จอดยากต้องเสียค่าจอดวันละ  50 บาท  เมื่อทำแบบสอบถามความเห็นจากชุมชน พบว่า มีเจ้าของบ้านเดี่ยว หลายหลังพร้อมปล่อยเช่าพื้นที่  คอนโดมิเนียม และตึกสำนักงานก็สนใจแนวคิดให้เช่าที่จอดรถ

คอนโดมิเนียม ช่วงกลางวันที่จอดรถว่าง ตึกสำนักงาน ก็ว่างวันหยุด  ส่วนบ้านเดี่ยวที่มีพื้นที่กว้างขวางก็มีที่จอดว่างทุกวัน  แต่มีกังวลเรื่องความปลอดภัย  และเรื่องการจัดการ  ส่วนบ้านต้องการค่าจอดรถเป็นรายชั่วโมง ไม่ใช่รายวัน

อารีย์ ย่านนวัตกรรมฉลาดรู้

แม้จะเป็นจุดเริ่มต้นไอเดีย แต่ก็จุดประกายให้ความคิดเพื่อหาหนทางนำไปสู่การปฏิบัติ ให้ย่านอารีย์ เป็น Cognitive City หรือเมืองฉลาดรู้

ARI

A = AI

R = Robotics

I-Immersive

ความเจริญของเมืองในย่านต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร นำไปสู่ปัญหาคล้ายๆ กัน ทั้งเรื่องการเดินทาง วิถีชีวิตของคนในพื้นที่   เราเริ่มเห็นภาคประชาสังคม รัฐ และเอกชน   ในย่านนั้นๆ หันมาพูดคุยกันหาหนทางใหม่ๆ ให้การพัฒนาเดินคู่ไปกับวิถีชุมชน ก็จะเกิดเป็นอัตลักษณ์เฉพาะของชุมชนนั้นๆ

ทั้งหมดนี้ รวบรวมจากงาน  ARID: เจาะความล้ำย่านนวัตกรรมแห่งใหม่ใจกลางกรุง    จัดโดย  สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ  (องค์กรมหาชน) หรือ NIA และกรุงเทพมหานคร   เมื่อวันที่ 20 กันยายน2566 เดอะยาร์ด โฮลเทล

ผู้เขียน
ปรารถนา ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเทคโนโลยี

Share
Related