เทคโนโลยี

ตกเป็นเหยื่อ ‘แอปกู้เงินเถื่อน’ ต้องทำอย่างไร

14 มกราคม 2568

 เป็นเรื่องใหญ่ของวงการสมาร์ตโฟน หลังจากผู้บริโภคได้ร้องเรียนถึงการติดตั้งแอปล่วงหน้าของแบรนด์มือจากค่ายจีน  แบรนด์ OPPO และ realme   โดยเฉพาะแอปเงินกู้

ซึ่งหวั่นเกรงว่า ข้อมูลส่วนตัวจะตกอยู่ในมือมิจฉาชีพ 

จนกระทั่ง กสทช.และกระทรวง ดีอี ได้เข้าไปตรวจสอบ  ขอสรุปความคืบหน้าให้อ่านกันค่ะ

16 มกราคม OPPO เปิดอัพเดทเวอร์ชั่นใหม่

ล่าสุด OPPO ได้ส่งเอกสารถึงสื่อ มีข้อความระบุว่า  

OPPO ขออภัยอย่างยิ่งต่อความไม่สบายใจที่เกิดขึ้นกับผู้ใช้งานบางแอปพลิเคชันในช่วงที่ผ่านมา เราให้ความร่วมมือและทำงานอย่างใกล้ชิดกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้ดำเนินการทันทีดังนี้:

 

  • ในช่วงเย็นวันที่ 13 มกราคม 2568 แอปพลิเคชัน Fineasy ได้ออกประกาศภายในแอปฯ เพื่อระงับการให้บริการแล้วเป็นที่เรียบร้อย
  • ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โทรศัพท์ใหม่ที่ยังไม่ได้แก้ไขปัญหาการติดตั้งแอป Fineasy ล่วงหน้าจะไม่ถูกจำหน่ายอีกต่อไป
  • ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2568 ผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนจะได้รับการอัปเดต OTA (Over-the-Air) ซึ่งเป็นเวอร์ชันระบบใหม่ที่ไม่มีการติดตั้งแอปฯ Fineasy อีกต่อไป
  • ตั้งแต่วันที่ 14 มกราคมเป็นต้นไป จะหยุดการติดตั้งแอปฯ ล่วงหน้าของแอปฯ สินเชื่อของบุคคลที่สามทั้งหมดในอุปกรณ์ของ OPPO

ทั้งนี้ OPPO มุ่งมั่นที่จะพัฒนาและปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานที่ดีเยี่ยมเพื่อผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง และยินดีให้ความร่วมมือกับหน่วยงานกำกับดูแลและคุ้มครองผู้บริโภค เราขอขอบคุณความไว้วางใจและการสนับสนุนจากผู้ใช้งานทุกท่านเป็นอย่างดีเสมอมา

TrueMoney’ ขอชี้แจงโดนพาดพิง

  จากกรณีข่าวเกี่ยวกับผู้ผลิตและจัดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ มีการติดตั้งแอปพลิเคชันทางการเงินบนอุปกรณ์มาจากโรงงาน และเนื้อหามีการพาดพิงถึงแอปพลิเคชันทรูมันนี่ (TrueMoney) บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัดผู้ให้บริการทรูมันนี่  ขอชี้แจงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าว ตามรายละเอียดดังนี้ 

 

  1. แอปพลิเคชัน ทรูมันนี่ (TrueMoney) เป็นแอปพลิเคชันที่ให้บริการทางการเงินอย่างถูกกฎหมาย

 

  1. บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัดและบริษัทในเครือทั้งหมด รวมถึง บริษัท ทรูมันนี่ จำกัด มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจจากหน่วยงานกำกับที่เกี่ยวข้องอย่างถูกต้อง โดยบริษัท ทรูมันนี่ จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจให้บริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ จากธนาคารแห่งประเทศไทย และบริษัท แอสเซนด์ นาโน จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจสินเชื่อดิจิทัล จากธนาคารแห่งประเทศไทย

 

  1. บริษัทฯ ไม่มีนโยบายหรือการร่วมมือกับผู้ผลิตมือถือแบรนด์ใด ๆ ทำการติดตั้งแอปพลิเคชันทรูมันนี่ ตั้งแต่ผลิตที่โรงงาน รวมทั้งไม่มีการติดตั้ง Pre-Install แอปพลิเคชันทรูมันนี่ ในมือถือที่จำหน่ายที่ร้านหรือตัวแทนจำหน่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

 

  1. หากผู้ใช้งานประสงค์จะใช้งานแอปพลิเคชันทรูมันนี่ (TrueMoney) ต้องทำการดาวน์โหลดแอปฯ ด้วยตนเองผ่าน Apple Store (iOS) หรือ Play Store (Android) และเป็นผู้ให้ความยินยอมเองตลอดกระบวนการสมัครและใช้บริการ

 

  1. บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด และบริษัทในเครือทั้งหมด ให้ความสำคัญในการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้ใช้งานในระดับสูงสุด บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจโดยยึดตามหลักตามกฏหมาย อาทิ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด และมีการขออนุญาตเพื่อเก็บ รวบรวม และเข้าถึงข้อมูลใด ๆ ของผู้ใช้ก่อนทุกครั้ง และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดทุกประการ

 

