ข่าวทั่วไป

ซิวเกลี้ยง-แดงเมืองเลย ข้าวเหนียว GI ซูเปอร์ฟู้ดส์เลย

23 กันยายน 2567

ทุกชุมชนย่อมมีประวัติ มีเรื่องราวแสดงถึงอัตลักษณ์อันโดดเด่น

ข้าวเหนียวที่เรากินกันคู่กับไก่ย่างและส้มตำแทบทุกวัน ก็มีหลากหลายสายพันธุ์ทั่วไทย

ไทยมีข้าวพื้นเมืองมากกว่า 20,000 สายพันธุ์

ชาญธวัช แง้เจริญกุล  นักวิชาการเกษตรชำนาญพิเศษ  ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมเศรษฐกิจและการค้าข้าว กรมการข้าว   เล่าให้ฟังระหว่างการเดินทางว่า  ประเทศไทยมีสายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองมากกว่า 20,000 สายพันธุ์ ซึ่งเก็บพันธุกรรมเอาไว้แล้ว ในภาคใต้จะมีข้าวสายพันธุ์พื้นเมืองมากที่สุด จากสภาพภูมิประเทศที่มีภูเขาค่อนข้างมาก

สำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นภูมิภาคที่มีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมข้าว

มีพื้นที่เพาะปลูกข้าวมากกว่า 40 ล้านไร่

มีผลผลิตข้าวมากที่สุดในประเทศไทยเฉลี่ยต่อไร่กว่า 900 กิโลกรัม

เกษตรกรสามารถสร้างมูลค่าได้จากทั้งการผลิตข้าวเจ้า ข้าวเหนียว ข้าวนุ่ม มีกลิ่นหอม  แต่ละสายพันธุ์มีรสชาติอร่อยเฉพาะตัว

จึงเป็นแหล่งพัฒนา ผลิต แปรรูปข้าวคุณภาพในกลุ่มสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือ GI  มีข้าวพื้นถิ่นที่แตกต่างจากภูมิภาคอื่น ๆ

กรมการข้าว พบว่า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นพื้นที่มีการอนุรักษ์ การปลูกข้าวได้หลากหลายและน่าสนใจ ทั้งกรรมวิธีเพาะปลูก  การแปรรูป การมีเมล็ดพันธุ์ข้าวดั้งเดิมของแต่ละจังหวัด การทำนาด้วยความความประณีต วิถีเกษตรอินทรีย์ที่สืบสานมาจากภูมิปัญญาของบรรพบุรุษซึ่งช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนของทรัพยากรท้องถิ่น

วิธีการนี้ยังทำให้หลาย ๆ ชุมชนที่ปลูกข้าวสามารถพึ่งพาตนเองได้ สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs)

จังหวัดเลย มีข้าว GI ถึง 2 สายพันธุ์

จังหวัดเลย เป็นหนึ่งในแหล่งผลิตข้าวสำคัญของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   ได้เครื่องหมาย GI  ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI)  ถึง 2 สายพันธุ์ ได้แก่   ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย และข้าวเหนียวซิวเกลี้ยง

จากการส่งเสริมและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พบว่า วิสาหกิจชุมชนที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าว คือ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่บ้านน้ำเย็น ชุมชนบ้านน้ำเย็น ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย  ซึ่งมีความโดดเด่นในการปลูกข้าวซิวเกลี้ยง  เป็นข้าวเหนียวที่มีไฟเบอร์สูง  ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเกี่ยวกับลำไส้ ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือดช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด แร่ธาตุและวิตามิน รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกัน และควบคุมน้ำหนัก

อีกแห่ง คือ วิสาหกิจชุมชนออมทรัพย์เกษตรยั่งยืนบ้านศรีเจริญ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย  ชุมชนต้นแบบปลูกข้าวเหนียวแดงเมืองเลย    สุดยอดข้าวน้ำตาลต่ำ

ข้าวเหนียวซิวเกลี้ยง ข้าวเหนียวพันธุ์แท้อีสาน

ข้าวไร่เฉพาะถิ่นจังหวัดเลย เป็น 1 ในสายพันธุ์ข้าวหายาก  ได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์  (GI) ปลูกได้เฉพาะบนที่ราบระหว่างภูเขาที่มีความสูง 500 – 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง หรือนาในที่ลุ่มที่ไม่มีน้ำขัง ในอำเภอด่านซ้าย ภูเรือ และนาแห้ว

