ข่าวทั่วไป

“แม่กลอง”จะแข็งแรง เมื่อลุกขึ้นมาช่วยกันทำงานด้านการศึกษา

25 กรกฎาคม 2566

แม่กลองจะแข็งแรง เมื่อลุกขึ้นมาช่วยกันทำงานด้านการศึกษา

ไปเจอรูปแบบการทำงานเพื่อการดูแลเด็กและเยาวชนที่น่าสนใจ ก็เลยอยากเล่าให้ฟัง ชื่อโครงการและเครือข่ายการทำงานอาจจะยาวมาก ขอให้อดทนไว้ก่อน อย่าเพิ่งใจร้อนไถฟีดข้ามนะคะ

จัดที่อัมพวา สมุทรสงคราม  ชื่องานก็คือ หกรรมการเรียนรู้สำหรับทุกช่วงวัยพื้นที่แห่งการเรียนรู้และแบ่งปัน” (Learning Space & Learning Share)  เวทีบูรณาการระหว่างโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ปี 2565” และโครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ ปี 2565” โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

จัดโดย บริษัท สร้างสรรค์ปัญญา จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยรับทุน และ ทีมพี่เลี้ยงภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก

อืมมมม……ชื่องาน ชื่อหน่วยงานผู้จัดยาวจริงๆ แหละ   

งานนี้เค้าจัด เพื่อนำเสนอการทำงานของโครงการที่ทำมาตลอดปี 2565 ทั้งการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและการพัฒนาเยาวชนและแรงงานนอกระบบ ของเครือข่ายพื้นที่ภาคกลางตะวันออก และตะวันตก

 

สถานการณ์เด็กในสมุทรสงคราม

ข้อมูลของโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ จังหวัดสมุทรสงคราม ระบุว่า  สถานการณ์โควิด -19  แม้ผ่านมา 2 ปีแล้ว  แต่กลายเป็นเงื่อนไขให้ปัญหาความยากจน ปัญหาหย่าร้างในเมืองและชนบท  ทวีความรุนแรงมากขึ้น  ส่งผลกระทบต่อการศึกษาของเด็กและเยาวชนในสมุทรสงคราม

เมื่อลงพื้นที่ก็ยังพบว่า มีเด็กที่มีภาวะการเรียนรู้บกพร่อง ทางสติปัญญา  ร่างกาย ทางอารมณ์ และออทิสติก ทั้งที่อยู่ในศูนย์การศึกษาพิเศษ ในชุมชน  ซึ่งขาดพื้นที่เรียนรู้  ขาดการดูแลที่เหมาะสม

เด็กและเยาวชนทั้งปกติ และพิเศษ  มีความเสี่ยงที่จะหลุดจากระบบการศึกษา  มีบางคนก็หลุดออกไปแล้ว

โมเดลเพื่อดูแลเด็กและเยาวชน

จากปัญหาที่พบจึงนำไปสู่รูปแบบการดูแลและช่วยเหลือเด็กและเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา 4 รูปแบบ  ซึ่งได้มาจากการพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ร่วมกันการสำรวจเชิงลึก ที่เรียกว่า Social Mapping ในพื้นที่นำร่อง 3 ตำบล   โดยคณะทำงานโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ปี 2565 จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงภาคีเครือข่ายการทำงานของหน่วยงานทั้งรัฐและเอกชน  ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัด

รูปแบบ ที่ 1 . ยกระดับมาตรฐานการจัดการศึกษา และการดูแลเด็กปฐมวัยของ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ( ศพด.) สมุทรสงคราม

รูปแบบที่ 2.  พัฒนาอาชีพและจัดการศึกษาทางเลือก รายกรณีสำหรับเด็กและเยาวชนที่เสี่ยงหลุดหรือหลุดจากระบบการศึกษา

รูปแบบที่ 3.  สร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษ

รูปแบบที่ 4 .พัฒนาโรงเรียนในฝันของคนสมุทรสงคราม

เส้นทางที่อยากเห็น

ทั้ง 4 รูปแบบ เป็นความพยายามของคณะทำงานในโครงการที่ต้องการเชื่อมโยงโครงการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ  และ โครงการส่งเสริมโอกาสทางการเรียนรู้และพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบ ของสมุทรสงครามเข้าด้วยกัน ให้มาทำงานร่วมกัน

