ข่าวทั่วไป

Pride  Month กับสังคมการทำงาน ผ่านมุมมองขององค์กรใหญ่

29 มิถุนายน 2566

Pride  Month กับสังคมการทำงาน ผ่านมุมมองขององค์กรใหญ่

ชอบเดือนมิถุนายน  เพราะเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองและเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มหลากหลายทางเพศ  LGBTQ+    เป็นเดือนที่มีกิจกรรมสีสันสดใสสวยงามในหลายประเทศทั่วโลก

เรียกว่า  Pride Month

ประเทศไทย ก็เป็นอีกจุดหมายของการเฉลิมฉลองที่สนุกสนานและมีชีวิตชีวา   

ล่าสุด การประชุม ครม. เมื่อวันอังคารที่ 27 มิถุนายน 2566 มีมติรับทราบให้หน่วยงานรัฐจัดให้มีห้องน้ำในสถานที่ราชการและหน่วยงานในกำกับรัฐเพื่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ ให้ได้ใช้ห้องน้ำได้ตามเพศสภาพ หรืออัตลักษณ์ทางเพศสภาพ  โดยให้จัดการจากของเดิมที่มีอยู่ หรือเพิ่มห้องน้ำสำหรับบุคคลทุกเพศ นอกเหนือจากห้องน้ำชาย หญิงและผู้พิการ

วันก่อนตั้งใจไปฟังการเสวนาเรื่อง การยอมรับในความแตกต่างและการมีส่วนร่วมในสถานที่ทำงาน(Diversity & Inclusion in the workplace)” เนื่องในเดือนแห่งความภาคภูมิใจของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (Pride Month) วิคเตอร์คลับ สาทร สแควร์

  มีตัวแทนจาก บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล และโรงพยาบาลพญาไท 2  มาแชร์ถึงสังคมการทำงานที่เปิดกว้างให้กับความหลากหลาย

นี่คือเรื่องที่จะเขียนให้อ่าน อาจจะยาว แต่น่าสนใจ จริงๆ

แอสตราเซเนก้า  กับสวัสดิการที่เปลี่ยนได้ตามความต้องการของพนักงาน

อนาวิล โชคอมรินทร์

อนาวิล โชคอมรินทร์ ผู้จัดการฝ่ายผลิตภัณฑ์ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด  เล่าให้ฟังบนเวทีเสวนาว่า  แอสตร้าเซนเนก้า  มีวัฒนธรรมองค์กรที่สนับสนุนความเท่าเทียมและความเสมอภาค  สร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ทำให้พนักงานรู้สึกอยากมาทำงาน รู้สึกปลอดภัยทั้งทางร่างกายและจิตใจ มีกลุ่ม AZ Pride  ซึ่งเป็นเครือข่ายของพนักงานจากทั่วโลก  เพื่อส่งเสริมให้กลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ได้มีส่วนร่วมและแสดงศักยภาพในด้านการทำงานของตนเอง  

  “  ในสังคม  LGBTQ+ ได้รับการยอมรับมากแล้ว  แต่ยังมีบางส่วน เช่น การประกาศรับสมัครงานยังระบุเพศ สัมภาษณ์งานอาจจะถามเรื่องส่วนตัว เช่น ชอบผู้หญิง หรือผู้ชาย   มีการเลือกปฏิบัติ แต่ที่แอสตราเซเนก้า ไม่มีปัญหานี้  เพราะทุกคนเท่าเทียม  คนกลุ่มนี้มีความคิดสร้างสรรค์ ช่วยให้บริษัทเติบโต

แอสตร้าเซเนก้า ให้ความสำคัญกับ Pride Month   ให้พนักงานแสดงออกทั่วโลก  แม้แต่วันลา  ผู้ชายได้สิทธิลาไปช่วยเลี้ยงลูก 30 วัน    สวัสดิการสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามความต้องการของพนักงาน  เพื่อให้พนักงานอยากจะทำงานกับองค์กรต่อไป

อนาวิล เชื่อว่า  หากสถานที่ทำงาน  สถานศึกษา   ยอมรับความแตกต่าง ไม่ปิดกั้นความคิด  ถ้าเป็นบริษัทพนักงาน จะรู้สึกว่า อยากทุ่มเทกับงานเต็มที่  บริษัทก็จะได้ผลงานที่ดี เกิดการพัฒนาต่อไป

บริดจสโตนรับพนักงานไม่ระบุเพศมาสองปีแล้ว

เป็นคำบอกเล่าจาก สุทธกานต์ ช้างน้อย ผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายสรรหาและพัฒนาศักยภาพบุคลากรทรัพยากรบุคคล  สำนักงานกลาง บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด

สุทธกานต์ ช้างน้อย

 

บริดจสโตน เปิดกว้างในเรื่องความหลากหลายมาก  มีพนักงาน LGBTQ+ เข้ามาทำงานเพิ่มมากขึ้นทุกปี  แต่ที่ยังตามไม่ทัน คือ เรื่อง ห้องน้ำ  ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการ

ในอุตสาหกรรมยานยนต์  บริดจสโตน เป็นธุรกิจมีความหลากหลาย  การรับสมัครงาน ไม่ได้ระบุเพศมาสองปีแล้ว เน้นดูคุณสมบัติ ความสามารถ ทัศนคติ  เป็นการรับคนที่เปิดกว้างมาก    ในช่วง 3-4 ปีมีเพศทางเลือกเข้ามาทำงานมากขึ้น พบว่า  เป็นส่วนผสมที่ดี มีความแข็งแรง อุตสาหกรรมยางต้องการคนบุคลิกแบบนี้เข้ามาทำงาน เพราะมีความเป็นผู้นำสูง ทำให้สังคมนั้นมีความสุข กลุ่มรีเทล แคชเชียร์ ออโตแคร์ การบริการดีมาก กลุ่มผู้บริหารก็มีแล้ว 

บริดจสโตน มีแอปขององค์กร มี chat bot ที่ฉลาดมากขึ้นทุกวัน  สามารถให้คำแนะนำเกี่ยวกับสถานพยาบาลที่ใกล้บ้านพนักงาน  รับฟังข้อเสนอแนะ จากพนักงานแล้วนำมาพัฒนา  มีรายการแฮปปี้ ฟรายเดย์ ออกอากาศทางยูทูปทุกวันศุกร์ เน้นสร้างวัฒนธรรมการยอมรับการทำงานร่วมกันและการยอมรับผู้อื่น

ลอรีอัลมีวันลาให้อีก 15 วัน ไม่เกี่ยวลาพักร้อน

อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการองค์กรและการสื่อสารสัมพันธ์ บริษัท ลอรีอัล(ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า  ลอรีอัล กรุ๊ป  ซึ่งเป็นธุรกิจความงามระดับโลก  ปรับเปลี่ยนสวัสดิการที่ทุกคน ทุกเพศสภาพ ทุกสถานภาพ สามารถใช้ประโยชน์ได้เท่าเทียมกัน

เช่น การให้วันลา Flex Leave เพิ่มเติม 15 วันจากวันหยุดพักร้อนปกติ 12 วัน  เพื่อให้ทุกคนนำไปใช้ทำกิจกรรมอะไรก็ได้ ไม่ต้องมีเหตุผล อยากลาไปทำอะไรก็ไม่ต้องบอก ไม่จำกัดขอบเขต  และวันลา 15 วันเพื่อการรับบุตรบุญธรรม

 

อรอนงค์ ประทักษ์พิริยะ

ส่วนการรับสมัครงาน  ที่ลอรีอัล ไม่ระบุเพศมานานแล้ว  องค์กรเน้นจริยธรรมการเคารพกัน  มีวันจริยธรรมประจำปี

เป็นการทำงานที่ สนุก เพราะทุกคนได้แสดงออกอย่างที่ตัวเองเป็น ทำให้เกิดพลัง มีความสุขในการทำงาน

ลอรีอัล มีมุมมองความงามที่หลากหลาย  ทำงานกับอินฟลูเอนเซอร์มากมาย แม้แต่รองพื้นใบหน้าก็ยังมีหลากหลายเฉดสี ให้เข้าสีผิว  ไม่ว่าจะเป็นใคร

คอร์สออนไลน์วิชาเพศสภาพของ .มหิดล

เป็นไอเดียที่น่าทึ่ง เมื่อได้ฟัง  อาจารย์ภัททกา เสงี่ยมเนตร  จากหมวดสังคมศาสตร์ และการฝึกงานวิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล  ซึ่งบอกว่า   คนรุ่นใหม่มีความกระตือรือร้นในการพัฒนาตนเองและสังคม สนใจด้านหลักการสิทธิมนุษยชนมากขึ้น  องค์กรต่างๆ ที่กำลังมองหาบุคลากรที่มีศักยภาพ  ต้องมีความชัดเจนในด้านนโยบาย  ภาคการศึกษาได้พยายามจะสอดแทรกเนื้อหาด้านสิทธิมนุษยชน  ให้เข้าใจตรงกันว่า  สิทธิก็ยังมีกรอบเพื่อความสงบสุขในสังคม

คนรุ่นใหม่จะให้ความสำคัญและวัดระดับความใส่ใจขององค์กร โดยเริ่มต้นจากการสังเกตรายละเอียดปลีกย่อยที่ตนเองได้พบเจอ เช่น การกรอกสถานะเพศสภาพในใบสมัครงาน หรือห้องน้ำในองค์กรที่ไม่จำกัดเฉพาะชายหญิง เป็นต้น

ภัททกา เสงี่ยมเนตร

หากองค์กรใดสนับสนุนนโยบายด้านนี้ก็จะสามารถสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ให้กับบุคลากร ทำให้พวกเขาสามารถเป็นตัวของตัวเอง ปราศจากความกังวลที่จะต้องย้อนความเป็นตัวตน(Gender Identity) ส่งผลให้สามารถดึงศักยภาพของตนเองมาเพื่อพัฒนาองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