ชาวบ้านรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่บ้านน้ำเย็น  ใช้วิธีการคัดเลือกพันธุ์ตามภูมิปัญญาท้องถิ่น  ข้าวเหนียวซิวเกลี้ยง  ต้นไม่ล้มง่าย แตกกอดี ต้านทานโรค มีรวงยาวใหญ่  แม้ฝนจะทิ้งช่วง 10 – 20 วันข้าวก็ไม่ตาย ทนต่อความเป็นกรดเป็นด่างได้สูง  ทั้งยังมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว

ขายเมล็ดพันธุ์ให้คนบนดอยหลายจังหวัด

กำนันสังวร จันทรคีรี ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่บ้านน้ำเย็น เล่าให้ฟังว่า  พื้นที่บ้านน้ำเย็น ปลูกข้าวไร่มากที่สุดของอ.ด่านซ้าย กว่า 5,000 ไร่  ได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากกรมการข้าว  มุ่งเน้นการปลูกและพัฒนาผลิตภัณฑ์ข้าววิถีเกษตรอินทรีย์ โดยใช้เทคโนโลยีที่เหมาะสม ควบคู่ไปกับกรรมวิธีแบบดั้งเดิม

ข้าวเหนียวซิวเกลี้ยง  ได้ชื่อนี้ เพราะเมล็ดเรียวยาว ใบและเมล็ดไม่มีขน  มีลักษณ์ะเกลี้ยงและเรียวเหมือนปลาซิวอ้าว  ทุกวันนี้ทางกลุ่มมีรายได้หลักจากการขายเมล็ดพันธุ์ ให้เกษตรกรในจังหวัดน่าน อุตรดิตถ์ ลำปาง    และขายข้าวสารผ่านร้านค้าในตัวจังหวัด

ปีที่ผ่านมามีผลผลิตรวม 325 ตัน สามารถจำหน่ายข้าวเปลือกได้ตันละ 50,000 บาท  กลุ่มสินค้าข้าวที่ขายดีและสร้างรายได้ให้กับชุมชน คือ  ข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงชนิดบรรจุถุง 2 ขนาด ได้แก่ ขนาด 1 กิโลกรัม และขนาด 5 กิโลกรัม

ขณะนี้กำลังต่อยอดไปสู่การทำขนมนางเล็ด   (ในภาคเหนือเรียกข้าวแต๋น)  ไอศกรีมข้าวเหนียวซิวเกลี้ยง   

แต่ก็ยอมรับว่า ยังต้องพัฒนาอีกมาก หากจะไปสู่การตลาดแบบยั่งยืน

ข้าวเหนียวแดง เมืองเลย  สุดยอดข้าวน้ำตาลต่ำ

วิสาหกิจชุมชนออมทรัพย์เกษตรยั่งยืนบ้านศรีเจริญ อำเภอภูหลวง จังหวัดเลย  เป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวเหนียวแดง เมืองเลย   อีกหนึ่งข้าว  GI ของจังหวัดเลย

เป็นข้าวซูเปอร์ฟู้ดส์   เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีสารอาหารที่ช่วยลดอัตราการเกิดของโรคมะเร็ง อัตลักษณ์เฉพาะตัวคือ เมล็ดข้าวนุ่ม น้ำตาลต่ำ มีกลิ่นหอม และมีสารอาหารสูงจากธาตุที่ได้จากแหล่งเพาะปลูก และคงความนุ่มไว้ได้นาน ปลูกได้เฉพาะพื้นที่อำเภอภูหลวง  ซึ่งโดดเด่นทางภูมิศาสตร์และประสบการณ์เฉพาะตัวในกระบวนการผลิตข้าวตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ  ได้รับการยอมรับจากกลุ่มผู้รักสุขภาพ

ปีที่ผ่านมาชุมชนแห่งนี้ สามารถจำหน่ายข้าวได้ราคาตันละ 80,000 บาท   กำลังต่อยอดแปรรูปข้าวเหนียวแดงเป็น โจ๊ก ภายใต้แบรนด์ “ขุนเลย” และสาโทจากข้าวเหนียวแดงเมืองเลย หวังให้เป็นของดีประจำชุมชน

