เทคโนโลยี

งานวิจัยรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติโชว์ในงาน TechnoMart 2023 

11 สิงหาคม 2566

ไปดูรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติสนามทดสอบ ในงาน TechnoMart 2023 

วศ.ร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต  โชว์ผลงานเด่นแห่งปี รถยนต์ขับขี่อัตโนมัติสนามทดสอบ CAV” สร้างความเชื่อมั่นกระตุ้นการลงทุน

นายแพทย์ปฐม  สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยว่า การพัฒนายานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า ที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยก็เริ่มเห็นภาคเอกชนนำระบบยานยนต์อัตโนมัติมาใช้งานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  ทั้งยานยนต์อัตโนมัติสำหรับใช้งานในพื้นที่ปิด และยานยนต์อัตโนมัติอื่น เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช.ได้ร่วมกับพันธมิตรและบริษัทพนัสแอสเซมบลีย์ จำกัด ริเริ่มโครงการการพัฒนาระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติที่เหมาะกับการใช้งานภายใต้สภาพเงื่อนไขประเทศไทย

การวิจัยยานยนต์อัตโนมัติในไทย

การวิจัยยานยนต์อัตโนมัติของสถาบันการศึกษาในประเทศไทย ส่วนใหญ่จะยังอยู่ในระดับ 3  เป็นระดับให้รถสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยตนเองในสภาพแวดล้อมและสภาวะที่ออกแบบไว้และยังต้องอาศัยคนช่วยควบคุมในบางสถานการณ์

 แม้ว่าปัจจุบันมีบางประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา  สามารถพัฒนายานยนต์อัตโนมัติ ระดับ 4 ซึ่งเป็นระดับที่รถสามารถขับเคลื่อนและวิเคราะห์จัดการสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ และเริ่มนำมาทดสอบใช้งานจริงในพื้นที่สาธารณะแล้ว แต่ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั้งด้านสมรรถนะและความปลอดภัยก็ยังคงเป็นปัญหาและอุปสรรคสำคัญของการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าว

  วศ. ซึ่งมีภารกิจหลักในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคุณภาพ(NQI) ของประเทศ  จึงทำโครงการสร้างสนามทดสอบรถอัตโนมัติหรือ Connected and Autonomous Vehicle (CAV) Proving Ground  ที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi)  เพื่อยกระดับคุณภาพของยานยนต์แห่งอนาคตที่พัฒนาและผลิตในประเทศให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล สร้างความเชื่อมั่นในการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการยานยนต์สมัยใหม่ ในการขายนวัตกรรมที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค  และกระตุ้นการลงทุนในเขตพื้นที่ EECi “

จากการประเมินมูลค่าทางเศรษฐกิจ ที่จะได้รับจากการมีอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ ประมาณ 2 แสนล้านบาทในปี 2573  โดยโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการ 4 ปี (.. 2565 – 2568)

สร้างสนามทดสอบรถอัตโนมัติ ที่ระยอง

ปัจจุบันการดำเนินงานเฟสแรก คือ ปรับพื้นที่ สร้างสนามและ ถนน  ส่วนเฟสที่สองจะเริ่มสร้างตึกสำหรับห้องปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และสร้างอุโมงค์เพื่อจำลองพื้นที่อับสัญญาน คาดว่าจะแล้วเสร็จทั้งหมดในปี 2568

ดร.ปาษาณ กุลวานิช นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กลุ่มนวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กองวัสดุวิศวกรรม กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) หัวหน้าโครงการฯ กล่าวว่า  วศ. ได้เซ็นสัญญาเช่าที่ดินของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 26 ไร่ ที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยอง เพื่อใช้ในการก่อสร้างสนามทดสอบ CAV สำหรับใช้ทดสอบระบบนำทางของรถอัตโนมัติ

โดยจำลองลักษณะของถนนในประเทศไทย  โดยเฉพาะถนนในเขตเมือง สัญญาณจราจร ป้ายจราจร อุปกรณ์เสริมความปลอดภัย เช่น รั้วกันชน พื้นที่อับสัญญาณ เช่น อุโมงค์หรือหลังคา พื้นที่รบกวนสัญญาณภาพ เช่น พื้นที่มีเงารบกวนจากต้นไม้ พร้อมทั้งทดสอบระบบขับเคลื่อนของยานยนต์ไฟฟ้า หรือEV รวมไปถึงระบบสื่อสารและโทรคมนาคมแบบ WiFi, 4G LTE, 5G 2600MHz  เพื่อตรวจสอบสมรรถนะการทำงานของโปรแกรมการนำทางและโปรแกรมเสริมความปลอดภัยในการขับขี่ รวมทั้งทดสอบการเชื่อมต่อสัญญาณระหว่างศูนย์ควบคุมกับรถอัตโนมัติหรือระหว่างรถอัตโนมัติให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

ดร.ปาษาณ  เปิดเผยว่า  มาตรฐานของสนามได้รับการทดสอบจากบริษัท IDIADA ซึ่งให้บริการด้านวิศวกรรม การออกแบบ การทดสอบ และการขอใบรับรองเกี่ยวกับยานยนต์แก่อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลก

