ช่วงปีใหม่ใคร ๆ ก็ออกเดินทาง หลายคนเดินทางกลับภูมิลำเนา หลายคนเดินทางท่องเที่ยว แต่ไม่ว่าจะเป็นคนขับรถหรือผู้โดยสาร ถ้าต้องเดินทางเป็นระยะทางไกล ๆ นั่งรถเป็นเวลานานก็มักจะมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แนะนำ 2 ฤาษีดัดตน ใช้แก้ปวดเมื่อยระหว่างเดินทาง
ท่าแรกคือ ท่าชูหัตถ์วาดหลัง เป็นท่าที่ช่วยบริหารไหล่ คอ อก ท้อง และ กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิตที่ศีรษะและแขน การบริหารร่างกายให้เริ่มจากนำมือทั้งสองข้างประสานกันที่ระดับลิ้นปี่ สูดลมหายใจให้ลึกที่สุดค่อยๆชูมือขึ้นเหนือศีรษะให้แขนแนบหู กลั้นลมหายใจไว้สักครู่และดัดมือที่ประสานให้หงายขึ้น ผ่อนลมหายใจออกค่อยๆ วาดมือไปทางข้างหลัง กำหมัดวางไว้ที่บั้นเอว แล้วใช้กำปั้นกดบั้นเอวทั้งสองข้างพร้อมสูดลมหายใจลึกที่สุด กลั้นลมหายใจสักครู่พร้อมกดเน้น และผ่อนลมหายใจออก คลายการกดกำปั้น ไล่กดไปที่กลางหลังจนกำปั้นชิดกันกลางบั้นเอว
อีกท่าที่ช่วยแก้ปวดเมื่อยได้ดี ได้แก่ ท่าแก้เกียจ ท่านี้ช่วยบริหารส่วนแขน การบริหารร่างกายเริ่มจากท่าเตรียม นั่งขัดสมาธิ ยกมือขึ้นและกำมือประสานกันไว้ระดับลิ้นปี่ สูดลมหายใจเข้าให้ลึกที่สุด พร้อมเหยียดแขนดัดให้ฝ่ามือยื่นไปทางด้านซ้ายให้มากที่สุด ลำตัวตรงหน้าตรง แขนตึง กลั้นลมหายใจไว้สักครู่ จากนั้นผ่อนลมหายใจออก พร้อมกับงอแขน ทั้งสองข้างกลับมาอยู่ในท่าเตรียม ทำซ้ำเช่นเดิม แต่เปลี่ยนเป็นเหยียดแขนด้านขวา ด้านหน้า และ เหยียดแขนเหนือศีรษะ ตามลำดับ แล้วพักแขนที่ศีรษะ แล้วกลับสู่ท่าเตรียม
นายแพทย์ขวัญชัย วิศิษฐานนท์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า การบริหารร่างกายทั้ง 2 ท่านี้ สามารถช่วย แก้อาการปวดเมื่อยร่างกายของผู้ขับขี่ยานพาหนะได้ชะงัด อย่างไรก็ตามผู้ที่ขับขี่ยานพาหนะทางไกลทุกชนิด ควรพักผ่อนร่างกายให้เพียงพอ อย่างน้อย 6 – 8 ชั่วโมง งดเว้นการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ทุกชนิด งดทานยาที่มีฤทธิ์กดประสาท เพราะจะส่งผลให้สมรรถนะในการขับขี่ยานพาหนะลดลง และ ควรตรวจสอบยานพาหนะของท่าน ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดระยะการเดินทาง ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้
‘HPV DNA Self-Sampling’ กุญแจสำคัญสู่ภารกิจพิชิตมะเร็งปากมดลูก
เจ้าของแบรนด์ฟังไว้ราคาดี-คูปองส่วนลดปัจจัยหลักกลับมาซื้อซ้ำ