ข่าวทั่วไป

จากหนังรางวัลออสการ์ ถึงโครงการฝึกอาชีพคนพิการ

12 พฤษภาคม 2567

จากหนังรางวัลออสการ์ ถึงโครงการฝึกอาชีพคนพิการ

“รู้ไหมว่าทำไมพระเจ้าสร้างตดให้มีกลิ่น ก็เพื่อให้คนหูหนวกได้ดื่มด่ำกับมัน”

บทสนทนาด้วยภาษามือของตัวละครพ่อกับลูกสาววัยรุ่น ในหนังเรื่อง CODA ที่กวาด 3 รางวัลออสการ์เมื่อปี 2022 ทั้งรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ดาราสมทบชายยอดเยี่ยม (Troy Kotsur เล่นเป็น Frank Rossi ชาวประมงหูหนวกและเป็นใบ้) และบทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยม (ต้นฉบับเดิมเป็นหนังฝรั่งเศส-เบลเยี่ยม เรื่อง La Famille Bélier สร้างเมื่อปี 2014)

  

เครดิตภาพ  https://en.m.wikipedia.org/wiki/CODA_(2021_film)

คำว่า CODA มีสองความหมาย นัยหนึ่งเป็นตัวย่อมาจากคำว่า Children of Deaf Adults คือเด็ก (ปกติ) ที่เกิดในครอบครัวที่พ่อแม่หูหนวกและเป็นใบ้  ส่วนในทางดนตรี CODA หมายถึงท่อนที่นำไปสู่ตอนจบของเพลง ตัวอย่างที่เราคุ้นเคยกันดีก็อย่างเช่นท่อนประสานเสียง “Nah Nah …” ช่วงท้ายเพลง Hey Jude ของ The Beatles

   พล็อตหนัง CODA สื่อความหมายทั้งสองนัย ด้วยเรื่องราวความรักความผูกพันของครอบครัวชาวประมงที่พ่อ แม่ และลูกชายคนโตหูหนวกและเป็นใบ้ การสื่อความกับคนอื่น ๆ จึงต้องอาศัยผ่านลูกสาววัยรุ่น (Emilia Jones เล่นเป็น Ruby Rossi) เป็นล่ามภาษามือ ขณะที่ Ruby เองก็มีพรสวรรค์และความฝันส่วนตัวที่อยากเป็นนักร้อง

   ฉากที่พ่อ แม่ และพี่ชาย ไปดู Ruby ร้องเพลงในคอนเสิร์ตวันเรียนจบมัธยมปลาย โดยนั่งอยู่ท่ามกลางคนดูอื่น ๆ ที่ต่างแสดงออกอย่างชื่นชมในพลังเสียงของลูกสาว แต่พวกเขาไม่ได้ยินแม้แต่น้อย เป็นอะไรที่ “โดน” สุด ๆ

   ใครยังไม่เคยดูหนังเรื่องนี้หาดูได้ใน NETFLIX  ถ้าใครเคยดูแล้วอาจจะอยากดูซ้ำอีกก็ได้

หนังฮอลลีวูด เกี่ยวอะไรกับคนพิการในบ้านเรา

นอกจาก Troy Kotsur ที่เล่นเป็นพ่อและคว้ารางวัลดาราสมทบชายยอดเยี่ยมแล้ว คนที่เล่นเป็นแม่และพี่ชายของ Ruby คือ Marlee Matlin และ Daniel Durant ก็เป็นคนหูหนวกและเป็นใบ้จริง ๆ ทั้งสามคนเป็นนักแสดงอาชีพซึ่งในวงการภาพยนตร์และละครเวทีในต่างประเทศมีคนพิการอยู่จำนวนไม่น้อย

แล้วคนพิการในบ้านเรา มีโอกาสมากน้อยแค่ไหน ?

      ข้อมูลจากกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการระบุว่า ปัจจุบันมีคนพิการในประเทศไทยมากกว่า 2.2 ล้านคน ขณะที่ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ มาตรา 33 กำหนดให้สถานประกอบการและหน่วยงานรัฐต้องจ้างคนพิการเข้าทำงาน หรือไม่ก็ต้องส่งเงินสมทบกองทุนฯ คนพิการตามมาตรา 34 หรือจัดให้มีการส่งเสริมอาชีพคนพิการตามมาตรา 35  ซึ่งในทางปฏิบัติจริงมีสถานประกอบการจ้างงานคนพิการตามมาตรา 33 ราว 60% ที่เหลือเลือกใช้วิธีส่งเงินสมทบกองทุนตามมาตรา 34 หรือจัดส่งเสริมอาชีพคนพิการตามมาตรา 35 แทน

   การจัดส่งเสริมอาชีพคนพิการตามมาตรา 35 ทำได้หลายรูปแบบ ตัวอย่างหนึ่งคือ โครงการฝึกอบรม-ฝึกงานคนพิการของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ที่ร่วมกับบริษัทเอกชนให้เงินสนับสนุนตามมาตรา 35 จัดอบรมอาชีพ 4 หลักสูตรให้คนพิการมาต่อเนื่องถึง 10 ปี มีคนพิการผ่านการอบรมแล้วราว 400 คน และประมาณ 50% ได้รับการจ้างงานจริง