เมื่อพอมีรายได้ มีอาชีพ ก็อยากให้หันมาช่วยด้านการศึกษาภายในชุมชน เพราะอยู่ในพื้นที่เดียวกัน ทำงานร่วมกัน  ชิษนุวัฒน์ มณีศรีขำ ผู้ก่อตั้งบริษัท สร้างสรรค์ปัญญา จำกัด  และหัวหน้าทีมพี่เลี้ยงภาคกลาง  กล่าว

การศึกษาประตูสู่ความเสมอภาค

สอดคล้องกับคำกล่าวของพัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ.  ซึ่งเชื่อมั่นในฟันเฟืองเล็ก ที่อยู่ในชุมชนของทุกคน ว่า มีความสำคัญ  สามารถเชื่อมกับฟันเฟืองระดับจังหวัด และระดับประเทศ  เพื่อนำไปสู่ความเสมอภาคและลดปัญหาความเหลื่อมล้ำได้อย่างแท้จริง  แม่กลองจะแข็งแรง เมื่อทุกฝ่ายลุกขึ้นมาช่วยกันทำงานด้านการศึกษา

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ.  ใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาเพื่อเปิดประตูไปสู่ความเสมอภาค

นอกจากจะผลักดันให้คนด้อยโอกาสทุกคนเข้าถึงการศึกษาแล้ว   กสศ. ยังคำนึงถึงคุณภาพการศึกษา หาวิธีให้เกิดความเท่าเทียมในทุกพื้นที่  เด็กและเยาวชนไม่ต้องออกไปเรียนในเมือง เนื่องจากปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กไม่มีคุณภาพหรือต้องถูกปิดตัวลงจากการที่ไม่มีเด็กมาเรียน

การพัฒนาอาชีพที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน  ก็เป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาคุณภาพคนให้มีความรู้เปลี่ยนทัศนคติ หันกลับมาเห็นคุณค่าในตัวเอง  มีเป้าหมายในชีวิต  ประกอบอาชีพตามความถนัด มีรายได้สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้

เพราะ กสศ. เชื่อว่า หากทุกคนเปลี่ยนความคิด มีอาชีพ และมีรายได้แล้ว จะสามารถช่วยลดปัญหาที่ซ้อนความยากจนข้ามรุ่น  ลูกหลานได้เข้าถึงระบบการศึกษา  เนื่องจากพ่อแม่หรือผู้ปกครองสามารถส่งเสียเลี้ยงดูพวกเขาได้

โอกาสเปลี่ยนชีวิตคนได้

ผู้ใหญ่โชคชัย ลิ้มประดิษฐ์ อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาทักษะเยาวชนและแรงงานนอกระบบกสศ. และ ดร.สมคิด แก้วทิพย์ ผู้จัดการโครงการฯ  ทั้งสองท่านให้ความสำคัญกับโอกาส   เพราะการให้โอกาส  จะสามารถสร้างและเปลี่ยนชีวิตให้กับคนคนหนึ่งได้

ภายในงาน นอกจากมีพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้  มีเวทีเสวนา  ยังมีกิจกรรมปันสุขปันใจ ให้แต่ละหน่วยจัดการเรียนรู้ฯ นำผลิตภัณฑ์ สินค้า หรือแนวทางการจัดการเรียนรู้มาแลกเปลี่ยน มาจำหน่าย  มาทดลองไลฟ์ขายของ

จะประสบผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จ จากการทำงานตลอดระยะเวลา 10 เดือน  ก็มาช่วยกันคิด หาทางออก วิธีการแก้ไข และแนวทางในการขับเคลื่อนงานเพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของชุมชนต่อไป

ผู้เขียน
ปรารถนา ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเทคโนโลยี

More read

Tags

  • กสศ.
  • กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
  • ทุนส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน
  • พัฒนะพงษ์ สุขมะดัน ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศ...
  • สมุทรสงคราม
  • เยาวชนนอกระบบการศึกษา