พลังบวกจากครูเป็นกำแพงเหล็กให้เด็กๆ ได้พึ่งพิง
มีโอกาส ไปร่วมงาน ” ปลุกพลัง สร้างโอกาสแห่งอนาคต กับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” ในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคสื่อสารมวลชน
งานนี้กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา หรือ กสศ. เป็นเจ้าของโครงการ “ปลุกพลังฯ ” ซึ่งก็คือ งานปฐมนิเทศนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 5 ปีการศึกษา2566 เมื่อวันที่ 19-20 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา
จัดพร้อมกันใน 10 พื้นที่ทั่วประเทศ มีสถานศึกษาที่ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง 63 แห่ง จาก 34 จังหวัด กว่าสองพันคนฯ เข้าร่วมงาน
จุดเริ่มต้นของ “โอกาส เปลี่ยนชีวิต”
ตัดสินใจไปร่วมพิธีปฐมนิเทศฯ ณ พื้นที่อุบลราชธานี ซึ่งเป็น 1 ใน 10 ของพื้นที่จัดงาน เพราะอยากไปพูดคุยกับคุณครูซึ่งร่วมทำงานในโครงการนี้ฯ
วิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี เป็นสถานที่จัดงาน ในพื้นที่อีสานตอนล่าง มีสถานศึกษาที่ได้รับทุนเข้าร่วม 8 แห่ง ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี วิทยาลัยเทคนิคตระการพืชผล วิทยาลัยเทคนิคนครอุบลราชธานี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีศรีสะเกษ วิทยาลัยสารพัดช่างศรีสะเกษ และวิทยาลัยสารพัดช่างสุรินทร์
เป็นนักศึกษาทุนระดับ ปวช. ปวส.และผู้ช่วยพยาบาล หลักสูตร 1 ปี
เวลาท้อก็คิดถึงเด็กๆ คิดถึงวันไปหาผู้ปกครอง
ในห้องสภากาแฟ ซึ่งจัดให้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของผู้บริหารและคุณครูซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการ มีทีมหนุนเสริมซึ่ง
เป็นคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าลาดกระบัง เป็นผู้นำการพูดคุย
ขอสรุปตัวอย่างจาก 3 สถาบันที่น่าสนใจให้อ่านกันนะคะ
วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ
จะเน้นดูแลให้เด็กๆ ใช้เงินแต่พอดี ในแต่ละสัปดาห์เหลือออม แบ่งปัน ต้องทำให้ได้ ถ้าเงินยังอยู่เด็กก็จะอยู่ครบ 2 ปี ที่ผ่านมาพบว่า เด็กๆ มีเงินออมสูงสุดถึงแสนกว่าบาท ต่ำสุด 5 หมื่น เมื่อจบ ปวช. ไปต่อ ปวส.ก็ จะมีเป้าหมายชีวิต
จากการถอดบทเรียนของนักศึกษาทุน ทุกรุ่น พบว่า โน้ตบุ๊ค เป็นสิ่งจำเป็น วิทยาลัยฯ จึงจัดให้ตั้งแต่วันแรก ทำให้เด็กๆ ของเทคนิคอำนาจเจริญ ไปแข่งขันทักษะระดับประเทศคว้ารางวัลกลับมาทุกปี
“เด็กทุนมีความพยายามมากกว่าเด็กปกติ เงินออมทำให้เด็กมีทิศทางไป ปัญหาที่พบคือ ช่วงปิดโควิด ไม่ได้เข้าห้องเรียน ทำให้ปัจจุบันมีภูมิคุ้มกันต่ำมากกว่าเด็กปกติ มีทุน กสศ.ทำให้เด็กได้เรียนต่อ ยอมรับว่า ทำงานกับ กสศ.มีแรงเสียดทานมาก ก่อนเซ็นสัญญาจึงต้องกำหนดวินัยและแจ้งเงื่อนไข ให้เด็กและผู้ปกครองรับรู้ มีรุ่นพี่มาช่วยบอกกล่าว“
คุณครู ยอมรับว่า การคงอยู่ของเด็กทุนก็ไม่ได้ง่าย ในแต่ละวัน คนที่ต้องพบจิตแพทย์คือ ครู