กำหนดมาตรฐานสนามทดสอบและบุคลากร

สนามทดสอบ CAV  นอกจากจะเป็นองค์ประกอบสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานทางคุณภาพในอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคตของประเทศไทยแล้ว  ยังเป็นการจัดเตรียมความพร้อมบุคลากรสำหรับการให้บริการทดสอบยานยนต์อัตโนมัติ  เพื่อใช้ยกระดับคุณภาพของยานยนต์แห่งอนาคตที่พัฒนาและผลิตในประเทศให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และเป็นสนามทดสอบระบบอัตโนมัติระดับ SAE AV Level 3-5 จากต่างประเทศ ก่อนที่จะนำรถมาทดสอบบนถนนจริงของประเทศไทย ซึ่งเป็นการดึงดูดความสนใจของบริษัทชั้นนำระดับโลกทางด้านเทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติให้มาลงทุนหรือประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้เทคโนโลยีขับขี่อัตโนมัติขั้นสูงในประเทศไทย

ขณะที่ ยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ ที่ใช้ในศึกษาและพัฒนาวิธีทดสอบสมรรถนะและความปลอดภัยต่าง  คณะผู้วิจัยได้มีการพัฒนารถยนต์โดยสารขับขี่อัตโนมัติ ในระดับ 3 ขึ้น โดยมี Safety drive เฝ้าระวัง นำทางด้วยเซนเซอร์แบบ LiDAR สมรรถนะสูง มองไกลกว่า 100 เมตร โดยไม่ต้องพึ่ง GPS และใช้เทคโนโลยีเอไอจำแนกวัตถุ ทั้งรถยนต์ มอเตอร์ไซค์ คน รวมทั้งทำนายการเคลื่อนที่ของวัตถุ ปัจจุบันสามารถทดสอบรถขับขี่แบบอัตโนมัติที่ความเร็วสูงสุด 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง  

เทคโนโลยียานยนต์อัตโนมัติเป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในการขับขี่ไม่สามารถที่จะเร่งพัฒนาให้ตามความคาดหวังของสังคมได้  ซึ่งยานยนต์ไร้คนขับอาจจะพัฒนาให้สมบูรณ์แบบได้ภายใน 2-5 ปีนี้ ซึ่งไม่ได้แปลว่า จะทำไม่สำเร็จ และเมื่อสำเร็จแล้วจะเกิดประโยชน์หลายอย่างที่ตามมา ทั้งทำให้อุบัติเหตุบนถนนเป็นศูนย์ ทำให้อุตสาหกรรมการขนส่งที่เป็น Smart City มีประสิทธิภาพมากขึ้น ลดข้อจำกัดทางร่างกายช่วยผู้พิการและผู้สูงอายุให้สามารถเดินทางง่ายขึ้น ตลอดจนเป็นการดึงนักลงทุนเข้ามาทำธุรกิจในประเทศไทย

เป้าหมายการพัฒนาในอนาคต

สำหรับเป้าหมายการพัฒนาต่อไปในอนาคต ดร.ปาษาณ กล่าวว่า วศ. มองเห็นถึงโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจด้านเทคโนโลยีการเคลื่อนย้ายแห่งอนาคต (Future Mobility) โดยเฉพาะโครงสร้างการคมนาคมที่จะเปลี่ยนจากเดิมไปสู่ระบบขับเคลื่อนเครื่องยนต์ด้วยระบบไฟฟ้า หรือการขับขี่อัตโนมัติ

ดังนั้นเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนแปลงระบบดังกล่าวได้ จำเป็นต้องยกระดับด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงประเภทปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ โทรคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมยานยนต์ เช่น การผลิตระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า แบตเตอรี่ อุปกรณ์เสริมความปลอดภัยแบบ Advance Driver Assistance System : ADAS และยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ ที่มีโอกาสเติบโตอีกมาก

ประเทศไทย สามารถพัฒนาระดับการแข่งขันทางด้านเทคโนโลยีดังกล่าวได้  วศ. จึงได้ดำเนินการร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)  พัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ ให้ได้รับการรับรองคุณภาพสินค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกอีกด้วย  

 วศ. ได้นำผลงานรถยนต์ขับขี่อัตโนมัติ และสนามทดสอบ CAV ” ไปจัดแสดงในงานเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ประจำปี 2566 : TechnoMart 2023” ซึ่งกระทรวง อว. จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11 -15 สิงหาคม 2566 ที่ อาคาร 12 อิมแพ็ค เมืองทองธานี

 

Share
Related
More read

Tags

  • TechnoMart 2023
  • กรมวิทยาศาสตร์บริการ
  • นายแพทย์ปฐม  สวรรค์ปัญญาเลิศ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.)
  • ยานยนต์ไร้คนขับ
  • รถยนต์อัตโนมัติ
  • สนามทดสอบ CAV
  • สนามทดสอบรถอัตโนมัติ