งาน Worldwide Developer Conference ของ Apple จัดขึ้นทุกปี ปีนี้มี กลุ่มคนรุ่นใหม่จากทั่วโลกมาร่วมแสดงทักษะการเขียนโค้ดโดยใช้ Swift Playgrounds
โดยในปีนี้การแข่งขัน Swift Student Challenge มีผลงานจากผู้สมัครหน้าใหม่อย่าง Jones Mays II, Angelina Tsuboi และ Josh Tint
เยาวชนทั้ง 3 คน อาศัยพลังแห่งการเขียนโค้ดเพื่อสร้างแอปที่ช่วยแก้ไขปัญหาให้แก่ชุมชนของตนเอง และเป็นส่วนหนึ่งในนักเรียนนักศึกษากว่า 350 คนจาก 40 ประเทศและภูมิภาคที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ชนะการแข่งขันประจำปี 2022
Swift Student Challenge เป็นเพียงส่วนหนึ่งในงาน WWDC22 ซึ่งมีทั้งคีย์โน้ต กิจกรรม แล็บ และเวิร์กช็อป ซึ่งจัดขึ้นทางออนไลน์และเปิดโอกาสให้ชุมชนอันเข้มแข็งของเหล่านักพัฒนาของ Apple กว่า 30 ล้านคนทั่วโลกได้เข้าร่วมงานฟรี
งานเริ่มขึ้นในวันที่ 6 มิถุนายน ทั้ง Mays, Tsuboi และ Tint พร้อมด้วยคนอื่นๆ จะได้รู้จักกับเทคโนโลยีเครื่องมือ และเฟรมเวิร์กล่าสุด ที่จะช่วยเสริมสร้างทักษะการเขียนโค้ดอันยอดเยี่ยมของแต่ละคนให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม เพื่อพัฒนาเป็นแอปสุดล้ำแห่งอนาคตต่อไป
เมื่อครั้งที่ Jones Mays II อายุ 17 ออกแบบแอป Ivy ซึ่งเป็นผลงาน Swift Playgrounds ที่ชนะรางวัล เขาได้รับแรงบันดาลใจจากต้นตระกูลของตนเอง
“ปู่ของผมมีสวนแห่งหนึ่งที่เขารักและปลูกพืชผักเอาไว้มากมายให้คนละแวกนั้นเก็บเกี่ยวไปกินได้ตามต้องการ”
Mays ซึ่งกำลังจะเริ่มเรียนมัธยมปลายปีสุดท้ายที่ฮิวสตัน รัฐเท็กซัส กล่าว “แม้ช่วงบั้นปลายชีวิต ปู่จะเดินไม่ได้ แต่ก็ยังชี้ไปยังตำแหน่งต่างๆ ให้ผมไปหว่านเมล็ดพันธุ์ได้ แต่สิ่งที่เราต้องจัดการไม่หยุดหย่อนก็คือการกำจัดวัชพืชอย่างคุดซู“
ดังนั้น Mays จึงตัดสินใจพัฒนาแอปเพื่อเป็นเกียรติแก่ปู่ของเขาที่จากไปเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยช่วยให้ชาวสวนคนอื่นๆ สามารถจำแนกและกำจัดพืชรุกรานอย่างคุดซูได้นั่นเอง
“ผมชอบมากที่ได้พัฒนาโปรแกรมซึ่งสามารถถ่ายทอดความคิดสร้างสรรค์และความหลงใหลของตัวเองออกมาในรูปแบบที่สนุกและง่าย” Mays กล่าว
“Swift มีส่วนสำคัญอย่างมากในเรื่องนี้ ซึ่งผมรู้จักมาประมาณ 1 ปี และชอบที่ใช้งานได้ง่าย“
ฤดูร้อนปีนี้ Jones จะได้ช่วยสอนภาษาการเขียนโปรแกรม เช่น Swift ให้กับคนอื่นๆ
“ผมจะได้สอนนักเรียนรุ่นต่อไปว่าการเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์มีประโยชน์อย่างไร” Mays กล่าว“เพราะผมเชื่ออย่างมากว่า หากเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ คุณก็จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอีกหลากหลายสาขา“
