ค้นหาค้นพบช่วยเด็กนอกระบบให้ได้ดีกว่าทำเป็น’ลืม’
กว่าจะเขียนบทความชิ้นนี้จบ ทิ้งเวลาไว้หลายวัน ทั้งๆ ที่ อยากเล่าเรื่องของน้องๆ ทั้งสองคนอย่างมาก
เชื่อหรือไม่ว่า ประเทศไทย ยังมีเด็กและเยาวชนที่หลุดจากระบบการศึกษาเป็นจำนวนมาก คนเหล่านี้คืออนาคตของประเทศ ไม่ต่างจากเด็กในระบบการศึกษา
แต่เขาเหล่านี้ไม่ควรถูก “ลืม” จากสังคม ชุมชน ผู้ปกครอง และสถานศึกษา
กลุ่มคนวัยใส อ.สารภี เชียงใหม่ พื้นที่เติมพลังบวกให้พ่อแม่วัยรุ่น
“ตอนนี้หนูเป็นเจ้าหน้าที่ประจำกลุ่มคนวัยใส ทำหน้าที่ดูแลลูกกลุ่ม ซึ่งเป็นแม่วัยรุ่น จำนวนกว่า 20 คน คอยให้คำปรึกษา ให้คำแนะนำ เพิ่งรู้ว่า มีเรื่องให้ปวดหัวมาก” มาย อดีตผู้ร่วมเรียนรู้รุ่น 2 ของกลุ่มคนวัยใส เล่าให้ฟังก่อนจะลงท้ายด้วยเสียงหัวเราะ
มายหัวเราะหนักขึ้นเมื่อโดนเย้าแหย่กลับคืนว่า “เมื่อหลายปีก่อนพี่เอมมี่ ก็ปวดหัวกับหนูแบบนี้แหละ”
กลุ่มคนวัยใส จังหวัดเชียงใหม่ โดยพี่แยมและพี่เอมมี่ ทุ่มเททำงานเพื่อส่งเสริมอาชีพกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่นในพื้นที่ อ.สารภี อ.เมือง อ.หางดง และอ.สันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ มานานหลายปี ได้รับทุนจากโครงการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ที่ใช้ชุมชนเป็นฐาน จากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
มุ่งเน้นพัฒนาทักษะอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตพ่อแม่วัยรุ่น อายุ 15-24 ปี เป้าหมายก็เพื่อให้คนกลุ่มนี้หลุดพ้นจากสถานะสุ่มเสี่ยง ให้เลี้ยงดูตนเองและลูกได้อย่างยั่งยืน
ชีวิตเปลี่ยนเพราะรับโทรศัพท์
มาย หรือชลลดา ศรีเสน่ห์ อดีตกลุ่มเป้าหมายรุ่นที่ 2 ของโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตพ่อแม่วัยรุ่น ซึ่งในวันนี้ ได้ยกระดับตัวเองเป็นคณะทำงานหน่วยจัดการเรียนรู้กลุ่มคนวัยใส เชียงใหม่ ได้ย้อนถึงชีวิตตัวเองบนเวทีแลกเปลี่ยนโครงการเยาวชนนอกระบบการศึกษา พื้นที่เชียงใหม่ ซึ่งจัดที่ สวนทวีชล ว่า หนูตั้งท้องตอนอายุ 16 ปี ออกมาใช้ชีวิตกับแฟนและลูก อยู่กลางป่าลำใย ตอนนั้นรู้สึกไม่ปลอดภัย บ้านก็ไม่มีประตู
“ลำบากมาก ไม่มีเงิน ลูกก็กำลังจะเกิด แล้ววันหนึ่งมีคนโทรเข้ามาบอกว่าจะเข้ามาเยี่ยม เค้าได้เบอร์มาจากโรงพยาบาล เค้าเป็นกลุ่มคนวัยใส จะมาชวนไปร่วมกิจกรรม ตอนแรกก็ปฏิเสธไป” มาย เล่าชีวิตในวันที่ยากลำบากให้ฟัง “ได้โทรไปสอบถามเพื่อนเกี่ยวกับกลุ่มคนวัยใส เพื่อนบอกว่า งั้นไปดูด้วยกัน พอไปแล้วได้ค่าเดินทาง ก็เลยฮึดสู้ เพราะจะไปเอาตังค์ อยากได้เงิน ในช่วงนั้นไม่มีรายได้ ชวนแฟนไปอีกคนจะได้ตังค์เพิ่ม แบบคูณสอง”
