ฟินให้สุดราง…ไปแอ่วม่วนๆ กับขบวนรถไฟสายเหนือ
จุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งนี้ เริ่มจากการติดตามไปดูการทำงานของมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ซึ่งรับทุนสนับสนุนจาก บพข.(หน่วยบริการและจัดการทุน ด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ) ของสกสว. ในสังกัด กระทรวง อว.
Lanna Modernization Railroad Travel
เพื่อทำงานตามแผนงานวิจัยการยกระดับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์บนเส้นทางรถไฟสายเหนือส่วนขยาย (เชียงใหม่–ลำปาง–ไปยังพิษณุโลก) ซึ่งเส้นทางของทริปนี้เป็นรอบปฐมฤกษ์ เพื่อการทดสอบสินค้าและบริการทางการท่องเที่ยว ชื่อโครงการ Lanna Modernization Railroad Travel
เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวโดยรถไฟ ซึ่งจะก่อให้เกิดการกระตุ้นการท่องเที่ยว กระจายรายได้ลงสู่ชุมชน
โดยมีความร่วมมือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย ด้านการใช้ทรัพยากรเครือข่ายที่มีอยู่ร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เกิดการเดินรถไฟท่องเที่ยวในจังหวัดภาคเหนือและในภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศ และรองรับการเดินรถไฟเพื่อการท่องเที่ยวในอนาคต
ทั้งสองหน่วยงานได้นำจุดแข็งของแต่ละฝ่าย มาสร้างสรรค์เป็นการท่องเที่ยวที่แตกต่าง และยังไม่เคยเกิดขึ้นในเส้นทางใดมาก่อน โดยรถไฟจะให้บริการ เดินทางท่องเที่ยวที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ผสมผสานบริการแบบ Luxury การตกแต่งขบวนรถไฟและห้องโดยสาร ให้มีความสวยงามแสดงออกถึงอัตลักษณ์วัฒนธรรมภาคเหนือ ช่วยให้ผู้โดยสารได้สัมผัสกลิ่นอายและบรรยากาศตลอดการเดินทาง
ก่อนหน้านี้ ม.ราชภัฏลำปาง จัดการท่องเที่ยวทางรถไฟในเส้นทางภาคเหนือมาแล้ว 4 ครั้ง ขายตั๋วหมดทุกครั้ง
ดร. ปัณณทัต กัลยา อาจารย์ประจำ คณะวิทยาการจัดการ หัวหน้าโครงการวิจัย บอกว่า การจัดการท่องเที่ยวทางรถไฟ ทุกคนมองเห็นสภาพปัญหาเดียวกัน อยากมีขบวนรถไฟท่องเที่ยวที่เป็นขบวนจริงๆ ที่ไม่ได้ไปเบียดบังการขนส่งมวลชน ซึ่งการรถไฟฯ ก็พยายามจัดหาขบวนรถไฟที่จะใช้เป็นขบวนเพื่อท่องเที่ยว แต่การรถไฟฯ ก็ยังไม่ถนัดด้านนี้ ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยผ่านโครงการวิจัย จะเป็นมิติที่จะช่วยต่อจิ๊กซอว์ด้านการท่องเที่ยว ในภาคเหนือ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก ได้เห็นการขยายขึ้นมาแล้ว
ปู้นๆ ไปเที่ยวกัน