ไม่น่าแปลกใจที่การสอนกลายเป็นส่วนหนึ่งบนเส้นทางของ Mays เพราะเขามาจากครอบครัวที่เป็นนักการศึกษามาหลายรุ่น ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ พี่ชาย และคุณตาที่เพิ่งเสียชีวิตไป ซึ่ง Mays เชื่อว่าคุณตาจะต้องเห็นด้วยกับแอปที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแก่คุณตาแน่นอน
“คุณตาเป็นคนพูดน้อยมาก” Mays เล่าให้ฟัง “แต่คิดว่าคุณตาจะต้องบอกว่า ‘ไอ้หนุ่ม ทำดีมาก‘ แน่นอน“
หากพูดถึงการแก้ไขปัญหาต่างๆ Angelina Tsuboi วัย 16 ปี ที่อาศัยอยู่ในเรดอนโดบีช รัฐแคลิฟอร์เนียไม่ได้จัดการเพียงแค่หนึ่งอย่าง
นอกจากผลงาน Swift Playgrounds ที่ชนะรางวัลซึ่งช่วยสอนวิธีช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐาน เธอยังพัฒนาอุปกรณ์ต้นแบบที่ช่วยตรวจวัดคุณภาพอากาศ สร้างเว็บไซต์ให้กับหน่วยงานค้นหาและช่วยชีวิต และออกแบบโปรแกรมด้านการสื่อสารของโรงเรียนที่ชนะการแข่งขัน Congressional App Challenge ในระดับเขต
“ชีวิตเต็มไปด้วยปัญหา และทุกคนต่างต้องดิ้นรนต่อสู้กับปัญหาอย่างน้อยหนึ่งอย่าง” Tsuboi กล่าว “การเขียนโปรแกรมทำให้ฉันเริ่มเห็นความหวัง โดยช่วยมอบแนวทางในการบ่งชี้ปัญหาซึ่งผู้คนในชุมชนหรือเพื่อนๆ ของฉันพบเจอ และได้ใช้ชุดทักษะของฉันเพื่อช่วยเหลือผู้คนเหล่านั้น“
โปรเจ็กต์ที่สำคัญกับเธอเป็นการส่วนตัวมากที่สุดก็คือแอปที่ชื่อว่า Lilac ซึ่งเปิดตัวทาง App Store เมื่อเดือนมีนาคม
“คุณแม่ของฉันเป็นคุณแม่เลี้ยงเดี่ยวและมาจากญี่ปุ่น” Tsuboi เล่า “ตอนที่คุณแม่มาอยู่ที่นี่ ต้องเจอปัญหาเรื่องภาษามากมาย ฉันจึงสร้างแอปที่ช่วยในการค้นหาตัวช่วยต่างๆ เช่น การดูแลเด็ก ที่พักอาศัยเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ รวมถึงนักแปลในชุมชน เพื่อช่วยในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน“
สำนึกแห่งการช่วยเหลือได้ซึมผ่านทุกสิ่งที่ Tsuboi ลงมือและทำให้เธอเฝ้าหาโอกาสจัดการกับโปรเจ็กต์ใหม่มาโดยตลอด
“การหยิบยื่นความช่วยเหลือทำให้คุณถ่อมตนและสร้างสัมพันธ์กับชุมชน” Tsuboi กล่าว “ทำให้โลกดูเป็นสถานที่ซึ่งดียิ่งขึ้นและช่วยเติมเต็มความอิ่มเอมให้กับตัวฉัน เพราะอย่างน้อยก็ได้ทำสิ่งหนึ่งที่ช่วยปลดเปลื้องความยุ่งเหยิงบนโลกใบนี้“
Josh Tint สนใจเรื่องภาษา เขาอายุ 19 ปี เพิ่งจบชั้นปีที่ 1 ที่ Arizona State University และสนใจเรียนด้านภาษาศาสตร์ โดยเฉพาะภาษาศาสตร์ภาษาลาเวนเดอร์ซึ่งเป็นการศึกษาเกี่ยวกับภาษาที่ใช้ในกลุ่มLGBTQ+
Tint ได้ออกแบบผลงาน Swift Playgrounds ที่ชนะรางวัล ซึ่งเป็นแอปช่วยให้คนซึ่งยังคงสงสัยกับอัตลักษณ์ทางเพศของตนเองได้ลองใช้สรรพนามที่แตกต่างกันออกไป