มาย เล่าเรื่องได้สนุก มีเสียงหัวเราะจากผู้ฟังแทรกเป็นระยะ
เลี้ยงไส้เดือนคือจุดเริ่มต้นของอาชีพ
เมื่อเข้าโครงการฯ ได้รับทุนจาก กสศ. เธอเลือกอาชีพเลี้ยงไส้เดือน พอเข้าหน้าฝน ปรากฎว่า ไส้เดือนหนีหายหมด เพราะเลี้ยงแบบเปิด ต่อมาได้ทุนมาเพิ่มจึงไปซื้อไส้เดือนมาใหม่ คราวนี้ทำโรงเรือน สอบถามความรู้เพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญ ค้นหาใน Google
ทุกวันนี้ธุรกิจเลี้ยงไส้เดือน ขายปุ๋ยไส้เดือน กลายเป็นรายได้เสริมจากงานประจำ
ความฝันของมาย อยากจะเรียนต่อระดับปริญญาตรี ด้านนิติศาสตร์ แต่ต้องรอส่งน้องให้เรียนจบ ม.6 ก่อน
ความภูมิใจเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง
มาย เป็นหนึ่งในความภูมิใจของหน่วยจัดการเรียนรู้ กลุ่มคนวัยใส
“หนูรู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น พี่เอมมี่ พี่แยม สอนให้รู้ว่าหากไม่ทำดีจะส่งผลกับลูก หนูไม่อยากให้ลูกเป็นเหมือนหนู ตอนนี้ภูมิใจตัวเอง ชีวิตดี แค่เปิดใจให้ตัวเองก็มาไกลได้ขนาดนี้ ต้องเชื่อมั่น ต้องเปิดใจ จึงจะก้าวข้ามได้”
ก่อนร่ำลากัน เราอดถามน้องมายไม่ได้ว่า ถ้าวันนั้น หนูเลือกที่จะไม่มาเข้าร่วมโครงการฯ คิดว่าชีวิตในวันนี้จะเป็นอย่างไร
มายตอบด้วยใบหน้าและแววตาที่มีความแน่วแน่ “ ติดคุก หนูติดคุกแน่นอน เพราะตอนนี้เพื่อนทุกคนในกลุ่มเดียวกัน อยู่ในคุกเพราะคดียาเสพติด”
ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา อ.ฝาง เชียงใหม่
เช้าวันจันทร์ เราตื่นแต่เช้าเพื่อเดินทางไปศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา สถานศึกษาที่ถูกแวดล้อมด้วยไร่ส้มของ อ.ฝาง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก กสศ. เช่นกัน
รถตู้รับส่งนักเรียนมาแล้ว ภายในรถเต็มไปด้วยเด็กๆ ในชุดนักเรียนและชุดลำลองเหมือนอยู่บ้าน เด็กๆในชุดลำลอง กำลังทยอยลงจากรถตู้ มีเพียงสองสามคนใส่ชุดนักเรียนเต็มยศ ผูกคอซอง
ลุงโชเฟอร์รถตู้บอกว่า ตระเวนไปรับมาจากบ้านพักในไร่ส้ม ไปส่งสองที่ ถ้าใส่ชุดนักเรียนก็ไปโรงเรียนสังกัด สพฐ. กลุ่มแต่งตัวตามสบายก็เป็นนักเรียนของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา
เด็กๆ เดินเข้าไปสวัสดีคุณครูที่รอต้อนรับอยู่บริเวณสะพาน เมื่อใกล้เวลาเคารพธงชาติ คุณครูก็เปิดเพลงสนุกๆ ของวงเดอะบีทเทิล เพื่อเรียกให้มาเตรียมพร้อมเชิญธงชาติ ในเวลา 8.00 น. ตามด้วยสวดมนต์ เหมือนโรงเรียนทั่วๆไป
ก่อนจะเข้าห้องเรียน เราจะเห็นภาพสนุกสนาน คุณครูจะเรียกถ่ายภาพหมู่ ปล่อยให้เด็กๆ แอ็คชั่นตามใจชอบ คุณครูบอกว่า เหมือนการเช็กชื่อ เป็นหลักฐานยืนยันกับผู้ปกครองว่า เด็กๆมาถึงโรงเรียนแล้ว
