ข่าวทั่วไป

ห้องเรียนนอกกรอบสนุกเหมือนปาร์ตี้ไก่ KFC

6 มิถุนายน 2567

ห้องเรียนนอกกรอบสนุกเหมือนปาร์ตี้ไก่ KFC

เห็นรายวิชาที่สอนในห้องเรียนนอกกรอบ ของ KFC  แล้ว ทึ่งมาก

KFC ของคุณลุงผู้พันแซนเดอร์ ไม่ได้มีดีแค่ปาร์ตี้ไก่ทอด  แต่ยังเป็นคุณครูของโรงเรียนนอกกรอบสอนได้สนุกสนาน แม้จะมาแบบนอกกรอบ  แต่ครบถ้วนของสาระการเรียนรู้ในทุกกลุ่มวิชา

KFC มุ่งมั่นทำงานร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) มา 3 ปีแล้ว  เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความเหลื่อมล้ำในหลายๆ ด้าน

กำเนิด KFC Bucket Search

โครงการ KFC Bucket Search ของ KFC และ กสศ.  เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2566   มีเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวน 130 คน ในพื้นที่กว่า 10 จังหวัดทั่วประเทศ

ปี 2567  หลังจากได้โมเดลการจัดการศึกษาแบบยืดหยุ่นแล้ว  ทั้งสองหน่วยงาน จับมือกันทำงานต่อเนื่อง  เพิ่มจำนวนและปรับพื้นที่   เพื่อหาทางแก้ปัญหาเด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา ให้ทำงานไปพร้อมๆ กับเรียน

 KFC  เป็นเอกชนแบรนด์แรกที่ ริเริ่มหลักสูตร KFC ทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ  นำร่องการศึกษาจัดการศึกษาที่มีความยืดหยุ่น  มีเด็กเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาหลักสูตร มอบโอกาสให้เด็กได้เลือกเรียนตามความสนใจและความเหมาะสม

ภัทรา  ภัทรสุวรรณ  ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบริหารแบรนด์เคเอฟซี บริษัทยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย)  จำกัด บอกว่า   โครงการ KFC Bucket Search  เป็นหลักสูตรที่มีความยืดหยุ่นและเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้ผ่านการทำงานจริง  ได้รับความรู้ด้านการเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงานในปัจจุบันและอนาคต

KFC วางเป้าหมายขยายผลโครงการ ฯ เพื่อมอบโอกาสให้เด็กที่หลุดออกจากระบบในพื้นที่ 40 จังหวัดทั่วไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ช่วยให้เด็กๆ ได้นำความรู้และประสบการณ์ไปพัฒนาต่อยอดอาชีพการงาน สร้างรายได้เลี้ยงชีพตนเองและครอบครัว รวมทั้งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของประเทศด้วย

 

หลักสูตรทักษะอาชีพและการเป็นผู้ประกอบการ

ทีมคุณครูของห้องเรียนนอกกรอบ ได้ยกตัวอย่างรายวิชาที่เปิดสอน จำนวน 14 หน่วยการเรียน  แยกเป็น

หน่วยวิชาในร้าน  ประกอบด้วย การบริการและสุขาภิบาลอาหาร  ด้วยใจรักนักบริการ ตัวตึงวงการอาหาร ปรมาจารย์ด้านการครัว ยอดนักขาย   จักรวาลภาษาในโลกธุรกิจ และนักการเงินตัวยง

หน่วยวิชาในออฟฟิศ ประกอบด้วย การสื่อสารและการตลาดนอกกรอบ ภาษาอังกฤษเพื่อความก้าวหน้า นักเปลี่ยนแปลงโลก วิชาครีเอทีฟเพื่อโลก เข้าสู่โลกการทำงานแบบดิจิทัล  การบริหารและสื่อสารองค์กรฉบับผู้พันแซนเดอร์ และการจัดการแผนงานลับสุดยอด

หลักสูตรนอกกรอบของ KFC ได้พัฒนาเป็นพิเศษปรับตามมาตรฐานตัวชี้วัดของหลักสูตรแกนกลาง

เด็กและเยาวชนที่ได้เข้าร่วมห้องเรียนนอกกรอบ จะได้รับการสนับสนุน 2 รูปแบบ ดังนี้

1.ทางเลือกสายวิชาชีพ มอบทุนการศึกษาให้เด็กและเยาวชนนอกระบบ อายุ 15-24 ปี เพื่อใช้เรียนหลักสูตรเฉพาะตามความถนัด ฝึกทักษะอาชีพ เทียบวุฒิ ทุนการศึกษานี้ครอบคลุมค่าเล่าเรียน ค่าฝึกอบรม และเงินเริ่มต้นสำหรับการประกอบอาชีพ

