กรมสุขภาพจิต เผย 3 สัญญาณเสี่ยงในเด็ก “เศร้าเครียดหงุดหงิดง่าย ท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่อยากไปโรงเรียน” พร้อมแนะนำ School Health HERO เครื่องมือเพื่อเฝ้าระวัง (9 symptoms หรือ 9S) คัดกรองอาการของเด็ก และนำไปสู่การแก้ไขได้ทันท่วงที ลดการสูญเสีย ช่วยให้เด็กไทยใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพและมีความสุข
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า 2- 3 เดือนที่ผ่านมา พบว่า มีข่าวสะเทือนขวัญของการฆ่าตัวตายและทำร้ายตัวเองในเยาวชนเพิ่มขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับผลการประเมินสุขภาพจิตเยาวชนโดยระบบ Mental Health Check-in ที่พบเยาวชนไม่ค่อยมีความสุขถึง 1 ใน 3 ของเยาวชนที่เข้ามาประเมินทั้งหมด ซึ่งปัญหาเหล่านี้สามารถป้องกันแก้ไขได้ หากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดเด็กและเยาวชนทั้งพ่อแม่และคุณครูสามารถสังเกตสัญญาณเตือนแล้วให้การช่วยเหลือ
สัญญาณเตือนที่บ่งชี้ว่าเด็กอาจมีภาวะซึมเศร้าและเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย 3 สัญญาณ ได้แก่ เศร้าเครียดหงุดหงิดง่าย ท้อแท้เบื่อหน่าย ไม่อยากไปโรงเรียน
หากพบเด็กมีอาการข้อใดข้อหนึ่ง โปรดอย่านิ่งนอนใจ ต้องรีบหาทางแนะนำหรือชักชวนให้เข้าสู่ระบบการช่วยเหลือเพื่อไม่ให้สายเกินแก้ โดยคุณครูสามารถเข้าใช้งานระบบสุขภาพจิตโรงเรียนบนระบบดิจิทัล School Health HERO ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ) กรมสุขภาพจิต UNICEF และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อเฝ้าระวังปัญหาพฤติกรรมอารมณ์ของนักเรียนและเรียนรู้วิธีให้การปรึกษาออนไลน์ หากยังไม่ดีขึ้น สามารถส่งต่อขอรับการปรึกษาจากทีมสาธารณสุขผ่านแอปพลิเคชันได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
แพทย์หญิงวิมลรัตน์ วันเพ็ญ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า ปัจจุบันทาง สพฐ ได้ขยายผลการใช้งานระบบ School Health HERO อย่างต่อเนื่อง ข้อมูล ณ วันที่ 19 สิงหาคม 2565 มีนักเรียนที่ได้รับการเฝ้าระวังแล้ว 432,668 คน จากจำนวนนักเรียนทั่วประเทศกว่า 7 ล้านคน ซึ่งยังต้องขยายผลเพิ่มขึ้นเพื่อให้ครอบคลุมนักเรียนทั้งหมด ในกลุ่มที่ได้รับการเฝ้าระวังสี่แสนกว่ารายนั้น พบกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าวิตกกังวล 12,826 คน
ซึ่งทางกรมสุขภาพจิตพร้อมด้วยบุคลากรสาธารณสุขในโรงพยาบาลจังหวัดและโรงพยาบาลชุมชนแต่ละพื้นที่ได้เตรียมพร้อมเป็นที่ปรึกษาด้านสุขภาพจิตสำหรับคุณครูเพื่อการดูแลเด็กนักเรียนร่วมกัน หรือที่เรียกว่า HERO consultant ทำให้โรงเรียนและโรงพยาบาลทำงานร่วมกันได้ง่ายขึ้น ปัจจุบันมีการขอรับการปรึกษามาแล้ว 4,962 ราย ซึ่งอยู่ระหว่างการดูแลช่วยเหลือ
ส่วนกรณีที่นักเรียนต้องการขอรับการปรึกษาด้วยตัวเอง โดยไม่ผ่านผู้ปกครองหรือครู สามารถเข้าใช้งานระบบ Mental Health Check-in ได้ทาง www.วัดใจ.com เพื่อประเมินสุขภาพจิตตนเอง และขอรับการปรึกษาจากบุคลากรด้านสุขภาพจิตโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ซึ่งช่องทางนี้ก็มีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เข้ามาใช้งานแล้วประมาณ 111,338 ราย เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายร้อยละ 14.6 ซึ่งทางกรมสุขภาพจิตจะติดต่อไปยังหมายเลขโทรศัพท์ที่ให้ไว้ เพื่อให้การช่วยเหลือต่อไป
สำหรับโรงเรียนที่สนใจสามารถโทรศัพท์เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมในการใช้งานระบบ School Health HERO ได้ที่เบอร์โทร. 080 805 4738, Email: itsara4738@gmail.com, ฐานข้อมูล School Health HERO โดยเลือก “ช่วยเหลือ” หรือผ่านทาง http://help.heroapp.in.th/support/home
8 เทรนด์กระเบื้องมาแรงปี 2025 “From Nature to Life” เชื่อมโยงธรรมชาติกับชีวิต
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้