เราอดถามไม่ได้ว่า ที่นี่ไม่ข้อกำหนดเรื่องทรงผม เรื่องชุดนักเรียน ทำไมมีเด็กๆบางคนใส่ชุดนักเรียน คุณครูยิ้มกว้าง ก่อนจะตอบว่า เราไม่มีเครื่องแบบ จะแต่งตัวยังไงก็ได้มาโรงเรียน ที่เห็นใส่ชุดนักเรียนก็เป็นชุดที่ได้รับบริจาคมาทั้งนั้น
จัดการศึกษาบนเงื่อนไขของเด็กๆ
ศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา โดยมูลนิธิกระจกเงา ตั้งอยู่ที่ ตำบลแม่ข่า อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ นักเรียนเกือบทั้งหมดเป็นลูกหลานแรงงานข้ามชาติและกลุ่มชาติพันธุ์ ที่ทำงานและพำนักอยู่ในไร่ส้ม
เด็กกลุ่มนี้เป็นกลุ่มเปราะบาง เรียกว่าเด็กรหัส G ไร้รัฐไร้สัญชาติ ไร้สถานะทางทะเบียนจึงไม่มีบัตรประชาชน ไม่ได้รับสวัสดิการอะไรจากภาครัฐ
แต่การเข้าถึงการศึกษาถือเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ
จากความหลากหลายทางอายุของเด็กๆ การนำเด็กอายุต่างกันมาเรียนรวมกันจึงเป็นเรื่องยาก เด็กบางคนมีปัญหาเรื่องความยากจนที่ส่งต่อกัน มีภาระต้องดูแลน้อง ไม่สามารถมาเรียนได้ ทางศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยาใช้หลากหลายวิธี
เพื่อดึงเด็กเข้าระบบ เช่น อนุญาตให้พาน้องมาเรียนด้วย เด็กบางคนต้องย้ายตามพ่อแม่ไปอีกจังหวัด ก็จะส่งต่อให้เด็กเข้าสู่ระบบ
เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กๆ หลุดออกจากระบบการศึกษา
ทองชอบ เด็กนอกที่อยากเป็นช่างตัดผม
ทองชอบ วัย 16 ปี เป็นนักเรียนชั้น ม.1 ของศูนย์การเรียนไร่ส้มวิทยา
ทองชอบ ก้มหน้ายิ้มเอียงอาย บอกว่า ผมเป็นเด็กนอก ตามพ่อแม่มาจากเมียนมา ตั้งแต่ชั้น ป.2 ตอนนั้นไม่ชอบเรียน เพราะโดนครูตี พ่อก็ป่วย ไม่มีค่ารักษา พ่อขายที่ดินในเมียนมาแล้วพาทุกคนย้ายมาหางานทำในไทย
มีครูไปชวนมาเรียนที่ไร่ส้ม ตอนนั้นไม่รู้ว่า เรียนแบบไหน ทองชอบกลับมาเริ่มวัยเรียนในชั้นอนุบาล 3 ในห้องเดียวกันมีเพื่อนหลายกลุ่มอายุ
ความฝันของทองชอบ อยากจะเรียนให้จบ ม.6 แต่ตอนนี้ที่บ้านอยากให้ทำงาน การเรียนทำให้ทองชอบได้เรียนรู้เรื่องการปรับตัวเข้ากับสังคม ได้ไปเที่ยวทะเลครั้งแรกในชีวิต
ทองชอบได้ฝึกอาชีพตัดผม เรียนดนตรี ทำขนมอบ แต่พบว่า ชอบตัดผมมากที่สุด ทุกวันนี้ตัดผมให้คนในบ้าน ให้เพื่อนในโรงเรียนและบางวันก็รับจ้างตัดผมให้คนทำงานในไร่ส้ม
คาดไม่ถึงเด็กและเยาวชนไทยหลุดจากระบบการศึกษากว่า 1 ล้านคน
ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีเด็กและเยาวชนที่ไม่พบข้อมูลในระบบการศึกษา ตั้งแต่ชั้นอนุบาล – มัธยมศึกษาปีที่ 6 สูงสุดถึง 1,020,000 คน ภาครัฐตั้งเป้าหมายว่า ประเทศไทยจะต้องบรรลุเป้าหมาย Thailand Zero Dropout ภายในปี 2570