“อัลกอริทึมจะช่วยแทรกสรรพนามที่แตกต่างกันลงในข้อความตัวอย่างหลายๆ แบบ” Tint กล่าว “แล้วคุณก็แค่ปัดข้อความตัวอย่างไปทางซ้ายหรือขวาเพื่อระบุว่าชอบหรือไม่ชอบข้อความนั้น จะได้ลองดูว่าสรรพนามเพศแบบใดที่คุณคิดว่าเหมาะกับอัตลักษณ์ของตนเอง“
แรงบันดาลใจสำหรับแอปดังกล่าวมาจากชีวิตของ Tint
“ฉันเคยสงสัยในอัตลักษณ์ทางเพศของตัวเอง จึงรู้ว่ามีตัวช่วยในเรื่องนี้ไม่มากนัก” Tint เล่า “ดังนั้นจึงอยากพัฒนาเครื่องมือที่คิดว่าน่าจะนำไปใช้ได้ดีกับประสบการณ์ของตัวเองและได้ช่วยเหลือคนอื่นๆ ด้วยฉันอยากมีแอปที่ช่วยบอกเล่าเรื่องราว“
Tint หัดเรียนเขียนโค้ดด้วยตัวเองตั้งแต่ช่วงแรกของมัธยมปลาย และได้ออกแบบอัลกอริทึมที่สามารถจำแนกและสร้างบทกลอนได้เอง และเคยนำไปใช้ประกวดแต่งกลอนประจำโรงเรียนจนชนะรางวัล
ตั้งแต่นั้นมาก็เริ่มศึกษา Swift และคิดว่าเหมาะอย่างยิ่งกับงานของเขาด้านภาษาศาสตร์
“ฉันชอบเฟรมเวิร์กของ Swift ที่เป็นภาษาปกติที่ใช้กันมาก” Tint กล่าว “เพราะทรงพลังและเหมาะกับการเขียนสคริปต์อย่างมาก ซึ่งฉันเคยใช้สร้างโมเดลการเรียนรู้ของระบบเพื่อช่วยวิเคราะห์คำพูดมาแล้ว“
ในอนาคต Tint อยากใช้ความรู้ทางภาษาศาสตร์และการเขียนโปรแกรมเพื่อออกแบบอัลกอริทึมที่ช่วยลดความเอนเอียง
“ตอนนี้ผลงานจำนวนมากมีเพียงไม่กี่ภาษาเท่านั้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเอนเอียงของคนเขียน” Tint กล่าว “เราควรใส่ใจกับข้อจำกัดดังกล่าวและเริ่มสร้างโมเดลใหม่ที่มีพารามิเตอร์มากขึ้นและมีชุดข้อมูลที่เปิดกว้างด้านความแตกต่างให้มากขึ้นและใหญ่ขึ้น เพราะหากเราไม่ใส่เรื่องราวของชุมชนสุดชายขอบไว้ในกระบวนการหลักตั้งแต่ตอนนี้ ก็อาจสายไปที่จะกลับมาตามแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นในภายหลัง“
Apple ภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้ส่งเสริมและยกระดับนักพัฒนา นักสร้างสรรค์ และผู้ประกอบการรุ่นถัดไปผ่านทางโปรแกรมสำหรับนักเรียนในงาน WWDC ประจำปี โดยตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา นักเรียนหลายพันคนได้สร้างเส้นทางอาชีพด้านเทคโนโลยีอย่างประสบความสำเร็จ ก่อตั้งสตาร์ทอัพที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนร่วมลงทุน และจัดตั้งองค์กรที่มุ่งเน้นการเปิดกว้างทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างอนาคตที่ดียิ่งขึ้น
เปิดแล้ว “รีฟิล สเตชั่น”แห่งแรกในไทย ลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง
เด็กไทยส่อมีโรคประจำตัวจากความดันสูง 10% เหตุกินขนมกรุบกรอบทุกวัน ซ้ำติดปรุงเค็ม