สุขภาพ

“อิ๊วโซดา” อย่าหาทำ โซเดียม-น้ำตาลพุ่ง

12 เมษายน 2566

กำลังเป็นกระแสในโลกโซเชียล ชวนดื่ม “อิ้วโซดา” คลายร้อน โดยนำซีอิ้วดำสูตร 1 จำนวน  3 ช้อนโต๊ะ มาผสมกับโซดาหรือเครื่องดื่มอื่น ๆ 1 แก้ว นอกจากนี้ยังมีการชวนให้นำซีอิ๊วดำมาราดไอศกรีมกินด้วย

เครือข่ายลดบริโภคเค็มกับเครือข่ายพันธมิตรเตือนภัยไม่ให้ลองทำตามกระแส เพราะซีอิ้วดำ 3 ช้อนโต๊ะ มีปริมาณโซเดียมสูงถึง 650 มิลลิกรัม และยังมีน้ำตาลอีก 24 กรัม ถ้านำมาผสมกับเครื่องดื่มรสหวาน หรือนำมาราดไอศกรีม ปริมาณโซเดียวกับน้ำตาลก็จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เกินปริมาณที่ควรได้รับคำแนะนำต่อวัน

ถ้าดื่มเครื่องดื่มนี้ที่มีทั้งรสชาติหวานและเค็มมากเป็นประจำ จะทำให้เสี่ยงต่อโรคอ้วน เบาหวานและความดันโลหิตสูง ซึ่งนำไปสู่โรคไต โรคหัวใจและอัมพาตได้ในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มีโรคประจำตัว เช่นเบาหวานความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคไต จะทำให้โรคกำเริบได้

รศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า คนปกติก็ไม่ควรได้โซเดียมจากเครื่องดื่มเพราะปกติเราได้โซเดียมจากอาหารหลักมากเกินพออยู่แล้ว และสถานการณ์การกินโซเดียมเกินของคนไทยเกือบ 2 เท่า เราต้องช่วยกันรณรงค์ให้กินหวานและเค็มลดลง การขายสินค้าควรตั้งอยู่บนพื้นฐานด้านสุขภาพของผู้บริโภคด้วย

การบริโภคเกลือ (โซเดียม) ในปริมาณมาก ในการปรุงรสชาติอาหารให้มีรสเค็ม เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต ปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมการบริโภคเกลือ (โซเดียม) สูง 2-3 เท่า ของปริมาณที่ร่างกายต้องการ ซึ่งการรับประทานอาหารที่มีเกลือ (โซเดียม) สูงมีผลเสียทำให้ความดันโลหิตสูง เพิ่มการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะ และยังมีผลเสียต่อไตโดยตรง นอกจากนี้ยังทำให้หัวใจทำงานหนักก่อให้เกิดภาวะหัวใจวาย และความดันโลหิตสูงยังส่งผลให้ความดันในสมองเพิ่มขึ้น มีโอกาสเป็นโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต

จากข้อมูลล่าสุด พบว่าคนไทยเป็น โรคความดันโลหิตสูง 21.4 % หรือ11.5 ล้านคน เป็นโรคไต 17.5% หรือ 7.6 ล้านคน เป็นโรคหัวใจขาดเลือด 1.4% หรือ 0.75 ล้านคน เป็นโรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต) 1.1 % หรือ 0.5 ล้านคน

ปกติแล้วเราไม่ควรบริโภคเกลือเกิน 5 กรัมต่อวัน (โซเดียม 2,000 มิลลิกรัม) แต่จากการสำรวจพบว่า คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ย 10.8 กรัมต่อวัน (โซเดียม 5,000 มิลลิกรัม)ซึ่งสูงเป็น 2 เท่า ของที่ร่างกายควรได้รับ โดยร้อยละ 71 มาจากการเติมเครื่องปรุงรสระหว่างการประกอบอาหาร

“โดยปกติอาหารตามธรรมชาติก็มีเกลือ (โซเดียม) เป็นส่วนประกอบอยู่แล้ว เมื่อมีการใช้เครื่องปรุง รสดังกล่าวปริมาณมาก จึงทำให้ปริมาณเกลือ (โซเดียม) ในอาหารสูงมากตามไปด้วย ดังนั้นในเรื่องของการนำซีอิ้วดำ ซึ่งมีความเค็มอยู่แล้ว มาบริโภคร่วมกับเครื่องดื่มอื่น ๆ นั้น จึงไม่มีความเหมาะสม โดยเด็กและเยาวชนหรือประชาชนทั่วไป ไม่สมควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง​ หากเด็ก​อายุ​ 6-14​ ปี​ ดื่มในลักษณดังกล่าว จะมีโทษ​ภัยต่อสุขภาพในระยะยาว​ ซึ่งอาจส่งผลเป็นโรคฟัน เบาหวาน ความดันโลหิตสูงและโรคไตในอนาคต ดังนั้นในส่วนของผู้ปกครองและครูที่โรงเรียนควรให้ความรู้ในเรื่องดังกล่าว รวมถึงทางเครือข่ายลดบริโภคเค็มขอความร่วมมือ​กับกระทรวงศึกษาธิการ​ เพื่อให้ความรู้ไปยัง โรงเรียน​ ทุกระดับชั้นด้วย” รศ.นพ.สุรศักดิ์ กล่าวสรุป

More read
  • เทคโนโลยี
  • 13 กันยายน 2567

UNIQ เคสรักษ์โลก iPhone16 มารอแล้ว

Tags

  • ซีอิ๊วดำผสมโซดา
  • น้ำตาล
  • อิ้วโซดา
  • เครือข่ายลดบริโภคเค็ม
  • โซเดียม