สุขภาพ

วันเบาหวานโลก (World Diabetes Day)

14 พฤศจิกายน 2565

วันที่ 14 พฤศจิกายน ของทุกปี ถือเป็นวันเบาหวานโลก ปีนี้สหพันธ์โรคเบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation: IDF) ได้กำหนดประเด็นวันเบาหวานโลก คือ Education to protect tomorrow มุ่งเน้นให้ความรู้เรื่องโรคเบาหวาน ไม่ใช่แค่เฉพาะแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ แต่รวมถึงผู้ป่วยเบาหวานและผู้ดูแลด้วย เพื่อการรักษาเบาหวานที่มีประสิทธิภาพสูงสุด

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยสถานการณ์ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เนื่องในวันเบาหวานโลก ปี 2565 พบปีที่ผ่านมามีผู้ป่วยทั่วโลกแล้ว 537 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าในปี 2573 จะมีผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นเป็น 643 ล้านคน โรคเบาหวานมีส่วนทำให้เสียชีวิต สูงถึง 6.7 ล้านคน หรือเสียชีวิต 1 ราย ในทุกๆ 5 วินาที

สำหรับประเทศไทย จากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข พบอุบัติการณ์โรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น 3 แสนคนต่อปี และมีผู้ป่วยโรคเบาหวานอยู่ในระบบทะเบียน 3.3 ล้านคน ในปี 2563 มีผู้เสียชีวิตจากโรคเบาหวานทั้งหมด 16,388 คน (อัตราตาย 25.1 ต่อประชากรแสนคน) ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขในการรักษาโรคเบาหวานเฉลี่ยสูงถึง 47,596 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้โรคเบาหวานยังคงเป็นสาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดโรคอื่นๆ ในกลุ่มโรค NCDs เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง และโรคไตวายเรื้อรัง ฯลฯ

โรคเบาหวาน สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ เบาหวานประเภทที่ 1.เกิดจากตับอ่อนไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้  2. เกิดจากการที่ตับอ่อนผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้ไม่เพียงพอต่อการใช้ หรือเกิดภาวการณ์ดื้ออินซูลิน 3.เบาหวานขณะตั้งครรภ์ซึ่งเป็นโรคเบาหวานที่พัฒนาขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์จากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน โดยที่ผู้ป่วยไม่เคยเป็นโรคเบาหวานมาก่อน

อาการของโรคเบาหวาน ได้แก่ รู้สึกหิวบ่อย กระหายน้ำ ปัสสาวะมีปริมาณมากและบ่อย เหนื่อย อ่อนเพลีย ผิวแห้งเกิดอาการคันบริเวณผิวหนัง ตาแห้ง มีอาการชาที่เท้า หรือรู้สึกเจ็บแปลบๆ ที่ปลายเท้า หรือที่เท้า ร่างกายซูบผอมลงผิดปกติ โดยไม่ทราบสาเหตุ หากมีอาการเหล่านี้ บวกกับพฤติกรรมในการทานอาหารที่ไม่ค่อยระวังเรื่องแป้ง และน้ำตาล อาจสันนิษฐานได้ว่ากำลังมีโอกาสเป็นโรคเบาหวานได้สูง ควรรีบพบแพทย์เพื่อการตรวจที่ละเอียด และทำการรักษาต่อไป

นายแพทย์มานัส  โพธาภรณ์  รองอธิบดีกรมการแพทย์เป็นห่วงคนทำงานหนักเกินไป เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน สาเหตุที่เห็นได้ชัดคือพฤติกรรมการรับประทานอาหารของหวาน ของมัน ของทอด โดยเฉพาะเมื่อทำงานหนัก เกิดความเครียดร่างกายต้องการของหวานเติมเต็ม เพราะว่าสามารถบรรเทาความเครียดได้ ของหวานที่มีน้ำตาลสูงจะสามารถช่วยลดระดับฮอร์โมนคอร์ติซอลและอะดรีนาลีน ที่จะหลั่งออกมาในเวลารู้สึกเครียด เมื่อคุณเครียดมากจึงทานมากขึ้น ซึ่งวิธีนี้เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นแถมยังทำลายสุขภาพเป็นอย่างมาก

นายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวเพิ่มเติมว่า โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่เกิดจากความผิดปกติในการผลิตหรือตอบสนองต่อฮอร์โมนอินซูลินของร่างกาย ทำให้ไม่สามารถนำน้ำตาลไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูงเป็นระยะเวลานาน ส่งผลให้อวัยวะเสื่อมสมรรถภาพ และทำงานล้มเหลว เป็นเหตุให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ตาสูญเสียการมองเห็น ไตวายเรื้อรัง หัวใจขาดเลือด อัมพฤกษ์ อัมพาต ชาปลายมือปลายเท้า รวมถึงเป็นแผลหายยาก บางรายอาจจำเป็นต้องตัดขา

ด้าน นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า  ผู้เป็นโรคเบาหวานควรควบคุมอาหารและน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในภาวะปกติ โดยกินอาหารให้ตรงเวลา ครบ 3 มื้อ ในปริมาณที่ถูกสัดส่วน กับความต้องการของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะยาเบาหวานโดยทั่วไปมีประสิทธิภาพในการควบคุมน้ำตาลจากอาหารได้เพียง 45 – 60 กรัมต่อมื้อ คิดเป็นข้าวสวยไม่เกิน 3 – 4 ทัพพี เท่านั้น ไม่กินจุบจิบ เลือกกินอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น ข้าวกล้อง ขนมปังโฮลวีท หรือธัญพืชไม่ขัดสี จะช่วยให้ได้รับใยอาหารเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้ร่างกาย  ดูดซึมน้ำตาลช้าลง ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้

นอกจากนี้ ควรงดกินน้ำตาลเกินจำเป็น เลี่ยงอาหารที่มีน้ำตาลสูง เช่น ผลไม้หวานจัด น้ำหวาน น้ำอัดลม ขนมหวาน ไอศกรีม และผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ต่าง ๆ ควรเลือกผลไม้ชนิดที่ไม่หวานจัดในปริมาณที่เหมาะสม เช่น กล้วย แอปเปิลเขียว ฝรั่ง ส่วนนมจืดนั้นไม่ควรดื่มเกิน 1 แก้วต่อวัน เนื่องจากนมวัวมีน้ำตาลตามธรรมชาติอยู่แล้ว เช่นเดียวกับนมไขมันต่ำพร่องมันเนย หรือนมไม่มีไขมัน  ซึ่งลดเฉพาะปริมาณไขมัน แต่มีน้ำตาลเหมือนเดิม สำหรับนมเปรี้ยวส่วนใหญ่จัดเป็นเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลในปริมาณสูงจึงไม่ควรดื่มทุกวัน

​ผู้เป็นโรคเบาหวานควรพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ โดยกินอาหารควบคู่ไปกับการรักษาด้วยยา ลดความเครียดหรือวิตกกังวล ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนที่จะไปขัดขวางการทำงานของอินซูลิน และควรออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ให้เหมาะสมกับวัย เช่น เดิน ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ

ผู้เขียน
ศศิมา ดำรงสุกิจ

บรรณาธิการสุขภาพ สาธารณสุข