สภาผู้บริโภคเปิดสายด่วน “สภาผู้บริโภค1502” รับปรึกษา-ร้องเรียนปัญหา หวังช่วยเหลือผู้บริโภคที่ใช้เทคโนโลยีไม่ถนัด ไม่คล่องตัว ได้มากขึ้น
สมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยุคสมัยที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงและพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีทำให้ผู้บริโภคสามารถซื้อสินค้าและบริการด้วยปลายนิ้ว แต่สิ่งที่มาพร้อมกับความทันสมัยคือผลเสียที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค เช่น การถูกหลอกลวง สินค้าไม่ตรงปก ไม่ได้รับสินค้า ซ้ำร้ายกว่านั้นแก๊งคอลเซ็นเตอร์ยังสามารถหลอกเอาเงินจากบัญชีไปได้อย่างง่ายดาย หากต้องการจะได้สินค้าและบริการที่ครบถ้วนก็ต้องร้องเรียน หรือนำเรื่องขึ้นสู่ชั้นศาล ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนและความเสียหายรุนแรง
ด้วยเหตุผลกังกล่าวจึงต้องมีสภาผู้บริโภคเพื่อทำหน้าที่คุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคในทุกด้าน และเสนอแนะนโยบายและมาตรการที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้บริโภคทั้งยังสนับสนุนให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืน การเพิ่มช่องทาง”สายด่วนสภาผู้บริโภค1502″ จะทำให้ประชาชนเข้าถึงความช่วยเหลือได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว จากนี้ผู้บริโภคไม่ต้องต่อสู้เพียงลำพัง เพราะมีสภาผู้บริโภคช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด
“สภาผู้บริโภคเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่ 1 ก.ค. 2564 มีองค์กรสมาชิกแล้ว 54 จังหวัด รับเรื่องราวร้องทุกข์จากผู้ 38,500 กว่าเคส ได้แก้ปัญหาไปแล้ว 80% จังหวัดอื่นที่ยังไม่มีองค์กรสมาชิก ก็เชิญชวนประสานงานให้ใช้ประโยชน์จากสภาผู้บริโภค หากมีปัญหาถูกเอารัดเอาเปรียบ เงินในบัญชีหาย ซื้อของไม่ตรงสเปค ถูกหลอกลวง มีปัญหาก็ให้นึกถึงสภาผู้บริโภค 1502”
ด้านบุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาผู้บริโภค กล่าวว่า สภาผู้บริโภคเปรียบเสมือนจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค เพราะการขับเคลื่อนพลังผู้บริโภคในปัจจุบันนั้นไม่แบ่งแยกเป็นภาคเป็นส่วน ที่ต่างคนต่างทำอีกต่อไป แต่เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูล เรียกร้อง ผลักดัน และสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับพื้นที่ ภาคชนบทสู่พื้นที่เมือง พื้นที่ประเทศสู่ระดับภูมิภาค และระดับโลกในที่สุด ทั้งยังเป็นพื้นที่ที่เจ้าหน้าที่สภาผู้บริโภคและเครือข่ายร่วมกันระดมสมองเพื่อสร้างสรรค์ออกแบบงานคุ้มครองผู้บริโภค มีพื้นที่ให้ผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียน ไกล่เกลี่ย และผลักดันเสียงของผู้บริโภคไปสู่ข้อเสนอนโยบายต่อนักการเมือง รวมถึงการสร้างยุทธศาสตร์ในการสร้างอำนาจต่อรองกับกลุ่มทุนใหญ่ เพื่อให้ผู้บริโภคทุกคนในประเทศได้ประโยชน์
สภาผู้บริโภคคาดหวังว่าเราจะมีพลังในการทัดทานมากเพียงพอที่จะทำให้ผู้ประกอบการหรือกลถ่มทุนใหญ่ลดการเอาเปรียบผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่สุดและขาดไม่ได้คือผู้บริโภคทุกคนเป็นกำลังสำคัญที่จะนำพาประเทศไทยก้าวไปสู้สังคมใหม่ที่เสียงของผู้บริโภคจะได้รับฟัง อำนาจต่อรองจะมีมากขึ้น มีนโยบายรัฐที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการสำนักงานสภาผู้บริโภค ระบุว่า สภาผู้บริโภคเริ่มต้นจากการรวมตัวกันขององค์กรผู้บริโภคจำนวน 152 องค์กรจากทั่วประเทศร่วมกันจัดตั้ง “สภาองค์กรผู้บริโภค” จนกระทั่งปัจจุบันสภาผู้บริโภคดำเนินงานมาแล้วมากกว่า 2 ปี จำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเป็น 311องค์กร
หากดูจากสถิติในปีงบประมาณ 2566มี ผู้บริโภคที่ถูกละเมิดสิทธิผู้บริโภคได้ร้องทุกข์เข้ามาที่สภาผู้บริโภคเป็นจำนวน 16,142 เรื่อง ซึ่งสภาผู้บริโภคได้ช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับการชดเชยเยียวยาเสร็จสิ้นทั้งหมด 12,837 เรื่องหรือคิดเป็นร้อยละ 79 และสามารถคิดรวมเป็นมูลค่าความสำเร็จในการคุ้มครองผู้บริโภคได้ถึง 71,703,984.46บาท นอกจากนี้ยังได้จัดทำข้อเสนอแนะ ข้อเสนอเชิงนโยบาย และมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งระดับจังหวัด 9เรื่อง และระดับประเทศ25เรื่อง รวมทั้งหมด 36 เรื่อง สภาผู้บริโภคเดินหน้าคุ้มครองผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นว่ากระบวนการเอาเปรียบต้องยุติเร็วที่สุดและผู้บริโภคต้องสูญเสียน้อยที่สุด
“ที่ผ่านมา การร้องเรียนผ่านสภาผู้บริโภคเป็นการร้องเรียนผ่านสายโทรศัพท์ปกติ จำได้บ้างไม่ได้บ้าง ส่วนใหญ่เป็นการร้องเรียนผ่านทางออนไลน์เป็นหลัก ทั้ง LINE OA และเว็บไซต์ของสภาพผู้บริโภค ใน 2 ปีครึ่ง มีผู้ใช้บริการมากกว่า 38,000 เรื่อง การมีสายด่วนจะทำให้คนที่ไม่สามารถดาวน์โหลด เรื่องราวต่าง ๆ ก็สามารถโทรมาคุยกับเจ้าหน้าที่ได้มากขึ้น ขอคำแนะนำ ขอความช่วยเหลือได้ บางคนไม่มั่นใจว่าสิ่งทีตัวเองรู้ถูกต้องไหม ต้องไปศาล ต้องทวงหนี้ จะทำอย่างไร ผู้บริโภคที่ใช้เทคโนโลยีไม่ถนัด ไม่คล่องตัว สามารถใช้เบอร์โทรศัพท์ได้มากขึ้น หวังว่าเราจะเป็นเพื่อนช่วยแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคได้มากขึ้น” สารี อ๋องสมหวัง กล่าวสรุป
“ทับสะแก กรีนคาเฟ่ รักษ์โลก” จากโรงเรียนตัวท็อปด้านการจัดการขยะ สู่ร้านกาแฟกรีนดีไซน์
ผัดกะเพรายืนหนึ่งเมนูสตรีทฟู้ดยอดฮิตแห่งปี 2567 บน foodpanda
กทม.และ TikTok ร่วมกันสร้างเมืองแห่งการแบ่งปันผ่าน #BKKFoodBank
8 เทรนด์กระเบื้องมาแรงปี 2025 “From Nature to Life” เชื่อมโยงธรรมชาติกับชีวิต