“โรคท้องผูก” (Constipation) ไม่ใช่แค่เรื่องของการขับถ่ายไม่ออก และก็ไม่ใช่แค่เรื่องของการไม่กินผัก ยาระบายก็ไม่ใช่ทางออกระยะยาวสำหรับโรคนี้
หลายคนยังเข้าใจผิด นึกว่าอาการท้องผูก ต้องเท่ากับถ่ายไม่ออกหรือถ่ายน้อยครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว อาการของโรคท้องผูก ยังมีอะไรมากกว่าแค่การไม่ถ่าย เช่น ถ่ายไม่สุด ทำให้ต้องเข้าห้องน้ำหลายครั้งในหนึ่งวัน ถ่ายออกยาก ต้องนั่งนานหรือเบ่งเยอะ หรือถ่ายแล้วรู้สึกเจ็บ เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนเข้าข่ายโรคท้องผูกทั้งสิ้น
นพ. กุลเทพ รัตนโกวิท แพทย์ผู้ชำนาญการโรคระบบทางเดินอาหาร ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลวิมุต ชวนทุกคนมาทำความเข้าใจใหม่เกี่ยวกับโรคท้องผูก “บางคนบอกว่า ต้องขับถ่ายทุกวันถึงจะดี แต่ที่จริงแล้ว การมีระบบขับถ่ายที่ดีหมายความว่าคุณถ่ายออกทั้งหมดได้แบบสบาย ๆ ไม่ต้องเบ่ง แม้จะถ่ายเพียงสัปดาห์ละ 5 ครั้งก็ถือว่าไม่ผิดปกติ”
ท้องผูกเกิดได้จากหลายสาเหตุด้วยกัน แน่นอนว่าการรับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย การกลั้นอุจจาระ หรือไลฟ์สไตล์ที่ไม่แอคทีฟขาดการออกกำลังกาย เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้เราท้องผูก แต่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยทราบว่า บางครั้งอาการท้องผูกอาจเกิดจากความผิดปกติของส่วนต่าง ๆ ในร่างกาย
เช่น การรับรู้ความรู้สึกของลำไส้ส่วนปลายผิดปกติ ซึ่งทำให้เราไม่ปวดถ่ายเมื่อถึงเวลาที่ต้องถ่าย, กล้ามเนื้อที่ใช้ในการขับถ่ายทำงานไม่สัมพันธ์กัน หมายถึงกล้ามเนื้อหูรูดไม่คลายเมื่อเบ่งอุจจาระและอาจพบร่วมกับกล้ามเนื้อที่ใช้ในการเบ่งทำงานไม่สมบูรณ์ จึงทำให้ถ่ายไม่ออก, ลำไส้ใหญ่เคลื่อนตัวช้า ทำให้อุจจาระออกมาได้ไม่หมด
เมื่อใดก็ตามที่ร่างกายเริ่มมีการขับถ่ายที่ผิดปกติไปจากเดิม แสดงว่าร่างกายกำลังบอกอะไรเราอยู่ เราต้องสังเกตอาการและรีบหาสาเหตุ หากท้องผูกติดกันหลายวันควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุ ยิ่งถ้ามีอาการปวดท้องรุนแรง หรืออุจจาระมีเลือดปน ต้องมาพบแพทย์ทันทีเพื่อรักษาให้ทันท่วงที เพราะอาการท้องผูกอาจนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ เช่น ริดสีดวง ลำไส้เป็นแผล นอกจากนี้ท้องผูกยังอาจเป็นสัญญาณของโรคอื่น ๆ ได้เหมือนกัน เช่น มะเร็งลำไส้ ภาวะลำไส้อุดตัน ซึ่งยิ่งเจอเร็วก็ยิ่งมีโอกาสหาย
ยาระบายเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ใช่วิธีรักษาในระยะยาว เนื่องจากยาระบายจะออกฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของลำไส้และทำให้อุจจาระอ่อนนุ่มขึ้น ทำให้เราขับถ่ายได้เป็นครั้ง ๆ ไปเท่านั้น
ท้องผูกเกิดจากหลายสาเหตุ วิธีรักษาก็จะแตกต่างกัน ถ้า เกิดจากการที่ลำไส้ไม่ตอบสนองต่ออุจจาระที่ลงมา ทำให้ไม่รู้สึกปวดอุจจาระ ก็ต้องใช้วิธีฝึกลำไส้ให้ความรู้สึกกลับมา ถ้าเกิดจากกล้ามเนื้อขับถ่ายทำงานผิดปกติ ต้องใช้เครื่องมืออย่าง Anorectal Manometry เข้ามาช่วยวิเคราะห์การทำงานของกล้ามเนื้อโดยละเอียด ซึ่งมักช่วยรักษาอาการท้องผูกเรื้อรังให้หายขายได้เมื่อทำควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมและฝึกขับถ่ายด้วยท่าที่ถูกต้อง (Biofeedback training) และถ้าเกิดจากลำไส้เคลื่อนตัวช้า จะใช้วิธีวินิจฉัยที่เรียกว่า Colonic Transit Test ผ่านการรับประทานยาแคปซูลที่มีแถบทึบแสงขนาดเล็ก (Radiopaque Makers) ที่จะบอกการเคลื่อนไหวของลำไส้ว่าสามารถจำกัดของเสียได้เร็วหรือช้าเพียงใด โดยการใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีล้ำสมัยเหล่านี้เป็นวิธีรักษาโรคท้องผูกให้หายขาดอย่างตรงจุด
“หลายคนเชื่อว่าโรคนี้เป็นโรคที่เป็น ๆ หาย ๆ คงไม่มีวันหายขาด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด ปัจจุบันการแพทย์ก้าวหน้าไปมาก การดูแลรักษาคนไข้อย่างใส่ใจและเป็นระบบ ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยาและการปรับพฤติกรรม ทำให้คนไข้หายขาดจากท้องผูกได้ อยากย้ำอีกครั้งว่า โรคท้องผูกอย่าปล่อยให้เรื้อรังจนเกิดโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ยิ่งหาสาเหตุได้เร็วยิ่งหายได้ไวและหายขาดด้วย” นพ. กุลเทพ กล่าวทิ้งท้าย
‘HPV DNA Self-Sampling’ กุญแจสำคัญสู่ภารกิจพิชิตมะเร็งปากมดลูก