สำหรับทริป ล้านนา–สองแคว ฯ ใช้เวลา 3 วัน 2 คืน คราวนี้ออกสตาร์ทจากเชียงใหม่ ฉันจึงนั่งเครื่องบินมาจากกรุงเทพฯ เลือกนอนที่โรงแรม at the train หน้าสถานีรถไฟเชียงใหม่ เพราะรถไฟออกจากเชียงใหม่ 8.30 น. ในวันรุ่งขึ้น เป็นขบวนรถไฟดีเซลรางสองตู้ เนื่องจากเป็นขบวนปฐมฤกษ์ของเส้นทางล้านนา–สองแคว ทริปนี้จึงมีทั้งระดับ VIP. นักท่องเที่ยวรับเชิญ นักท่องเที่ยวแฟนรายการวิทยุ อสมท.ลำปาง และนักท่องเที่ยวแบบจ่ายตังค์มาเอง
เส้นทางที่ 1 เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง
ตั๋วรถไฟออกแบบมาสวยงามเป็นพิเศษ เป็นทั้งตั๋วโดยสารและคูปองแลกอาหารเครื่องดื่ม
ภายในตู้รถไฟ จัดตกแต่งในสไตล์ล้านนา มีพนักงานบริการประจำทุกตู้ ระหว่างการเดินทางจะมีเสียงบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ เกี่ยวกับประวัติของการสร้างทางรถไฟ ที่เกี่ยวพันกับเมือง แต่เสียดายที่ไม่มีภาพประกอบเสียงบรรยาย ทราบมาว่า มีข้อจำกัดเรื่อง การเดินสายไฟภายในตู้โดยสาร
ลำพูน คือจุดหมายปลายทางแรก
ออกจากเชียงใหม่ สถานีแรกที่จะได้ลงไปเที่ยวคือ สถานีลำพูน มีรถรางมารับไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง สายมู สายบุญรับรองว่าถูกใจ
เริ่มด้วย กู่ช้าง กู่ม้า เป็นสุสานช้างศึก – ม้าศึก คู่บารมีของพระนางจามเทวี ด้านหน้าเป็นกู่ช้าง ส่วนกู่ม้า อยู่ด้านหลัง เป็นโบราณสถานศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองอีกแห่งหนึ่งที่ชาวลำพูนให้ความเคารพนับถือ เมื่อต้องการสิ่งใด ก็มักจะมาขอพรกันที่นี่
ได้ยินคุณลุงคุณป้าร่วมทริปบอกว่า ศักดิ์สิทธิ์มาก ขออะไรก็ได้ดั่งหวัง ฉันก็เลยรีบไปเอาดอกไม้ธูปเทียนมาจุดเร็วพลัน สาธุ รางวัลที่ 1 จงเป็นของข้าพเจ้าสักทีเถิด
กู่ช้าง ตามตำนานเล่าว่า สร้างขึ้นเพื่อบรรจุซากพระยาช้าง ชื่อ ปู่ก่ำงาเขียว หมายถึงช้างสีคล้ำ งาสีเขียว เป็นช้างคู่บารมีของ พระนางจามเทวี ปฐมกษัตริย์แห่งนครหริภุญไชย (หริภุญชัย) ช้างปู่ก่ำงาเขียวล้มเมื่อวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 พระนางจามเทวีโปรดให้นำซากช้างมาฝังไว้ที่นี่
จากนั้นขยับ ไปทำกิจกรรมที่ศูนย์การเรียนรู้การทอผ้าไหม ลำพูน ดูการปลูกหม่อน เลี้ยงไหม สาวไหม แต่ได้ทำกิจกรรมผ้ามัดย้อม ! กิจกรรมนี้ฉันก็นั่งจิบน้ำ ดูคุณลุงคุณป้าสนุกสนานกับการมัดย้อม
พอสมควรแก่เวลา รถรางก็พาพวกเรามาที่วัดมหาวันวนาราม ต้นกำเนิดของพระรอด ซึ่งเป็น 1 ใน 5 พระเครื่องชุดเบญจภาคี ได้เข้าฐานกิจกรรมกดพิมพ์พระรอด เสียดายได้แต่กดพิมพ์พระ ทางวัดไม่ได้ให้เอาพระรอดกลับมา เพราะยังไม่ผ่านพิธีกรรมและเตาเผา
จุดหมายปลายทางต่อไป คือไปสักการะพระธาตุหริภุญชัย พระธาตุของคนเกิดปีระกา แอบบอกที่วัดพระธาตุฯ ห้องน้ำสะอาดมาก ส่วนใต้ต้นโพธิ์หน้าวัดมีร้านมุกดาเฉาก๊วยอร่อยเด็ดที่สุด
