ข่าวทั่วไป

ดนตรีบำบัด ศาสตร์แห่งการคลายเครียดของคนเมือง

21 กุมภาพันธ์ 2566

อีกหนึ่งโรคของคนเมืองคงหนีไม่พ้น “ความเครียด” ซึ่งแต่ละคนก็มีวิธีบำบัดเพื่อคลายความเครียดแตกต่างกันออกไป ทั้งการช้อปปิ้ง การรับประทานอาหาร การท่องเที่ยว เป็นต้น

รู้หรือไม่ว่า “ดนตรีบำบัด” ก็เป็นอีกหนึ่งศาสตร์แห่งเสียงที่มีความมหัศจรรย์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาแล้วว่า ดนตรีนั้นสามารถกระตุ้นส่วนต่างๆ ของสมองเพื่อมอบประโยชน์ให้แก่สุขภาพหลายประการ ซึ่งรวมถึงคลายความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า GEN HEALTHY LIFE  แนะนำทริคเกี่ยวกับ “ดนตรีบำบัด” ให้หนุ่มสาวคนเมืองหลวงได้นำไปปรับใช้กัน

ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่าหนุ่มสาวในสังคมมีอาการเครียด หรือภาวะซึมเศร้ากันเป็นจำนวนมากขึ้น ส่วนเด็กเล็กบางกลุ่มก็พบว่ามีปัญหาเรื่องสมาธิสั้น ดังนั้นจึงมีการนำศาสตร์ดนตรีบำบัด มาเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่นำมาช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต รวมถึงการบรรเทา ลดระดับความเจ็บปวดหรือความวิตกกังวล และความเครียด หรือภาวะซึมเศร้าได้ เมื่อใช้ร่วมกับการบำบัดอื่นๆ นอกจากนี้ ดนตรียังช่วยกระตุ้นส่วนต่าง ๆ ของสมองให้รู้สึกผ่อนคลาย สร้างการจดจำที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

สำหรับกิจกรรมดนตรีบำบัดมีอยู่ 3 วิธีหลัก ได้แก่ “การเล่นดนตรีบำบัด” หรือดนตรีเพื่อคลายเครียด วิธีนี้จะช่วยส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์และการแสดงออกให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น การเล่นเปียโน  เพื่อช่วยพัฒนาการเรียนรู้ของเด็ก  หรือการร้องเพลง การตีกลองหรือเครื่องดนตรีต่างๆเพื่อบำบัดความเครียด เป็นหนึ่งในวิธีที่ช่วยกระตุ้นการรับรู้และเพิ่มความผ่อนคลายในชีวิตของเรา

“การสันทนาการดนตรีบำบัด” เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิต ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ และ สังคมให้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากมีกิจกรรมหลากหลายที่ช่วยกระตุ้นระบบประสาท ความจำ และสมาธิ รวมถึงการเคลื่อนไหวร่างกาย และ การหายใจ อาทิเช่น การร้องคาราโอเกะกับเพื่อน ขยับร่างกายผ่อนคลายความเครียดกับการเต้นลีลาศ การเต้นแอโรบิกแดนซ์ ฝึกสมาธิ-เล่นโยคะโดยใช้ดนตรีเข้ามามีส่วนร่วม

สุดท้ายคือ “การฟังดนตรีเพื่อบำบัด” แก่นแท้ของการฟังดนตรีเพื่อบำบัดความเครียด หรือ พัฒนาการใช้ชีวิต ไม่จำเป็นต้องเลือกฟังเฉพาะดนตรีคลาสสิค หรือ เสียงธรรมชาติเท่านั้น เพราะเสียงดนตรีทุกประเภทไม่ว่าจะเป็น ฮิพฮอพ แร๊ป ร็อค ก็สามารถผ่อนคลายอารมณ์เราได้ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละบุคคล ว่ามีอารมณ์ร่วมไปกับดนตรีประเภทไหน อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกเหนื่อยล้า หรือ เครียดจากเรื่องราวรอบตัว ควรให้เวลาตัวเองพักผ่อนสัก 15-20 นาที แล้วเปิดเพลงโปรดฟังเพื่อปลอบประโลมจิตใจ ปล่อยความรู้สึกที่มีภายในใจให้ได้รับการผ่อนคลายอย่างเต็มที่

ต้องยอมรับเลยว่าการใช้ชีวิตในสังคมที่ทุกอย่างดำเนินไปอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งเราตามไม่ทันประจวบกับสิ่งแวดล้อมรอบข้างที่ก่อให้เกิดความเครียดและความวิตกกังวลที่เข้ามาเขย่าจิตใจเราทำให้ไม่สามารถมีความสุขได้ “ดนตรีบำบัด” จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกดี ๆ ที่จะช่วยเพิ่มคุณค่าทางจิตใจให้กับเรา

More read

Tags

  • GEN HEALTHY LIFE
  • การฟังดนตรีเพื่อบำบัด
  • การสันทนาการดนตรีบำบัด
  • การเล่นดนตรีบำบัด
  • ดนตรีบำบัด