 

  ล่าสุด นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เห็นชอบให้นำเงินจากกองทุนฯ คนพิการตามมาตรา 34 มาใช้ขยายผล โดยมีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง รวม 5 มหาวิทยาลัยเป็นเครือข่ายนำร่องตามโมเดลของ มจธ. ตั้งเป้าจะมีคนพิการเข้าร่วมโครงการในรุ่นแรกจำนวน 300 คน

   นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวง พม.กล่าวว่า ในอนาคตตั้งเป้าจะมีมหาวิทยาลัยทั่วประเทศเข้าร่วมโครงการลักษณะนี้ให้มากขึ้น เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการได้พัฒนาศักยภาพตรงตามความต้องการของสถานประกอบการ หรือมีความรู้ความสามารถในการประกอบอาชีพอิสระและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

   “คนพิการไม่ได้ต้องการความสงสาร แต่พวกเขาต้องการโอกาส” นายวราวุธ กล่าวและว่า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีหน่วยงานรัฐที่ทำตามกฎหมายจ้างงานคนพิการเพียง 18.73% (ข้อมูลปี 2566) สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะการส่งเงินสมทบกองทุนฯ คนพิการตามมาตรา 34 บังคับใช้เฉพาะกับภาคเอกชนเท่านั้น  จึงหารือกับหน่วยงานในกระทรวง พม.ว่า อาจจะต้องมีบทลงโทษ หรือโทษปรับหน่วยงานรัฐที่ไม่ทำตามกฎหมาย

  รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ.กล่าวแสดงความเชื่อมั่นว่า มหาวิทยาลัยใหญ่ ๆ ที่เข้าร่วมโครงการนี้มีความพร้อมระดับหนึ่ง เมื่อมีประสบการณ์ทำงานไประยะหนึ่งก็น่าจะสามารถเป็นศูนย์กลางให้มหาวิทยาลัยอื่น ๆ ในพื้นที่มาร่วมโครงการ และดึงภาครัฐและเอกชนเข้ามาสนับสนุนในทุกมิติได้มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การทำงานกับคนพิการส่วนหนึ่งต้องมีการดูแลจิตใจและสร้างทัศนคติให้คนพิการเห็นถึงคุณค่าและศักยภาพของตนเอง ต้องพยายามดึงเขาให้ออกมาอย่างมีศักดิ์ศรี โดยทำงานร่วมกับนักจิตวิทยา ซึ่งเชื่อว่าทุกมหาวิทยาลัยมีคณะพยาบาลที่สามารถดูแลได้อย่างมืออาชีพอยู่แล้ว

ไม่ได้ออกสื่อ แต่ทำงานเบื้องหลังก็สำคัญ

ในหนังเรื่อง CODA เราได้เห็นศักยภาพของนักแสดงคนพิการที่ไม่ด้อยไปกว่าคนปกติทั่วไป ซึ่งจริง ๆ แล้วกว่าจะเป็นหนัง ละคร หรือคลิปตามสื่อต่าง ๆ แต่ละเรื่องแต่ละชิ้นล้วนผ่านกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน และมีคนทำงานทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังมากมาย ไม่ว่าใครที่มีความรู้ความสามารถก็เข้าสู่วงการนี้ได้โดยเฉพาะในยุคที่สื่อดิจิทัลกำลังแพร่หลายครอบงำคนทั้งโลก

   โครงการผลิตสื่อดิจิทัล เพื่อคนพิการสร้างงาน สร้างอาชีพ ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาศักยภาพคนพิการ ที่กำลังเปิดรับสมัครคนพิการที่สนใจเข้าอบรมหลักสูตรนักสื่อสารดิจิทัล 7 ด้าน ได้แก่ วิชาการรู้เท่าทันสื่อดิจิทัล วิชาการเขียนบทความ-เขียนข่าวประชาสัมพันธ์ วิชาการถ่ายภาพ-ทำภาพเพื่อการตลาด วิชาการทำอินโฟกราฟิก-การทำเอกสาร-สื่อวีดีโอเพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ วิชาการพูดในที่สาธารณะ วิชาการพัฒนาบุคลิกภาพและการสื่อสารอย่างมืออาชีพ และวิชาการตลาดดิจิทัล

   หลักสูตรอบรม 420 ชั่วโมง มีทั้ง Online และ Onsite จบแล้วสามารถไปสมัครงานหรือจะรับงานอิสระเป็น Freelance ทำงานที่บ้านก็ได้

   สนใจสมัครผ่านระบบ Online ได้ที่ http://shorturl.at/dnCV4 หรือสแกน QR Code จากรูปโปสเตอร์ได้เลย.

ผู้เขียน
ภุสพงศ์ ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเศรษฐกิจ

More read

Tags

  • นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่น...
  • ฝึกอาชีพคนพิการ
  • รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ.