ข่าวทั่วไป

ขอแค่โอกาสได้พิสูจน์ตัวเอง

26 ธันวาคม 2565

ขอแค่โอกาสได้พิสูจน์ตัวเอง

ทุกวันที่ 3  เดือนธันวาคมของทุกปี เป็นวันคนพิการสากล

เทศกาล ‘BANGKOK For ALL #กรุงเทพฯเพื่อทุกคนมาฟังเรื่องราวสองมุมของพาร์ทเนอร์คนขับแกร็บ ซึ่งให้พลังบวก พลังใจมากมาย

เป็นเรื่องราวของ  ฐาฐาปนา เย็นรักษา  ไรเดอร์หนุ่มแขนพิการที่ไม่ย่อท้อต่อโชคชะตาไขว่คว้าหาโอกาสจนสามารถสร้างรายได้มาจุนเจือครอบครัวด้วยน้ำพักน้ำแรงของตัวเอง และ  วิลาสินี โรจน์ธรรมรัตน์ ที่เลือกให้บริการแกร็บแอสซิสท์ (GrabAssist) บริการเรียกรถแท็กซี่ผ่านแอปพลิเคชันที่รับส่งผู้พิการและผู้สูงอายุ

ทุกชีวิตล้วนต้องการโอกาส

ฐาปนา เย็นรักษา หรือ คุณฐา ชายหนุ่มวัย 30 ปี ที่แขนขวาพิการตั้งแต่กำเนิด หากไม่นับข้อจำกัดด้านร่างกาย คุณฐามีเป้าหมายเหมือนคนทั่วไปที่อยากมีครอบครัวที่สมบูรณ์ เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดีสามารถส่งเสียลูกสาว วัย 12 ขวบให้มีอนาคตที่สดใส หลังจากเรียนจบปริญญาตรีด้านการตลาด คุณฐาได้เข้าทำงานเหมือนคนทั่วไป แม้ในช่วงแรกจะต้องใช้เวลาหางานที่ให้โอกาสคนพิการ แต่เขาได้พิสูจน์ว่าเขามีศักยภาพในการทำงานไม่ต่างจากคนปกติ แต่ชีวิตของเขาต้องเจอกับจุดพลิกผันเมื่อเกิดสถานการณ์โควิด

จริงๆ ผมสามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป แต่คนส่วนใหญ่จะตัดสินไปแล้วว่า เราทำอะไรไม่ได้จากสิ่งที่เขาเห็น ทำให้คนพิการไม่ได้มีแม้แต่โอกาสที่จะได้โชว์ความสามารถของพวกเขา โอกาสในการหางานของคนพิการน้อยกว่าคนปกติ

ฐา บอกว่า ช่วงโควิดระบาดรอบแรก บริษัทที่ผมเคยทำอยู่ลดเวลาทำงานจนเราอยู่ไม่ได้ จึงตัดสินใจออกจากงาน ซึ่งการจะสมัครงานที่ใหม่ก็ยากมาก  เพราะหลายบริษัทจะเลือกพิจารณาคนที่ครบ 32 ก่อน  เลยลองมาสมัครขับแกร็บเพื่อส่งอาหาร เพราะแกร็บเปิดโอกาสให้คนทุกเพศ ทุกวัย ซึ่งผมมีใบขับขี่และมีรถมอเตอร์ไซค์ที่ดัดแปลงระบบให้ใช้มือซ้ายขับได้อยู่แล้ว ทุกอย่างเลยไม่มีปัญหา จึงทำให้การขับแกร็บกลายเป็นรายได้หลักของผมในช่วงนั้น

ปัจจุบัน ฐามีรายได้จากการขับแกร็บมากพอสำหรับค่าใช้จ่ายในครอบครัว  แม้จะได้งานประจำใหม่แต่ก็ยังขับแกร็บเป็นพาร์ทไทม์  เพราะอยากเก็บเงินเป็นทุนการศึกษาให้ลูก

เชื่อไหมว่า พอผมมาขับแกร็บ มีลูกค้าและเพื่อนๆ ไรเดอร์คนอื่นๆ ถามผมมาขับได้ยังไง แกร็บเขารับคนแบบผมด้วยเหรอ ก็ใช้โอกาสนี้เล่าเรื่องราวให้พวกเขาฟัง และส่งกำลังใจให้คนที่กำลังท้อแท้หรือเจอกับปัญหาอยู่ด้วย คนที่ได้ฟังเรื่องราวของผมเขาจะได้คิดทบทวนว่าขนาดผมที่ร่างกายไม่สมบูรณ์ยังมีแรงสู้ต่อได้เลย แล้วทำไมเขาถึงจะไม่สู้

สิ่งที่ผู้พิการต้องการมากที่สุด คือโอกาสในการได้พิสูจน์ตัวเองว่า เราก็มีศักยภาพที่สามารถทำงานได้เหมือนคนปกติ แค่เพียงเปิดโอกาสให้เราได้ลองทำดู

  ส่งมอบโอกาสให้กับผู้ที่ต้องการ

วิลาสินี โรจน์ธรรมรัตน์ หรือ คุณต่าย พาร์ทเนอร์คนขับแกร็บวัย 52 ปีที่เลือกเกษียณอายุงานก่อนกำหนด และเข้าสู่เส้นทางอาชีพคนขับรถรับส่ง ซึ่งเธอเป็นหนึ่งในกลุ่มพาร์ทเนอร์คนขับที่เลือกเข้ารับการอบรมเพื่อให้บริการ GrabAssist ซึ่งเป็นบริการพิเศษที่แกร็บริเริ่มขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้โดยสารในกลุ่มที่เป็นผู้พิการและผู้สูงอายุ

  ช่วงแรกที่้มาขับ บริการ GrabAssist จะมีผู้เชี่ยวชาญจาก สสส. มาสอนเรื่องการให้บริการ  การดูแลผู้สูงอายุและคนพิการ  เป็นโครงการที่ดีมาก พอได้เข้ามาให้บริการ GrabAssist เลยรู้ว่ามีคนที่ต้องการความช่วยเหลือพิเศษในการเดินทาง แต่คนขับส่วนใหญ่มองว่าเสียเวลา เลยมีคนขับให้บริการไม่มากนัก

ต่าย มองว่า บริการ GrabAssist เป็นมากกว่าการขับรถรับส่งผู้โดยสารทั่วไป เป็นงานที่ต้องใช้ทั้งความอดทน ความมีวินัย และใจสู้ด้วย เพราะการดูแลคนพิการหรือคนป่วยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย มีหลายครั้งที่ลูกค้ามักจะขอบคุณที่ช่วยให้เขาเดินทางได้สะดวกขึ้น เพราะเราให้บริการช่วยเหลือเขาอย่างเต็มที่  มันทำให้ใจฟู  ทำให้เราได้มีโอกาสช่วยเหลือคนที่เขาต้องการ   ไม่ใช่แค่การหารายได้เท่านั้น แต่คือการได้ส่งต่อโอกาส และช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนในสังคมดีขึ้นด้วย

บางครั้งอุปสรรคของคนพิการไม่ได้เกิดจากความทุพพลภาพหรือความบกพร่องทางร่างกาย แต่กลับมาจากการถูกมองข้ามหรือด้อยค่าจากผู้คนในสังคมที่ตัดสินความสามารถของพวกเขาจากสภาพภายนอก

การเปิดใจและให้โอกาสจึงเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะให้ทุกคนอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างเท่าเทียม

ผู้เขียน
ทีม iJournalist