วิทยาลัยนานาชาติ .มหิดล    มีห้องเรียนไม่ระบุเพศ  ส่งเสริมให้นักศึกษาตั้งคลับ เป็นกระบอกเสียงเพื่อให้มหาวิทยาลัยสนับสนุนตรงกับความต้องการ   เพราะการรวมกันไม่ใช่แค่การยอมรับ  แต่รวมถึงการเข้าใจความแตกต่าง เพศสภาพ การแสดงตัวตน  ต้องแยกออกจากความต้องการทางเพศสัมพันธ์

แม้แต่คำสรรพนาม นักศึกษาไม่อยากให้เรียก นาย หรือนางสาว    ก็จะได้เปิดกว้างให้นักศึกษาบอกว่า  อยากให้เรียกแบบไหน  ขณะนี้ กำลังเปิดสอนออนไลน์เกี่ยวกับวิชาด้านเพศสภาพ ให้นักศึกษาเข้าใจอย่างลึกซึ้งต่อการปฏิบัติตัวในเพศต่างๆ  ส่งเสริมให้นักศึกษา ค้นหาความเป็นตัวของตัวเอง

สุภาพร  บัญชาจารุรัตน์  

เครือพญาไทเปาโล ให้พนักงานมีความสุขกับองค์กร

เป็น HR รุ่นใหญ่ที่ดูสนุกและมีความสุขกับการทำงานนี้   

สุภาพร  บัญชาจารุรัตน์   ผู้อำนวยการสายทรัพยากรบุคคล เครือโรงพยาบาลพญาไท และเครือโรงพยาบาลเปาโล  บอกว่า  ในเครือฯ มีพนักงาน ประมาณ 3% ที่เป็น LGBTQ+แล้วเปิดเผย   เน้นปฏิบัติต่อทุกคนด้วยความเท่าเทียมกัน ไม่ได้ขับเคลื่อนงานด้วยเพศ แต่เน้นที่ความสามารถ

เมื่อพนักงานเลือกเพศ  พบว่า พนักงานคนนั้นมีความสุขมาก  คนกลุ่มนี้เป็นผู้นำในการออกไอเดียและความคิดได้หลากหลาย  ดังนั้นหากยังไม่มีความสุขก็เปิดออกมา หลายองค์กรยอมรับมากขึ้น ผู้บริหารทุกบริษัทมีความสำคัญในการสนับสนุน  แม้จะยังไม่มีห้องน้ำเฉพาะ แต่ทุกคนอยู่ร่วมกันและใช้ร่วมกันได้

ปัจจุบัน การรับพนักงานจะไม่ระบุเพศ  เน้นดูคุณสมบัติและความสามารถ   โดยเฉพาะตำแหน่งบริหารเปิดกว้าง  HR  จะรวบรวมข้อมูลจากพนักงาน  มาขับเคลื่อนการทำงานของหน้าที่ต่างๆ ขององค์กร  ต้องมีความเชื่อว่า คนพัฒนาได้   จึงออกแบบยูนิฟอร์มทั้งกางเกง กระโปรงเพื่อให้เลือกใส่ได้  ในเครือมีพนักงาน 10,000 คน ทุกคนรู้จักกัน ผ่านกิจกรรมที่จัดเป็นประจำ บนหลักการเกียวกัน แต่วิธีทำแตกต่างกัน  สวัสดิการต้องออกแบบให้พนักงานเอื้อมถึง ให้พนักงานมีความสุขกับองค์กร

ช่องว่างระหว่างวัยในสถานที่ทำงาน

เป็นคำถามจากผู้เข้าร่วมเสวนา  ซึ่งขอคำแนะนำในเรื่องนี้  คำตอบที่สรุปได้จากเวทีก็คือ คนรุ่นใหม่มีความท้าทาย ไม่อยากทำงานไปเรื่อยๆ จนเกษียณ  แต่ต้องการอยู่และเติบโตในหน้าที่การงาน   

คนรุ่นใหม่ กล้าพูด กล้าคิด แต่ก้าวร้าว ก็อยู่ใกล้กันนิดเดียว ทุกคนมีจุดดีในตัว แต่ต้องหาให้เจอ  HR ต้องบริหารให้เป็นธรรม ยุติธรรม ใครทำดีต้องได้ดี  ระบบเป็นธรรม  ระบบยุติธรรม หัวหน้างานต้องบริหารได้

ต้องรับฟัง แล้วมองไปข้างหน้าด้วยกัน

อยากให้หน่วยงานในบ้านเรา ทั้งรัฐและเอกชน มาฟังเวทีเสวนานี้ อาจจะได้มุมมองใหม่ๆ เพื่อสร้างความสุขให้คนทำงานที่มีหลากหลาย  ให้เกิดความเท่าเทียมและเสมอภาค

 

ผู้เขียน
ปรารถนา ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเทคโนโลยี

More read

Tags

  • LGBTQ+
  • ความหลากหลายในสถานที่ทำงาน
  • บริษัท ลอรีอัล (ประเทศไทย) จำกัด
  • บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด
  • บริษัท ไทยบริดจสโตน จำกัด
  • วิทยาลัยนานาชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ห้องน้ำเสมอภาค
  • โรงพยาบาลพญาไท 2