ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ขณะกำลังโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด
Facebook : NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยแพร่ภาพและข้อมูลดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส หรือ C/2023 A3 (Tsuchinshan-ATLAS)
กำลังปรากฏเหนือท้องฟ้าประเทศไทยหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ช่วงเช้ามืด ทางทิศตะวันออก แต่ยังมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องสองตา หรือกล้องโทรทรรศน์ช่วยสังเกตการณ์
วันที่ 28 กันยายน 2567 เป็นช่วงที่ดาวหางกำลังโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ระยะห่างประมาณ 58.6 ล้านกิโลเมตร (ประมาณระยะห่างจากดวงอาทิตย์ถึงดาวพุธ) ขณะดาวหางกำลังโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ จะได้รับรังสีพลังงานสูงจากดวงอาทิตย์จนทำให้ปลดปล่อยฝุ่นและแก๊สออกมามากยิ่งขึ้น เกิดเป็นหางที่พุ่งยาวไปในอวกาศได้ไกลหลายล้านกิโลเมตร
ทั้งนี้ ดาวหางดวงนี้จะโคจรเข้าใกล้โลกที่สุดในวันที่ 13 ตุลาคม 2567 ที่ระยะห่าง 70.6 ล้านกิโลเมตร ซึ่งจะเป็นช่วงที่ดาวหางจะมีความสว่างปรากฏบนท้องฟ้ามากที่สุด ก่อนจะโคจรออกห่างจากโลกไปเรื่อย ๆ ซึ่งจะโคจรกลับมาอีกครั้งในอีก 80,660 ปีข้างหน้า
สำหรับการสังเกตการณ์ในประเทศไทย ช่วงนี้ไปจนถึงประมาณวันที่ 6 ตุลาคม 2567 ดาวหางจะปรากฏในช่วงรุ่งเช้าก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ทางทิศตะวันออก และหลังจากนั้นตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2567 เป็นต้นไป ดาวหางจะปรากฏบนท้องฟ้าช่วงหัวค่ำ ทางทิศตะวันตก
ข้อมูลดาวหางเพิ่มเติม>>
https://www.facebook.com/share/p/XFFqbXsS3hib2S6r/?mibextid=WC7FNe
ขอบคุณภาพและข้อมูล FB: NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