สุขภาพ

รอบรู้เรื่องโรคไทรอยด์

31 มกราคม 2567

ที่จริงแล้วมากกว่า 2 ใน 3 ของพวกเราทุกคนต่างก็มีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ โดยที่ผู้หญิงมีโอกาสพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์มากกว่าผู้ชายได้ถึง 4 เท่า ปัญหาคือ ถ้าเราเจอก้อนที่ต่อมไทรอยด์….แล้วจะทำอย่างไรต่อดี

ในอดีตเราจะรู้ว่ามีก้อนที่ต่อมไทรอยด์ก็ต่อเมื่อ คลำก้อนได้หรือมีอาการกดเบียดจากก้อน เช่น หายใจลำบาก กลืนลำบาก ซึ่งจะพบได้เพียงแค่ 10-15% ของคนที่มีก้อนเท่านั้น แต่ในปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับสุขภาพเรามากขึ้น มีการตรวจคัดกรองมะเร็งต่าง ๆมากขึ้น  เราจึงพบก้อนที่มีขนาดเล็กลงและไม่มีอาการ  ทำให้เราเจอก้อนที่ต่อมไทรอยด์เพิ่มมากขึ้นจนถึง 50-67 % ของคนทั่วไป แต่อย่าเพิ่งตกใจไป เพราะมีเพียงแค่ 4-7% ของก้อนเท่านั้นที่มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งได้

นพ.ศิรสิทธิ์ เลาหทัย  ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการผ่าตัดส่องกล้องขั้นสูง กล่าวว่า หลังจากพบก้อนที่ต่อมไทรอยด์แล้ว เราจำเป็นต้องตรวจวัดระดับฮอร์โมน และตรวจอัลตร้าซาวด์เพื่อดูลักษณะของก้อน ปกติแล้วก้อนที่มีขนาดใหญ่กว่า 1-2 ซ.ม. หรือหน้าตาน่าสงสัยว่าจะเป็นมะเร็ง จะต้องได้รับการเจาะชิ้นเนื้อไปตรวจ ส่วนการส่งตรวจ Thyroid Scan จะพิจารณาทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะไทรอยด์เป็นพิษเท่านั้น

เมื่อแพทย์ผู้รักษาได้ข้อมูลต่าง ๆ ครบถ้วน ก็มาถึงขั้นตอนการวางแผนการรักษา การรักษาจะมีแนวทางการรักษาตั้งแต่การตรวจติดตามและเฝ้าระวังในกรณีที่มีก้อนขนาดเล็ก และลักษณะของก้อนไม่เหมือนมะเร็ง ส่วนข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด ได้แก่ ก้อนที่มีขนาดใหญ่  ผลชิ้นเนื้อเป็นมะเร็งหรือมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็ง ก้อนเริ่มมีอาการกดเบียดอวัยวะข้างเคียง ก้อนที่ผลิตฮอร์โมนทำให้เป็นโรคไทรอยด์เป็นพิษและไม่สามารถลดยาได้ หรือผู้ป่วยไม่สามารถเข้ารับการตรวจติดตามต่อเนื่องได้

สำหรับการรักษาด้วยการผ่าตัดไทรอยด์ ในอดีตอาจจะเป็นเรื่องที่น่ากลัวหรือน่ากังวลสำหรับใครหลายๆคน เพราะเมื่อได้ยินคำว่าผ่าตัดไทรอยด์ ทุกคนคงนึกถึงแผลเป็นขนาดใหญ่กลางคอที่ติดตัวเราไปตลอดชีวิต แต่ในปัจจุบันมีนวัตกรรมการผ่าตัดไทรอยด์ไร้แผล หรือ การผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องที่ซ่อนแผลเป็นไว้บริเวณริมฝีปากล่าง ทำให้ไม่มีรอยแผลเป็น ไม่ต้องกลัวว่าจะเสียโฉม และแน่นอนว่าการผ่าตัดวิธีนี้มีความปลอดภัยไม่แตกต่างกับการผ่าตัดแบบเปิด

ที่สำคัญการผ่าตัดแบบส่องกล้องจะมีกำลังขยายสูง ทำให้เราเห็นอวัยวะต่าง ๆ เช่น เส้นเลือด เส้นประสาท หลอดลม ได้ชัดเจน และลดความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บต่ออวัยวะข้างเคียงได้ ส่วนการดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดก็เรียบง่าย เนื่องจากไม่มีแผลจึงไม่จำเป็นต้องไปทำแผลที่โรงพยาบาลทุกวัน แค่บ้วนปากทำความสะอาดทุกครั้งหลังกินข้าวก็เพียงพอ และไม่ต้องกังวลว่าจะเป็นแผลเป็นนูน หรือคีรอยด์หลังผ่าตัด

“ปัจจุบันวิธีการผ่าตัดไทรอยด์ไร้แผลได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในประเทศชั้นนำกว่า 40 ประเทศทั่วโลก เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ไต้หวัน ฮ่องกง เยอรมนี ออสเตรเลีย ฯลฯ การผ่าตัดนี้เรียกได้ว่าเป็นการปฏิวัติวงการการผ่าตัดไทรอยด์ได้อย่างสิ้นเชิง เพียงแต่ในประเทศไทย ยังไม่เป็นที่นิยมเพราะเป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อน ต้องอาศัยความชำนาญ และความแม่นยำระดับสูง ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมหรือสอบถามเกี่ยวกับเรื่องการผ่าตัดไทรอยด์ไร้แผล ได้ที่ เพจ Facebook : ผ่าตัดส่องกล้องต้องรู้อะไรบ้าง by หมอโจอี้ นพ.ศิรสิทธิ์ เลาหทัย นะครับ   นพ.ศิรสิทธิ์ เลาหทัย  กล่าวสรุป

More read
  • เทคโนโลยี
  • 4 พฤศจิกายน 2567

foodpanda เผย 5 ไอเทมยอดนิยมส่งผ่าน pandago

  • เทคโนโลยี
  • 1 พฤศจิกายน 2567

MacBook Pro ใหม่ชิปตระกูล M4 ทรงพลัง

Tags

  • การผ่าตัดไทรอยด์ไร้แผล
  • ต่อมไทรอยด์
  • ไทรอยด์