จบทัวร์สายมูก็ได้เวลาอาหารกลางวัน รถรางพากลับไปที่สถานีรถไฟลำพูน ซึ่งด้านหลังมีลานกว้างทางโครงการล้านนา–สองแควฯ ได้จัดเป็นกาดมั่ว ให้ทานอาหารพื้นเมือง มีสินค้าโอทอปให้ชอปปิงก่อนขึ้นรถไฟ มุ่งหน้าไปยังจังหวัดลำปาง
ระหว่างเส้นทาง รถไฟได้จอดที่สะพานทาชมพู เพื่อให้ลงไปถ่ายภาพวิวสวยงามของสะพานรถไฟที่เป็นโครงสร้างคอนกรีตสีขาว ปกติเราจะเห็นสะพานรถไฟเป็นโครงเหล็กสีดำ แล้วกลับขึ้นรถไฟนั่งอีกไม่นาน ลงไปยลหน้าอุโมงค์ขุนตาล อุโมงค์รถไฟยาวที่สุดในประเทศไทย แล้วต่อไปยังก็ถึงสถานีปลายทาง คือสถานีนครลำปาง
เส้นทางที่สอง ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก
นอนค้างลำปาง 1 คืน วันรุ่งขึ้นรีบกลับมาสถานีรถไฟนครลำปาง แต่เช้าตรู่ เพื่อร่วมพิธีเปิดเส้นทางปฐมฤกษ์ เส้นทางที่ 2 หลังจากทำพิธีเปิดโครงการ ขบวนรถไฟดีเซลรางปรับอากาศ หน้าต่างกว้าง แอร์เย็นฉ่ำ ก็พาเราออกจากลำปาง จุดแวะแรกคือสถานีบ้านปิน ซึ่งเด่นที่ตัวอาคารเป็นศิลปะยุโรป อายุกว่า100 ปี เป็นสถานีรถไฟแห่งแรกและแห่งเดียวของไทยที่สร้างแบบบาวาเรียน เยอรมนี ผสมผสานกับเรือนปั้นหยาของไทย ได้แวะถ่ายรูป และชอปปิงสินค้าโอทอปของชุมชนมากมาย
สถานีปางต้นผึ้ง
บรรยากาศและสถานที่เหมือนได้ย้อนอดีตกับสถานีรถไฟที่คุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กๆ จุดนี้ทางชุมชนได้จัดตลาดนัดเล็ก ๆ นำสินค้าในท้องถิ่นมาขายมีทั้งทุเรียน หลิน – หลง ขนมเทียนเสวย และสินค้าโอทอปมากมาย
ก่อนจะโบกมือลาปางต้นผึ้ง มุ่งหน้าสู่จังหวัดพิษณุโลก สถานีปลายทางของการท่องเที่ยวทางรถไฟทริปนี้
เส้นทางนี้ทางโครงการฯเสิร์ฟอาหารกลางวัน อาหารว่างบนรถไฟ ซึ่งออกแบบให้เข้ากับธีมของสถานีบ้านปินและสถานีปางต้นผึ้ง ขอบอกว่า อร่อยมาก
จะดีกว่านี้ หากทางโครงการฯลดปริมาณขยะจากกล่องอาหาร ในแต่ละจุด ก็จะนำไปสู่การท่องเที่ยวที่สร้างความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม
ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง
รถไฟ ไม่ว่าจะเก่าหรือไม่ก็มีเสน่ห์ เพราะรถไฟผ่านหลังบ้านของเมือง ทำให้เราเห็นสิ่งต่างๆมากมาย ถ้าอยากไปเที่ยวแบบนี้ แนะนำให้กดติดตาม
เพจทีมพีอาร์การถไฟแห่งประเทศไทย https://www.facebook.com/pr.railway
เพจ Lanna Modernozation Railrode Travel https://www.facebook.com/lanna.modernization
หรือโทร.1690 call center การรถไฟฯ
แอบบอก เร็วๆ นี้ จะมีทริปเที่ยวเมืองน่าน รีบหยอดกระปุกกันค่ะ
บรรณาธิการเทคโนโลยี
8 เทรนด์กระเบื้องมาแรงปี 2025 “From Nature to Life” เชื่อมโยงธรรมชาติกับชีวิต
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้