แต่ละรุ่น อาจจะมีเด็กเพียง 1 คน ต้องการประลองพลังกับครู แต่อีก 99 คนเป็นเด็กดี คำแนะนำก็คือ ถ้าเจอปัญหาให้ถอยก่อน แล้วค่อยๆ หาวิธีแก้ปัญหา
วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีอุบลราชธานี
มีรอง ผอ.เป็นผู้รับผิดชอบโครงการ บอกว่า ทุน 5 ปี ช่วง ปวช .จะเจอการเปลี่ยนแปลงของวัยรุ่น
การคงอยู่ต้องชอบเกษตร จึงใช้วิธีเข้าค่ายก่อนสมัครเรียน จะได้เด็กที่ชอบเกษตร
ปัญหาที่เจอ ส่วนมากเป็นเรื่อง ผลการเรียน ชู้สาว มาจากครอบครัวขาดแคลน เป็นครอบครัวแหว่งกลาง
ดังนั้น การทำงานเริ่มจากครูที่ใจรัก ครูที่มีพลังบวก
ยอมรับว่า ครูที่ดูแลเด็กทุน จะเจอแรงกดดันจากเพื่อนร่วมงาน ว่า คนนี้เป็นเด็กของคุณครูคนนั้น จึงแก้ไขปัญหาด้วยวิธีดึงอาจารย์จากแผนกอื่น เข้ามาร่วมทำงาน
ในทุกกิจกรรมจะทำร่วมกันทั้งเด็กปกติ และทุน ทำให้ความเสี่ยงหลุดลดลง มีเครือข่ายภายนอกเข้ามาช่วย ทั้งผู้ปกครอง และจิตวิทยา
“ทำงานกับ กสศ.เครียด เพราะบางทีครูและผู้ปกครองไม่เข้าใจ อยากให้มีบริการให้คำปรึกษาแก่ครู เพราะทำงานนี้ ครูต้องปรับกระบวนการคิด พลังบวกของครูมีความสำคัญมาก“
วิทยาลัยสารพัดช่างศรีสะเกษ
ที่ผ่านมาได้ปรับหลักสูตร ฝึกงานเป็น 1 ปี ตามคำแนะนำของ กสศ. เด็กที่จบการศึกษา มีงานทำแน่นอน โดยเฉพาะสาขาช่างเชื่อม ช่างกล ซึ่งมีข้อตกลงการทำงานทั้งในและต่างประเทศ
“การดูแลวัยรุ่น อย่าไปจำกัดขอบเขต จะลำบาก เน้นให้อยู่อย่างมีความสุข ดูแลอยู่ห่างๆ แต่ให้ใกล้ชิด
หากเด็กจะกลับดึก ทำงานดึก เข้านอนดึก ครูไม่ว่า จะทำอย่างไรก็ได้ แต่ต้องตื่นเช้าไปเข้าแถวให้ทัน “
คุณครูตัวแทนจากวิทยาลัยสารพัดช่าง ศรีสะเกษ บอกว่า เวลาท้อ ก็คิดถึงเด็ก คิดถึงตอนที่ไปรับปากกับผู้ปกครองเอาไว้
ครูคือกำแพงเหล็กให้พึ่งพิง
ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (ภาคประชาสังคม) คณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ได้กล่าวกับเด็กๆ ในพื้นที่จัดงานปฐมนิเทศนักศึกษาทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง รุ่นที่ 5 ณ จังหวัดพังงา ว่า
“ขอให้ภูมิใจ กสศ. จะดูแล อายุ 18-20 ปี เป็นช่วงสำคัญ ถ้าได้ทุนจะมีโอกาสอื่นตามมา มีงานทำมีชีวิตที่ดี มีครอบครัว ตัดวงจรความยากจน ยกระดับชีวิตครอบครัว ความจนเป็นพรประเสริฐ ทำให้ไม่ลืมตัว ต่อสู้ มีครูเป็นกำแพงเหล็กให้พึ่งพิง เมื่อได้รับโอกาสขอให้เรียนรู้ ตัดสินใจถูก การศึกษาทำให้ตัดสินใจถูก โดยเฉพาะเด็กในวัยนี้มีความเสี่ยงเยอะ กสศ. ขอให้น้องมุ่งมั่นตั้งใจเรียน มีแฟนได้ แต่ต้องรู้จักควบคุมตัวเอง“
มี 5% เด็กทุนล้มเหลว ไม่มีอนาคต
5% ไม่ตั้งใจเรียน ตั้งครรภ์ ประพฤติไม่เหมาะสม
ไม่อยากให้มี 5% อยากเห็น 95% ประสบความสำเร็จ
อยากให้การศึกษาสายอาชีวะเป็นกำบังสำคัญในการสร้าง ประเทศ ให้น้องค้นพบศักยภาพตัวเองเรียนในสิ่งที่ตัวเองต้องการ ถนัด จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศ
หนูไม่รู้ว่า ถ้าไม่มีโอกาสนี้จะได้เรียนมั๊ย