กสศ.ได้พัฒนางานวิจัยเชิงสํารวจเพื่อศึกษาข้อมูลของเด็กนอกระบบการศึกษาภายใต้ “โครงการการสนับสนุนและพัฒนากลไกการขับเคลื่อนครูและเด็กนอกระบบการศึกษา” เก็บรวบรวมข้อมูลจากองค์กรเครือข่าย ทั้งสิ้น 67 องค์กร จากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
พบสาเหตุการออกนอกระบบการศึกษา มาจากความยากจนมากที่สุด รองลงมาคือ ปัญหาครอบครัว ออกกลางคัน/ถูกผลักออก ไม่ได้รับสวัสดิการด้านการศึกษา ปัญหาสุขภาพ อยู่ในกระบวนการยุติธรรม และได้รับความรุนแรง
เมื่อวิเคราะห์สาเหตุอื่น ๆ ของการออกกลางคันในเชิงลึก ก็ได้คำตอบว่า ไม่อยากเรียน ต้องการทำงาน ตั้งครรภ์ในวัยเรียน มีครอบครัว ไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีบัตรประชาชน พิการ ยาเสพติด ฯลฯ
นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่มีงานประจำ/รับจ้างรายวัน และว่างงาน
ส่วนใหญ่ผู้ปกครองอยู่ในอาชีพเกษตรกรรม ตามด้วย ค้าขาย ก่อสร้าง พนักงานในโรงงาน งานบริการ และอาชีพช่างไม้/ช่างฝีมือ
ข้อมูลเหล่านี้ สะท้อนถึงความไม่มั่นคงด้านรายได้ของครอบครัว ที่นำไปสู่การออกนอกระบบการศึกษาของเด็กและเยาวชนไทย
เมื่อถามถึงความต้องการด้านอาชีพ กลุ่มเด็กนอกระบบกว่าครึ่ง มีความต้องการให้สนับสนุนอุปกรณ์การเรียน และการฝึกอาชีพ
อาชีพยอดนิยม ได้แก่ ช่างยนต์ ครู ทหาร หมอ ค้าขาย เกษตรกร พยาบาล ธุรกิจส่วนตัว ช่างเสริมสวย ช่างตัดผม เป็นต้น
ที่มา รายงานพิเศษ ความจริงและความเร่งด่วน ของสถานการณ์เด็กนอกระบบในประเทศไทย ฉบับเต็มได้ที่
https://www.eef.or.th/wp…/uploads/2024/05/White-paper.pdf
ต้องมีพื้นที่ปลอดภัยและงบสนับสนุนต่อเนื่อง
กลุ่มคนทำงานกับเด็กนอกระบบในพื้นที่เชียงใหม่ ให้ความเห็นตรงกันว่า การทำงานกลุ่มเด็กนอกระบบจะต้องทำให้เด็ก ๆ รู้สึกถึงความปลอดภัย ถ้าไม่มีจะไปต่อไม่ได้ เพราะแต่ละคนมีความซับซ้อนของปัญหา กว่าจะหากันเจอ เจอแล้วเปิดใจ ยอมเข้าร่วมกลุ่มนั้นใช้เวลาเนิ่นนาน หากภาครัฐสนับสนุนงบประมาณระยะสั้นจะช่วยเด็กกลุ่มนี้ไม่ได้ ต้องทำต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปี
ชีวิตมนุษย์นั้นมีทั้งความสุข ความทุกข์ สิ่งเหล่านี้ จะทำให้เราเติบโตและก้าวไปข้างหน้าได้ แต่ต้องเปิดใจและยอมรับโอกาสดีๆ ที่เข้ามาช่วยพยุงให้เดินไปสู่อนาคต
บรรณาธิการเทคโนโลยี
ดาวหางจื่อจินซาน-แอตลัส ขณะกำลังโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด
Lisa ทำไข่เจียวกุ้ง ฉลองเพลง Money ยอดสตรีมทะลุ1 พันล้านครั้ง
รู้ยังแอป Find My ของ Apple เปิดให้แชร์ตำแหน่งของหายกับบุคคลอื่นได้