สิ่งหนึ่งที่บ่งชี้ถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี คือ “การมองเห็น” เพราะทำให้การดำเนินชีวิตและทำกิจกรรมประจำวันต่างๆ เป็นไปอย่างราบรื่น องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยในรายงาน World report on vision 2022 ว่าจากจำนวนผู้บกพร่องทางการมองเห็น 2.2 พันล้านคนมีประชากรอย่างน้อย 1 พันล้านคน หรือคิดเป็น 45% ของประชากรทั่วโลกที่มีความบกพร่องทางการมองเห็นทั้งระยะใกล้และระยะไกลที่สามารถป้องกันได้หรือยังสามารถแก้ไขได้หากมีการตรวจพบอย่างทันท่วงที
สิ่งที่น่ากังวลคือจากนี้ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าหลายประเทศจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการดูแลสุขภาพดวงตาของประชากรมากขึ้นจากการเติบโตของประชากรสูงวัยและการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สู่โหมดดิจิทัล สอดคล้องกับคำแนะนำจาก นพ.ศุภฤกษ์ ทิพาพงศ์ จักษุแพทย์ สาขาจอประสาทตาและวุ้นตา อาจารย์พิเศษสาขาจอประสาทตาและน้ำวุ้นตา ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และประธานกรรมการบริหารและจักษุแพทย์ประจำศุภฤกษ์ วิชชั่น เซ็นเตอร์ ที่บอกว่า “พฤติกรรมการใช้ชีวิตของคนยุคนี้ใช้สายตาในชีวิตประจำวันมากขึ้น ทั้งการทำงานที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ การพักผ่อนด้วยการดูโทรทัศน์เล่นเกมส์ และการเพ่งจอมือถือเพื่อสื่อสารตลอดเวลา ทำให้ปัจจุบันพบผู้ที่มีปัญหาสายตาเข้ามาขอรับคำปรึกษาจำนวนมาก การดูแลสุขภาพตาจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรละเลย ควรตรวจสุขภาพตาและวัดค่าสายตาเป็นประจำอย่างน้อยปีละ 1 ครั้งเพื่อค้นหาความผิดปกติของดวงตาและประสิทธิภาพของการมองเห็น หากเรามีวิธีดูแลสุขภาพดวงตาที่ยั่งยืนก็จะช่วยให้มีการมองเห็นที่ชัดเจนยืนยาว ชะลออายุดวงตาไม่ให้เสื่อมสภาพก่อนวัยอันควร”
การตรวจสุขภาพตา ควรทำเป็นประจำ ตั้งแต่วัยเด็ก เพราะเด็กในปัจจุบันมีกิจกรรมที่ต้องใช้สายตาในระยะมองใกล้เยอะมาก เช่น การเรียนออนไลน์ ดูยูทูป เล่นเกมส์ ฯลฯ จึงควรตรวจวัดค่าสายตาเป็นประจำ เพราะหากมีความบกพร่องทางสายตาตั้งแต่เด็กก็อาจส่งผลถึงการเรียนในห้องเรียน การสังเกต การมองเห็น ทำให้ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนรู้ลดลง
ส่วนในวัยผู้ใหญ่ก็ควรมีการตรวจสุขภาพตาเป็นประจำทุกปี เพราะปัญหาสายตาที่พบบ่อย ในวัยเด็ก – 35 ปี คือ สายตาสั้นและตาแห้งจากการจ้องจอคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ ในช่วงวัย 40 ปี จะเริ่มมีสายตายาวและโรคต้อหิน ผู้ที่อายุมากกว่า 50-60 ปีมักจะพบโรคจอประสาทตาเสื่อม หรือในบางรายที่มีโรคประจำตัวเบาหวาน ก็ควรระวังโรคเบาหวานขึ้นจอประสาทตา เป็นต้น
ปัจจุบันเราสามารถตรวจเช็คสุขภาพตาเบื้องต้นได้ที่ร้านแว่นตาที่มีการดูแลให้คำปรึกษาเรื่องค่าสายตาและการถนอมดวงตาโดยจักษุแพทย์และนักทัศนมาตร สำหรับ “Check List โรคของดวงตาที่พึงระวัง” มีด้วยกัน 5 เรื่อง ได้แก่ 1. ปัญหาเรื่องเยื่อบุตา: ต้อลม ต้อเนื้อ 2. ปัญหากระจกตาผิดปกติ: กระจกตาย้วย แผลเป็นของกระจกตา 3. ช่องหน้าลูกตาอยู่ในเกณฑ์ปกติไหม คัดกรองภาวะต้อหินมุมปิด 4. ปัญหาเลนส์ตา: ภาวะต้อกระจก 5. ปัญหาจอประสาทตา: ภาวะจอประสาทตาเสื่อม เบาหวานขึ้นจอประสาทตา
นพ.ศุภฤกษ์ ทิพาพงศ์ กล่าวเสริมว่า หากสุขภาพตาเราปกติดีแล้ว ลำดับต่อไปคือการวัดค่าสายตา ซึ่งเราวัดค่าสายตาปัจจุบันเพื่อเทียบกับค่าสายตาเดิมว่ามีแนวโน้มค่าสายตาที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ และรับคำปรึกษาเรื่องเลนส์ที่ใส่แล้วมองเห็นชัด สบายตา ตรงตามค่าสายตาแท้จริงเรามากที่สุด
ปัจจุบันนวัตกรรมการตรวจสุขภาพดวงตาและการวัดค่าสายตาได้ถูกปรับเปลี่ยนมาสู่รูปแบบ Digital Technology ในชื่อ Vision R800 ถูกออกแบบมาสำหรับค่าสายตา ‘เฉพาะบุคคล’ (Individual Eye Care) ทำให้การมองเห็นเป็นธรรมชาติเสมือนจริง สามารถวัดค่าสายตาได้ความละเอียดมากถึง 0.01 ไดออปเตอร์หรือ 25 เท่า ผนวกกับเลนส์สายตาก็มีเทคโนโลยีที่รองรับความละเอียดระดับนี้แล้ว อาทิ เลนส์สายตา Eyecurasee (อายคิวราซี) ของ Nikon ที่สามารถผลิตเลนส์สายตาเฉพาะบุคคลที่ความละเอียด 0.01 ไดออปเตอร์ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมอย่างมากในประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ แคนาดา และจีน
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้