ข่าวทั่วไป

ผลทดสอบการปนเปื้อน สารอะคริลาไมด์ในกาแฟ

7 กันยายน 2565

จากการตรวจสอบการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ โดยนิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและสภาองค์กรของผู้บริโภค พบสารอะคริลาไมด์ในกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด และมี 2 ตัวอย่าง ที่มีปริมาณสูงกว่า เกณฑ์ของสหภาพยุโรป

สารอะคริลาไมด์ เป็นสารเคมีที่เกิดขึ้นระหว่างการปรุงอาหาร โดยจะเกิดขึ้นเมื่อมีการให้ความร้อนกับวัตถุดิบเกิน 120 องศาเซลเซียสเป็นเวลานานพอสมควร และในอาหารจะต้องมีกรดอะมิโนแอสพาราจีนค่อนข้างสูง การศึกษาวิจัยในต่างประเทศพบว่า สารอะคริลาไมด์เป็นสารก่อมะเร็ง และอาจส่งผลต่อการพัฒนาตัวอ่อนในครรภ์มารดา

แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนของสารอะคริลาไมด์ในกาแฟ แต่สหภาพยุโรปได้มีการกำหนดให้มีสารอะคริลาไมด์ปนเปื้อนไม่เกิน 400 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟคั่วและไม่เกิน 850 ไมโครกรัม/กิโลกรัมสำหรับกาแฟผงสำเร็จรูป

นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า  การเก็บตัวอย่างกาแฟ แบ่งเป็นชนิดกาแฟคั่ว 12 ตัวอย่าง ได้แก่ Illy, Suzuki, Aroma, Bon Cafe, the coffee Bean, Doitung, UCC, Doi Chaang, Movenpick, Bluekoff, Arigato และ Starbucks และกาแฟสำเร็จรูป 15 ตัวอย่างได้แก่ Nescafe Gold, Moccona, เขาช่อง กาแฟ, Bon Aroma Gold, Dao Coffee Gold, BigC Happy PricePro, Tchibo Family, AGF Maxim Freeze Dried Coffee, Nescafe Red Cup, Festa Gold, Davidoff Rich Aroma, Nescafe Tester’s Choice House Blend, UCC The blend1 117, My Choice Gold และ Aro Instant Coffeeในระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม 2565 จากร้านค้า ห้างค้าปลีก และร้านค้าออนไลน์

ผลการตรวจวิเคราะห์พบสารอะคริลาในกาแฟคั่วทุกตัวอย่าง ในปริมาณ 135.56-372.62 ไมโครกรัม/กิโลกรัม ส่วนในกลุ่มกาแฟสำเร็จรูปพบสารอะคริลาไมด์ทุกตัวอย่างเช่นกัน โดยมีปริมาณ 298.79–954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม

ที่น่าสังเกตคือ มี 2 ตัวอย่างที่พบสารอะคริลาไมด์ในปริมาณสูงกว่าเกณฑ์ของสหภาพยุโรป ได้แก่ แดวิดอฟฟ์ ริช อโรมา มี 851.76 ไมโครกรัม/กิโลกรัม, เอจีเอฟ แม็กซิม มี 954.47 ไมโครกรัม/กิโลกรัม

“แม้ว่าการดื่มกาแฟในปริมาณปกติ โอกาสที่ร่างกายจะได้รับสารอะคริลาไมด์จนเกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพนั้นค่อนข้างต่ำ แต่การได้รับสารอะคริลาไมด์ปริมาณสูงจากอาหารหลายชนิดในแต่ละวันอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานานของผู้ที่มีระบบกำจัดสารพิษไม่สมบูรณ์ ย่อมเป็นการเพิ่มความเสี่ยงจากอันตรายที่มีการสะสมในร่างกาย จึงควรลด ละ เลี่ยงอาหารที่ผ่านความร้อนในการอบ ปิ้ง ทอด หรือใช้อุณหภูมิสูงเกิน 120 องศาเซลเซียส เพราะเป็นอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารอะคริลาไมด์” นางสาวทัศนีย์กล่าวสรุป

More read

Tags

  • กาแฟ
  • นิตยสารฉลาดซื้อ
  • มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
  • สารปนเปื้อน
  • สารอะคริลาไมด์