  1. บริษัท แอสเซนด์ มันนี่ จำกัด และบริษัทในเครือทั้งหมดให้ความสำคัญในการปกป้องความปลอดภัยในการทำธุรกรรมทางการเงินของผู้ใช้งานสูงสุด ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ทรูมันนี่ ได้นำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ 3X Protection ตรวจ–จับ-หยุด มาใช้เพื่อสร้างความรัดกุมในการเข้าใช้บัญชีด้วยการยืนยันตัวตนหลายชั้น และหยุดธุรกรรมแปลกปลอม พร้อมป้องกันการดูดเงิน โดยปิดกั้นการเข้าถึงบัญชีทรูมันนี่หากอุปกรณ์ของผู้ใช้มีการเปิดการตั้งค่าหรือติดตั้งแอปที่ไม่ปลอดภัย

เครดิตภาพและข้อมูล : สภาองค์กรผู้บริโภค

ตกเป็นเหยื่อ ‘แอปกู้เงินเถื่อน’ ต้องทำยังไง

สภาผู้บริโภค แนะนำวิธีรับมือกับแอปฯ กู้เงินเถื่อน  หากหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อไปแล้ว จะจัดการปัญหานี้อย่างไร

1.มีสติตอนถูกทวงเงิน ซึ่งเจ้าหนี้ก็ต้องทำตามกฎหมายหากต้องการทวงเงินด้วย คือ เจ้าหนี้ติดต่อทวงถามหนี้ได้ไม่เกินวันละ 1 ครั้ง ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 20.00 น. ส่วนวันเสาร์และวันอาทิตย์และวันหยุดราชการจะทวงหนี้ได้ในเวลา 08.00 – 18.00 น. นอกจากนี้ เจ้าหนี้ห้ามพูดจาดูหมิ่นลูกหนี้ ห้ามข่มขู่ใช้ความรุนแรง หรือห้ามประจานลูกหนี้

2.หลีกเลี่ยงการเปิดอ่านข้อความหรือรับโทรศัพท์จากแอปฯ กู้เงินเถื่อนที่มาทวงหนี้

3.หยุดก่อหนี้เพิ่ม และติดต่อสายด่วนแก้หนี้ 1213 หรือ สายด่วนชนะหนี้ 1443

4.เล่าข้อเท็จจริงและรูปแบบการกระทำของมิจฉาชีพ ลงบนโซเชียลมีเดียเพื่อเตือนภัยให้กับคนรู้จัก

5.แจ้งสายด่วน 1559 หรือสายด่วนของศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หากถูกปลอมแปลงหรือขโมยข้อมูลออนไลน์ เพื่อกู้คืนหรือแก้ไขบัญชีให้ถูกต้อง

6.ติดตามข่าวสารและเข้าร่วมโครงการไกล่เกลี่ยหนี้ที่ภาครัฐจัดขึ้น

วิธีแจ้งความและป้องกันตัวแบบง่ายๆ

ทำบัตรประชาชนใหม่ เพื่อป้องกันมิจฉาชีพนำบัตรใบเดิมไปแอบอ้างทำธุรกรรมต่าง ๆ

รวบรวมหลักฐานเหล่านี้ เพื่อไปแจ้งความดำเนินคดีทางกฎหมาย

    • รายการเดินบัญชี (Statement) ที่กู้เงินออนไลน์
    • ชื่อและหน้าแอปฯ กู้เงินเถื่อน
    • หลักฐานการแช็ต
    • แจ้งความที่สถานีตำรวจใกล้บ้าน เพื่อให้ดำเนินคดีถึงที่สุด รวมถึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจประสานงานไปยังตำรวจไซเบอร์ (บก.สอท.)

ช่องทางติดต่อกับสภาผู้บริโภค

หากผู้บริโภคพบปัญหาถูกแอปฯ กู้เงินเถื่อนเข้ามาคุกคามหรือทวงหนี้ สามารถเข้ามาปรึกษาและร้องเรียนกับสภาผู้บริโภคเพื่อ ร้องเรียน ร้องทุกข์ ออนไลน์ ได้ตามช่องทางดังต่อไปนี้

วิธีสังเกตแอปเงินกู้เถื่อน ก่อนที่ข้อมูลส่วนตัวจะตกอยู่ในมือมิจฉาชีพ

  • Lจะมีลักษณะให้เงินกู้ไม่เต็มจำนวนตามกู้ เช่นอ้างว่าหักเป็นค่าดำเนินการ หักดอกเบี้ยไว้ล่วงหน้า แต่ผู้กู้ยังต้องชำระเต็มจำนวน
  • คิดดอกเบี้ย ค่าปรับสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด
  • ระยะเวลาการชำระคืนสั้น มีการทวงหนี้แบบข่มขู่ คุกคาม
  • ตรวจสอบแอปฯ เงินกู้ที่ถูกกฎหมาย ที่ได้รับอนุญาตจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ที่ https://www.bot.or.th/th/license-loan.html

บทเรียนราคาแพงของแบรนด์มือถือ

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงกลายเป็นบทเรียนราคาแพงของแบรนด์มือถือทั้ง OPPO และ realme  เป็นกลยุทธ์การตลาดแบบได้ไม่คุ้มเสีย  ไม่เคารพความเป็นส่วนตัวของลูกค้า  เมื่อตระหนักแล้วก็ควรต้องรีบหาหนทางเรียกความเชื่อมั่นกลับคืนมา

ผู้เขียน
ทีม iJournalist