สโรชา ศรีสอาด นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคสยาม (สยามเทค) สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก กล่าวว่า ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง เข้ามาช่วยเติมความหวังให้ชีวิต จากที่ก่อนหน้านี้เคยคิดว่า จบการศึกษาภาคบังคับแล้ว จะต้องหยุดเรียน เพราะผู้ปกครองไม่มีกำลังส่งเสีย ซึ่งทุนนี้ได้เปิดโอกาสให้ได้พิสูจน์คุณค่าของตัวเอง หลังจากนี้จะตั้งใจเรียนให้จบการศึกษาและนำความรู้ที่ได้รับมาไปพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติในอนาคต
กรรณิการ์ สะเภาคำ นักศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ สาขาผู้ช่วยพยาบาล กล่าวว่า ตั้งใจเลือกเรียนสาขานี้ เพราะนอกจากจะเป็นอาชีพที่เลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้แล้ว ยังสามารถนำความรู้ที่ได้ไปดูแลคนอื่น ๆ ได้อีกด้วย
ศุทธวีร์ ธาราวรณ์ นักศึกษาวิทยาลัยเทคโนโลยี ดอนบอสโก สาขางานการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ กล่าวว่า ด้วยฐานะค่อนข้างลำบากและจัดอยู่ในกลุ่มคนพิเศษ ที่ประสบปัญหาด้านการได้ยิน จึงทราบดีว่าโอกาสในการได้รับการศึกษาในระดับที่สูงกว่าภาคบังคับ เป็นเรื่องที่ไม่ง่าย เพราะที่ผ่านมาได้พยายามมาแล้วหลายช่องทาง เมื่อได้รับทุนนี้จึงเป็นเสมือนแสงสว่างของชีวิต ในเส้นทางการศึกษาที่เคยตั้งใจไว้ จะนำความรู้ที่ร่ำเรียนมาดูแลครอบครัวและประเทศชาติต่อไป
การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต นำไปสู่การมีงานทำ ตัดวงจรความยากจน แม้งบประมาณแต่ละปี ที่ กสศ.ได้รับการจัดสรรมา จะไม่สามารถช่วยเด็กๆ ยากจนได้หมดทุกคนแต่ก็เป็นโอกาสที่ดีของผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือที่จะเติบโตในสายงานอาชีพ เป็นกำลังสำคัญของครอบครัวและสังคม
ขอบคุณ คุณครูที่เหนื่อยยากออกไปค้นหา ตามหา เด็กๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือจนกระทั่งพบเจอกัน ขอบคุณงบประมาณจากภาษีประชาชน
ขอส่งต่อความหวังไปยัง รัฐบาลภายใต้การนำของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี นายเศรษฐา ทวีสิน อดีตผู้บริหารแสนสิริ ซึ่งเมื่อปี 2565 เคยพาแสนสิริ ประกาศพันธกิจใหญ่ “Zero Dropout เด็กทุกคนต้องได้เรียน” ออกหุ้นกู้ 100 ล้านบาท สนับสนุน กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เพื่อร่วมวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทยอย่างยั่งยืน ระยะยาว 3 ปี นำร่องที่จังหวัดราชบุรี
เพราะเยาวชนคือ อนาคตของชาติ
โครงการ Zero Dropout https://blog.sansiri.com/zero-dropout-main/
บรรณาธิการเทคโนโลยี
'เฮ็ดดิ คราฟท์'สร้างอาชีพผู้พิการ เปลี่ยนงานวิจัยสู่การลงมือทำจริงๆ
ผัดกะเพรายืนหนึ่งเมนูสตรีทฟู้ดยอดฮิตแห่งปี 2567 บน foodpanda
กทม.และ TikTok ร่วมกันสร้างเมืองแห่งการแบ่งปันผ่าน #BKKFoodBank
8 เทรนด์กระเบื้องมาแรงปี 2025 “From Nature to Life” เชื่อมโยงธรรมชาติกับชีวิต