เชื่อมโยงข้าวเหนียวแดงกับการท่องเที่ยวบ้านศรีเจริญ

กำนันแสวง ดาปะ ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มออมทรัพย์เกษตรยั่งยืนบ้านศรีเจริญ บอกว่า ข้าวเหนียวแดง กำเนิดที่เลย แล้วก็สูญพันธุ์ไป  ปี 2556  กลุ่มไปร่วมงานเครือข่ายเกษตรทางเลือกภาคอีสานที่ ม.มหาสารคาม  มีกลุ่มจากยโสธร ทำเรื่องอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้าน เห็นชื่อพันธุ์จังหวัดเลย จึงได้ซื้อเมล็ดพันธุ์กลับมาปลูก  5 กิโลกรัม  ระหว่างปลูกก็ไปสืบค้นเรื่องราวจากปู่ย่าตายาย จึงได้รู้ว่า ที่ซื้อกลับมานั้น เป็นข้าวเหนียวแดงดั้งเดิมของจังหวัดเลย

ปี 2557 ได้ส่งข้าวเหนียวแดงไปประกวดที่ยโสธร ได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้านความหอมมากที่สุด

จากนั้นจึงเริ่มเก็บข้อมูลและบันทึกอย่างจริงจัง  พบว่า ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย แตกกอได้สูงสุด 70 กอ หนึ่งรวง มี  300 เมล็ด ผลผลิตต่อไร่  800-1,200 กิโลกรัม

มีสำนักงานเกษตรภูหลวง ศูนย์วิจัยข้าวชุมแพ  และมหาวิทยาลัยราชภัฎเลยเข้ามาช่วยพัฒนาและเพิ่มมูลค่าข้าวเหนียวแดงเมืองเลย

ด้านการขาย ข้าวเหนียวแดง ได้ทำควบคู่ไปงานเทศกาลท่องเที่ยวอาหารพื้นบ้าน ดอกฝ้ายบาน  ผนวกฝ้ายเข้ากับข้าวเหนียวแดง  มีพาแลงข้าวหลามข้าวเหนียวแดง ซึ่งหากินได้ยาก ไม่มีขายทั่วไป  มีเฉพาะในแปลงของสมาชิกเท่านั้น

แนวทางต่อไป จะขยายพื้นที่เพาะปลูก มีแปลงเรียนรู้ แปลงคัดเมล็ดพันธุ์ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน อยากให้เป็นข้าวเหนียวแดงที่อยู่คู่จังหวัดเลย

ม.ราชภัฎใช้งานวิจัยเสริมข้อมูลโภชนาการ

ผศ.ดร.สุปราณี สิทธิพรหม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย พาคณะนักวิจัยเข้ามาร่วมทำงานกับทั้งข้าวเหนียวซิวเกลี้ยงและข้าวเหนียวแดงเมืองเลย บอกว่า ข้าวทั้งสองสายพันธุ์ มีเอกลักษณ์เฉพาะเมื่อนำไปปลูกนอกพื้นที่ได้ผลผลิต แต่คุณลักษณะเฉพาะจะหายไป จากสภาพพื้นที่ ดินและอากาศที่แตกต่างจากต้นกำเนิด

เช่น สีแดงของรวง กลิ่นหอม และนุ่ม   รวมทั้งสารอาหาร

ทางนักวิจัยกำลังอยู่ในขั้นตอนศึกษาเพื่อทำฉลากโภชนาการให้กับข้าวทั้งสองสายพันธุ์ แสดงให้เห็นถึงความต่าง ทั้งประวัติ  คุณลักษณ์เฉพาะและโภชนาการทางอาหาร

ผู้เขียน
ปรารถนา ฉายประเสริฐ

บรรณาธิการเทคโนโลยี

More read

Tags

  • GI จังหวัดเลย
  • กรมการข้าว
  • ข้าวพื้นเมือง
  • ข้าวเหนียว GI
  • ข้าวเหนียวซิวเกลี้ยง
  • ข้าวเหนียวแดงเมืองเลย
  • ด่านซ้าย
  • ภูหลวง