2.ทางเลือก Work-Study  มอบทุนการศึกษาให้เยาวชนที่ต้องการเรียนควบคู่ไปกับการทำงาน ครอบคลุมค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้แก่ ค่าเล่าเรียน ค่าอุปกรณ์การเรียน ค่าอาหารกลางวัน  ค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ทางเลือกนี้ผู้เรียนสามารถเลือกสถานประกอบการได้ตามความเหมาะสม

ใครจะได้เรียนหลักสูตรนอกกรอบ

มีรายงานว่า ปีนี้โครงการ KFC Bucket Search ของ KFC และ กสศ.  จะลงพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  ในสภานพินิจฯ และกลุ่มเยาวชนแรงงานนอกระบบ ซึ่ง กสศ.จะมีกระบวนการค้นหากลุ่มเป้าหมายของจังหวัดในพื้นที่ โดยใช้กลไกระดับจังหวัด

เด็กและเยาวชนไทยหลุดจากระบบการศึกษากว่า 1 ล้านคน

ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า  การส่งเสริมให้ภาคเอกชนร่วมจัดการศึกษาควบคู่กับการทำงานให้แก่เด็กนอกระบบ เป็นหนึ่งในมาตรการหลักของ Thailand Zero Dropout  เนื่องจากภาคเอกชนมีความสามารถที่เข้มแข็งกว่าภาครัฐในการเชื่อมโยงระหว่างโลกของการศึกษากับโลกของการทำงาน

ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา ตั้งแต่ชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษาปีที่ 6 สูงสุดถึง 1,020,000  คน  ภาครัฐตั้งเป้าหมายว่า ประเทศไทยจะต้องบรรลุเป้าหมาย Zero Dropout ภายในปี 2570

“อาจจะไม่ถึง 0 คน แต่ภายใน 4 ปี นับจากนี้ จะให้มีเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาเหลือเพียงหลักแสนต้นๆ  ตัวเลขอาจจะขึ้นๆลงๆ  เพราะเยาวชนอาจจะรอทำงาน รอเข้าเรียน ”

อาชีพที่เด็กและเยาวชนนอกระบบสนใจ

จากการวิจัยสำรวจของกสศ. ในกลุ่มเด็กนอกระบบ 35,003 คน ทั่วประเทศ พบว่า เด็กประมาณร้อยละ 50 มีความต้องการให้สนับสนุนอุปกรณ์การเรียน และการฝึกอาชีพ

อาชีพสนใจ ได้แก่ ช่างยนต์ ครู ทหาร หมอ ค้าขาย เกษตรกร พยาบาล ธุรกิจส่วนตัว  ช่างเสริมสวย ช่างตัดผม  ฯลฯ 

ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง กสศ. และ KFC  ได้ตั้งเป้ายกระดับชีวิตของเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษาจำนวน 300 คน ภายในปี 2567

ภาคเอกชนที่สนใจด้านการศึกษาเหมือน KFC  สามารถเข้ามาร่วมทำงานคู่กับ กสศ. เพื่อหาทางเพิ่มศักยภาพของเด็กและเยาวชนกลุ่มที่หลุดจากระบบการศึกษา  หรือจะร่วมบริจาคให้ กสศ. ก็ได้รับการลดหย่อนภาษี 2 เท่า

บริจาค  https://www.eef.or.th/donate/

เป็นครั้งแรกที่ กสศ. และหน่วยงานที่จัดการศึกษาทั่วประเทศ 21 สังกัด  ทำงานจนกระทั่งได้จำนวนเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษา จำนวน  1,020,000  คน   เป็นกลุ่มที่มีความซับซ้อน  ต้องการรายได้ จึงต้องหารูปแบบให้ทำงานมีรายได้ โดยไม่ต้องยุติการศึกษา  เปลี่ยนรูปแบบการทำงานให้เป็นธนาคารหน่วยกิต นำไปสู่วุฒิการศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตในอนาคต เพราะการเรียนรู้นำไปสู่การสร้างอาชีพ  นำไปสู่คุณภาพชีวิตดีๆ ได้ยั่งยืน

ผู้เขียน
ปรารถนา ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเทคโนโลยี

More read

Tags

  • KFC
  • KFCBucketSearch
  • kfcthailand
  • กสศ.
  • ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กส...
  • ภัทรา  ภัทรสุวรรณ  ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดบริหารแบรนด์เคเอฟซี บริ...